สองข้าราชการครู ปลูกพืชผักสวนครัวบนดาดฟ้าด้วยพื้นที่จำกัด

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านเลขที่ 108/3 หมู่ 13 ตำบลหัวรอ อ.เมือง จ.พิษณุโลก ช่วงเย็นของทุกวัน สองข้าราชการครู คือ นายวันชัย แจ่มนาม ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดพิษณุโลก และนางวลัยพร แจ่มนาม อาจารย์ 3 ระดับชำนาญการพิเศษ โรงเรียนพุทธชินราชพิทยา จะช่วยกันในการดูแลต้นไม้ รดน้ำ พรวนดิน พืชผักที่ปลูกไว้บริเวณดาดฟ้าของบ้าน ที่ปลูกไว้สำหรับรับประทาน และเป็นผักปลอดสารพิษทั้งหมด พร้อมนำไปทำเป็นอาหารรับประทานในครอบครัว

นายวันชัย แจ่มนาม บอกว่า บ้านเราอยู่ในเมืองครับ แล้วก็มีพื้นที่ไม่มากนัก เนื่องจากว่าเราเป็นบ้าน 2 ชั้นจะมีดาดฟ้าที่เป็นลาน บนที่จอดรถข้างบน ปกติเราไม่ได้ใช้ทำอะไรอยู่แล้ว ก็มานั่งนึกว่าทำยังไงเราจะใช้พื้นที่ให้มันเกิดประโยชน์ ก็เลยนึกว่าถ้างั้นเรามาทำผักสวนครัวบนดาดฟ้าของโรงรถดีกว่า ก็คือ หนึ่งได้ประโยชน์นะครับเอามาทานเป็นอาหารได้ด้วย แล้วก็พื้นที่เราก็ไม่เสียเปล่าไป บ้านเราแดดร้อนมาก พอมาปลูกผักแล้วเนี่ยช่วยทำให้บ้านเราเย็นไปด้วย อันที่สองเป็นเรื่องของเราสองคน ที่เป็นครูนะครับเวลาว่างของเราคือตอนเย็นเท่านั้นแหละ เช้ากับเย็นเป็นเวลาที่เราจะอยู่ด้วยกัน เรื่องของการปลูกผักสวนครัว จึงเป็นการทำกิจกรรมร่วมกันที่บ้านเราเลยอยากจะทำ แล้วประเด็นสำคัญเลย เราทานอาหารตอนเย็นเราไม่อยากไปตลาดเพราะช่วงนี้ก็อย่างที่ทราบกันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคมันเยอะ แล้วเราก็รู้สึกว่าถ้างั้นเรามาปลูกผักกันเอง เรามีผักหลายเลยต้นหอม ผักชี คะน้า ผักอะไรที่ต้องไปซื้อที่ตลาด เราพยายามที่จะไม่ซื้อเลย เรามาดูว่ามีอะไรบ้างที่เราต้องไปซื้อเราก็เอามาปลูกเอาไว้บนดาดฟ้า แต่ว่าจริงๆแล้วเรามีข้างล่างด้วยนะครับมีพืชอื่นๆอีกหลายรายการที่เราปลูกสรุปง่ายๆก็คือเราพยายามที่จะปลูกพืชให้หลากหลาย แล้วก็ให้พอกิน ปลูกแล้วก็เอาไปแจก เอาไปฝาก ที่ผ่านมาเวลาเราเพาะเมล็ดพันธุ์ มันจะเยอะมาก แต่มันก็จะเหลือกล้าเราปลูกไม่หมด เพราะถ้าเราปลูกพืชชนิดเดียวเดี๋ยวมันจะเต็มพื้นที่ เพราะฉะนั้นกล้าผักที่เหลือเราก็แจกตั้งแต่กล้า ฝากให้เพื่อนๆที่สำนักงานบ้าง พอโตมันเยอะก็แบ่งข้างบ้านบ้านนู้นบ้านนี้ เป็นการสร้างสัมพันธไมตรี คนในเมืองนะครับเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้พูดได้คุยกัน เวลาที่เราอยู่บ้านใกล้เรือนเคียง ผักก็เป็นตัวประสานสามัคคีของคนข้างบ้านเรา

นายวันชัย แจ่มนาม บอกอีกว่า เราเป็นครูทั้งสอง ภรรยาเป็นครูสอนสังคม เราคิดกันว่าถ้าเราสอนคนอื่น นำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาสอนเด็กนักเรียนแล้วเราไม่เอามาปฏิบัติก็น่าจะไม่เหมาะสม เราอยากทำให้เห็นว่าเราสอนเด็กด้วยแล้วเราก็เอามาปฏิบัติเองด้วย” ทั้งนี้ บริเวณดาดฟ้าของบ้าน อาจารย์ทั้งสองท่าน ยังมีผักนานาชนิด อาทิ กระหล่ำปลี คะน้า โหรพา มะเขือเทศ ต้นหอม ผักชี ผักบุ้ง สาระแน่ ฯลฯ นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างบ้านที่มีบริเวณพื้นที่ปลูกผักมีน้อย แต่ก็นำพืชผักสวนครัวลงในกระถางพลาสติก หรือถุงพลาสติก เป็นภาชนะในการปลูกผัก เป็นแบบอย่างที่ดีของข้าราชการ ในการส่งเสริมการดำรงชีวิตบนฐานวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) สร้างความมั่นคงทางอาหารในครัวเรือน มีเหลือก็นำแจกเพื่อนบ้าน เป็นความพอมี พอกิน พอใช้ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้เป็นอย่างดี.

///////////////

 

แสดงความคิดเห็น