วันนี้ ( 23 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนไทย-ยวน ตำบลสมอแข อำเภอเมือง นางสาววรรณชลี กุลศรีไชย หัวหน้างานศิลปวัฒนธรรม (เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไปชำนาญการ) งานศิลปวัฒนธรรม กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม พร้อมเจ้าหน้าที่ของกองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ช่วยกันในการดูแลกระบวนการผลิตผ้าทอของกลุ่มทอผ้าไทย-ยวน ตั้งแต่กระบวนการจัดการวัตถุดิบทางธรรมชาติ ที่อยู่ในท้องถิ่นเพื่อนำมาเป็นส่วนผสมของใยฝ้ายเพื่อให้ได้สีธรรมชาติ ซึ่งแต่เดิมกลุ่มทอผ้าไท-ยวน จะทอผ้าได้เฉพาะผ้าพื้นหรือผ้าทอลายขัดสานทั่วไปโดยใช้เส้นใยไหมประดิษฐ์ในการทอผ้า ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มส่วนใหญ่จะเป็นผ้าขาวม้าแดง หรือผ้าคาด ผ้าซิ่น ซึ่งยังขาดความหลากหลายในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ พร้อมชูคุณสมบัติพิเศษ มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าทอย้อมสีธรรมชาติที่มีกลิ่นหอมและต้านเชื้อแบคทีเรียด้วย
นางสาววรรณชลี กุลศรีไชย หัวหน้างานศิลปวัฒนธรรม กล่าวว่า โครงการนี้ทางมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้มาลงสู่กลุ่มทอผ้าบ้านไทย-ยวน ในโครงการถ่ายทอดองค์ความรู้และพัฒนาศักยภาพชุมชนไทย-ยวน ด้วยนวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ค่ะ สร้างสรรค์ยังไง เราเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่เรื่องของกระบวนการของต้นน้ำคือเปลี่ยนแปลงเส้นใย ที่เดิมจะทอด้วยไหมประดิษฐ์เราก็เปลี่ยนแปลงในการนำเส้นใยธรรมชาติคือเส้นฝ้ายมา เดิมเคยย้อมสีเคมีเราก็นำวัตถุดิบธรรมชาติมาย้อมสีพื้น ที่เราเรียกว่าสีธรรมชาตินะคะ ที่นี่อยู่ที่ตำบลสมอแข ตำบลสมอแขหมายความว่าเขาต้องมีต้นสมอมันค่อนข้างเยอะ ดังนั้นต้นสมอเนี่ยเราได้นำใบของต้นสมอ มาย้อมสีพื้นสีที่ได้คือสีเขียว มีต้นยูคาลิปตัส มีดอกดาวเรือง มีต้นมะม่วง เบื้องต้นนะคะก็เอามาย้อมเป็นสี ธรรมชาติ นอกจากนั้นเนี่ยเราก็จะได้มีการออกแบบลวดลายให้ผลิตภัณฑ์มีความหลากหลายมากขึ้น เราได้ทอผ้าออกมาเป็นชิ้นงาน เราก็จะมีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ นอกเหนือจากนี้ เรามีการเพิ่มกลิ่นเข้าไปกับผ้า ก็อยากจะให้ชุมชนได้ขายผลิตภัณฑ์ที่มีความสมัยใหม่มีนวัตกรรมค่ะ ผ้าหรือกลิ่นที่เราเอามาลงในชุมชน มีกลิ่นหอมมีเอกลักษณ์คือต้องมีกลิ่นดอกปีบในการส่งเสริมการขาย แน่นอนเขาว่าการทำของออกมาแล้วเนี่ยถ้ามีผลิตภัณฑ์แล้วขายไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่เลย ทางมหาวิทยาลัยก็ได้เชิญอาจารย์ที่มีความเก่ง ความรู้มาสอนเรื่องของเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ของการตลาดเชิงสร้างสรรค์เรื่องของการถ่ายรูปยังไง พวกเรามีมือถือทุกคนดังนั้นก็คือเราก็จะสอนเรื่องของการถ่ายรูป ในการใช้มือถือ การตกแต่งรูปภาพในมือถือ รวมถึงเรื่องของช่องทางการตลาดออนไลน์ทั้งหมดค่ะว่าจะเป็นเรื่องของ Facebook LINE IG ก็จะขายของได้ง่ายขึ้น
ด้าน นางสิริพันธ์ เอี่ยมสาย ประธานกลุ่มทอผ้าไท-ยวน เล่าว่า ทางกลุ่มทอผ้าไทยยวน ก็ได้รับโครงการดีๆ จากมหาวิทยาลัยนเรศวร มาสอนวิธีการย้อมสีธรรมชาติ โดยใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในบ้านเรานี้เป็นคนบ้านสมอ ก็มีใบสมอ ใบสะเดา ดอกดาวเรือง มายอมก็จะได้สีสันดี ดูเป็นธรรมชาติ ดูมีเสน่ห์ขึ้นน่ะแล้ว อันดับแรกก็กะว่าจะเอามาทอเป็นผ้าคลุมไหล่ก่อน แล้วก็ถ้าพัฒนาต่อไปเขาก็จะทอเป็นพื้น เอามาตัดเย็บค่ะ จะได้มีหลากหลายรูปแบบ เพราะว่าสมัยเราก็จะมีแต่แบบเป็นผ้าสีน้ำเงิน ผ้าดำ เขียวแดงที่เป็นอัตลักษณ์ของไทยยวน มันก็จะมีหลายสีขึ้นนะคะ เพิ่มสีสัน ไม่เพียงสามารถนำมาเย็บเป็นกระเป๋า ที่ว่ามันเป็นแบรนด์เป็นเอกลักษณ์ของไทยยวนเรา เราจะส่งเสริมสมาชิกกลุ่มของเรา โดยเรียนรู้กระบวนการย้อมสีธรรมชาติว่าทำอย่างไร เป็นของใหม่มาเรียนด้วยกัน หลายคนก็มีเสียงตอบรับดี เราจะต่อยอดไปถึงการตลาดขาย อย่างน้อยเราก็เป็นของฝาก ที่เกิดจากการทอธรรมชาติ ทางมหาวิทยาลัยนเรศวร ก็เข้ามาช่วยเกี่ยวกับการสร้างแบรนด์ ในหัวข้อ การสื่อสารจิตวิญญาณ ความอุดมสมบูรณ์ ศาสนา ใส่เข้าไปในแบรนด์ของเรา ใครเห็นก็จะรู้ว่าเป็นผ้าทอของชุมชนไทยยวนบ้านเรา”
การพัฒนาผ้าทอกลุ่มไท-ยวน ของมหาวิทยาลัยนเรศวร ด้วยการพัฒนาออกแบบลวดลาย การย้อมสีธรรมชาติ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าทอ และการเคลือบไมโครแคปซูล กลิ่นน้ำมันหอมระเหยและสารต้านเชื้อแบคทีเรีย โดยจัดทำผลิตภัณฑ์ต้นแบบร่วมกับกลุ่มทอผ้าไท-ยวน นั้น จะเป็นการนำนวัตกรรมและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ทั้งในด้านแฟชั่นและการเพิ่มคุณสมบัติพิเศษ (Function) มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าทอย้อมสีธรรมชาติที่มีกลิ่นหอมและต้านเชื้อแบคทีเรีย ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องที่ต้องการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มอย่างยั่งยืนต่อไป
/////////////////