เวลา 09.00 น. วันที่ 23 ธันวาคม 2563 ศูนย์วัฒนธรรมภาคเหนือตอนล่าง วังจันทน์ริเวอร์วิว มหาวิทยาลับราชภัฏพิบูลสงคราม จังหวัดพิษณุโลก นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานเปิดโครงการรณรงค์ส่งเสริมการจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย โดยมีนายชนะพล มหาวงษ์ รองเลขาธิการด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (รองเลขาธิการ คปภ.) พร้อมผู้เข้าร่วมประชุมให้การต้อนรับ
สำหรับการประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ หรือที่รู้จักทั่วไปว่า ประกันภัยรถภาคบังคับ หรือประกันภัย พ.ร.บ. เป็นกฎหมายที่บังคับให้รถทุกคันต้องจัดให้มีการประกันภัย พ.ร.บ. เพื่อให้ความคุ้มครองทุกคนที่ประสบภัยจากรถ ไม่ว่าจะเป็นผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร คนเดินเท้า รวมถึงทายาทของผู้ประสบภัย ให้ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงที ในกรณีได้รับบาดเจ็บ หรือได้รับค่าปลงศพ ในกรณีเสียชีวิต มีค่าชดเชยในกรณีสูญเสียอวัยวะหรือทุพพลภาพถาวร
ดังนั้นหากมีรถที่ฝ่าฝืนไม่จัดให้มีการประกันภัย พ.ร.บ. กฎหมายจึงกำหนดโทษเอาไว้เพื่อให้เจ้าของรถหรือผู้นำรถไปใช้ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการประกันภัย พ.ร.บ. ดังนี้ เจ้าของรถที่ฝ่าฝืนไม่จัดทำประกันภัย พ.ร.บ. มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท ผู้ใช้รถคันที่ไม่มีประกันภัย มีโทษปรับไม่เกิน10,000 บาท ในกรณีที่เป็นเจ้าของรถที่ฝ่าฝืนไม่จัดให้มีการทำประกันภัย พ.ร.บ. จะได้นำรถคันนั้นไปใช้จะมีความผิดทั้ง 2 กระทงความผิด โทษปรับ ไม่เกิน 20,000 บาท
สำหรับความคุ้มครองของการประกันภัย พ.ร.บ. แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
1. ค่าเสียหายเบื้องต้น เป็นการจ่ายโดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด ให้กับผู้ประสบภัยจากรถทุกคน ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับเอกสารครบถ้วน โดยจ่ายเป็น
1.1 ค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริง รายละไม่เกิน 30,000 บาท
1.2 ค่าปลงศพหรือค่าชดเชยกรณีสูญเสียอวัยวะ รายละ 35,000 บาท
หากได้รับบาดเจ็บแล้วต่อมาเสียชีวิตหรือสูญเสียอวัยวะ จะได้รับสูงสุดไม่เกิน รายละ 65,000 บาท
2.ค่าสินไหมทดแทน (ค่าเสียหายส่วนเกินค่าเสียหายเบื้องต้น) จ่ายให้ผู้ประสบภัยจากรถที่ไม่ได้เป็นฝ่ายก่อให้เกิดความเสียหาย ซึ่งจะต้องมีการพิสูจน์ถูกผิดแล้ว โดยจ่ายเป็น
2.1 กรณีบาดเจ็บ จะได้รับความคุ้มครองสูงสุด ตาม พ.ร.บ. ไม่เกิน 80,000 บาท (รวมกับค่าเสียหายเบื้องต้นด้วย)
2.2 กรณีสูญเสียอวัยวะหรือทุพพลภาพอย่างถาวร จะได้รับความคุ้มครอง ตาม พ.ร.บ. ตั้งแต่ 200,000 บาท – 500,000 บาท แล้วแต่กรณี (รวมกับค่าเสียหายเบื้องต้นด้วย)
2.3 กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง จะได้รับความคุ้มครอง ตาม พ.ร.บ. สูงสุด 500,000 บาท (รวมกับค่าเสียหายเบื้องต้นด้วย)
โดยเบี้ยประกันภัย พ.ร.บ. สำหรับความคุ้มครอง 1 ปี รถจักรยานยนต์ เริ่มต้นเพียง 161.57 บาท และรถยนต์เริ่มต้นเพียง 645.27 บาท เท่านั้น
แต่อย่างไรก็ตาม มีบางกรณีที่ผู้ประสบภัยจากรถไม่สามารถเรียกร้อง “ค่าเสียหายเบื้องต้น” จากที่ใดได้ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 จึงได้กำหนดให้จัดตั้ง “กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย”ขึ้น เพื่อเป็นทุนในการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยจากรถ
ยิ่งในช่วงปีใหม่ที่จะถึงที่ประชาชนจะเดินทางกลับบ้านและท่องเที่ยวปีใหม่จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่ผู้ขับขี่รถควรทำประกันภัย พ.ร.บ. เพื่อให้ความคุ้มครองทุกคนที่ประสบภัยจากรถ
/////////////