ถ้าเอ่ยถึงอาหารยอดฮิตของคนไทยในช่วงนี้ ก็คงต้องมีชื่อของ ‘ชาบู’ รวมอยู่ในนั้น ด้วยรสชาติที่ถูกปาก พร้อมด้วยความหลากหลายจากความสุขในมื้ออาหาร ชาบูจึงกลายเป็นตัวเลือกในใจของใครหลายคน รวมถึงร้านชาบูยังเป็นจุดนัดพบสังสรรค์ความอิ่มเอมไปในตัว และถ้าเอ่ยถึงร้านชาบูอันดับต้นๆ ที่ครองใจนักชิมตัวจริงแล้ว ก็ต้องมีชื่อของ SHABU INDY (ชาบู อินดี้) เช่นกัน
ชาบู อินดี้ บุฟเฟ่ต์ที่มีพนักงานให้บริการ ลูกค้าไม่ต้องเดินไปหยิบจับเอง ถือเป็นต้นตำรับชาบูสไตล์ไทย เจ้าของเป็นสาวนักธุรกิจ ซึ่งมีแนวคิดไม่ชอบทำอะไรอยู่ในกรอบแต่ไม่เพ้อฝัน จนประสบความสำเร็จสร้างรายได้กว่าร้อยล้านบาทในปัจจุบัน เรียกได้ว่าเป็นการก้าวกระโดดทางธุรกิจที่น่าจับตามอง
หลายครั้งนับไม่ถ้วน ที่เราพยายามจะไปลิ้มลองอาหารที่ ชาบู อินดี้ ซึ่งร้านตั้งอยู่ริมถนนประชาอุทิศ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.พิษณุโลก เพราะมีการบอกปากต่อปากรวมทั้งมีการลงภาพเช็คอินกันอย่างแพร่หลายทางเฟซบุ๊คว่า “ชาบู อินดี้” คัดสรรวัตถุดิบที่ สด สะอาด เพื่อมอบให้กับลูกค้าเสมอ มีสันคอสไลซ์ที่เข้ากันดีกับน้ำซุปเข้มข้น หอยนิวซีแลนด์ตัวใหญ่ ผักสด ๆ ที่ผ่านการคัดและจัดเตรียมอย่างพิถีพิถัน พร้อมให้พนักงานเสิร์ฟถึงโต๊ะไม่ต้องเดินไปตักใส่จานกันเองให้วุ่นวาย เสมือนนั่งทานกันในห้าง “แต่เราก็ต้องขับรถผ่านไปก่อนเพราะลูกค้าแน่นร้าน” เพราะครอบครัวเรามีเวลาน้อยที่จะรวมตัวกันได้
แต่อย่านึกว่าพวกเราจะท้อกับความอยากลิ้มลอง เปลี่ยนเป็นยกโทรศัพท์สั่งออเดอร์ทางเฟซบุ๊คและไลน์แทน เพราะ ชาบู อิ้นดี มีชุดกลับบ้านแบบเดลิเวอรี่ เมื่อเห็นชุดอาหารที่จัดส่งถึงบ้านแล้ว ยอมรับว่าจัดให้อย่างมีคุณภาพและไม่ผิดหวังเมื่อรับประทานกัน ในที่สุดเราก็หาโอกาสมาที่ร้านกับน้อง ๆ นักข่าวด้วยกันได้ ตอนช่วงบ่ายของวันที่ 13 พ.ย. นับเป็นความโชคดีที่ได้มีโอกาสพบกับ น.ส.สุภัทรา ดวงงา อายุ 33 ปี หรือ “น้องปู” กรรมการผู้จัดการ บริษัทอินดี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เจ้าของธุรกิจร้าน ชาบู อินดี้
จากการสนทนากันทำให้ทราบว่า “น้องปู” เป็นคนบ้านเนินสว่าง หมู่ 4 ต.บ้านกลาง อ.วังทอง จ.พิษณุโลก จบการศึกษาระดับชั้น ปวช.เอกการบัญชี จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาพิษณุโลก แล้วได้โควตาไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ เธอล้มลุกคลุกคลานมานับครั้งไม่ถ้วน ทว่าความล้มเหลว คือบทเรียนที่ทำให้ได้เติบโตบนเส้นทางสายธุรกิจที่เธอเลือกเอง
น้องปู เล่าให้ฟังว่า พ่อแม่มีอาชีพทำนาตนจึงต้องช่วยพ่อแม่ทำนามาตั้งแต่เด็ก ระหว่างที่เรียนอยู่วิทยาลัยอาชีวศึกษาพิษณุโลก นั้น ได้ทำงานพิเศษเป็นเด็กชงกาแฟ ได้เงินเดือน 4,000 บาท โดยหวังว่าจะช่วยแบ่งเบาภาระของครอบครัว จากนั้นก็ไปเป็นเด็กเสิร์ฟ เพราะเห็นว่าได้เงินจากทิปมากกว่าเฉลี่ยแล้วก็ได้ราว ๆ เดือนละ 5,000 บาท ก่อนตัดสินใจทำงานเป็นสาวเชียร์เบียร์ตอนอายุ 18 ปี เพราะพ่อป่วยเป็นโรคตับแข็ง ตนจึงต้องหารายได้จุนเจือครอบครัว จนเรียนจบ ปวส.ในวัย 22 ปี พร้อมมีเงินเก็บกว่า 50,000 บาท
“พอเรียนจบก็ไม่อยากทำงานประจำ เรามีเงินเก็บส่วนหนึ่งก็ไปซื้อหุ้นร้านอาหารร้านเหล้ากับแฟนที่โคราช แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะร้านประเภทนี้ต้องมีกุ๊กต้องมีนักดนตรี ซึ่งมีวันหนึ่งเราทะเลาะกับกุ๊ก เรารู้สึกว่าขายของไม่ได้ เลยกลายเป็นจุดประเด็นว่า ทำไมธุรกิจเราแต่เราคอนโทรลไม่ได้ ต้องไปพึ่งกุ๊กพึ่งนักดนตรีพึ่งคนอื่นทำไม เลยตัดสินใจขายหุ้นร้านอาหารร้านเหล้าไป แล้วคุยกับแฟนว่าหาอะไรทำแบบง่าย ๆ ดีกว่าเราจบจากมหาวิทยาลัยจากกรุงเทพฯ มันมีชาบูในห้าง พอเราไปอยู่โคราชมันไม่มีชาบู มีแต่หมูกระทะตอนนั้น เราก็เลยคิดว่าอยากจะเอาชาบูในห้างมาอยู่นอกห้างดีมั้ย ไม่ต้องเหมือนคนอื่นให้ผิดไปจากเดิมไปเลย เราเริ่มลองทำน้ำซุปลองทำน้ำจิ้ม แล้วหาทำเลเปิดร้าน เพราะเราคิดว่าง่าย เราอยากทำอะไรที่มันง่าย ทุกคนในร้านของเราสามารถทำได้ เลยตัดสินใจทำร้านชาบู ร้านแรกที่โคราช โดยเขียนสูตรน้ำซุป เขียนสูตรน้ำจิ้ม ขึ้นมา โดยมีเงินทุนก้อนแรก 450,000 บาท
เหตุผลที่ใช้ชื่อ ชาบู อินดี้ ก็คือ “ชาบู” เป็นลักษณะของธุรกิจที่เราทำ ส่วนคำว่า “อินดี้” เป็นคำที่นำมาประกอบกันด้วยความที่ เราเป็นคนที่ไม่ชอบกฎเกณฑ์อะไรเยอะ ๆ ไม่ชอบความอยู่ในกรอบ ที่ทุกอย่างต้องเป๊ะ ๆ เราชอบอะไรประมาณนี้ ทุกอย่างต้องง่าย ทุกคนต้องทำแทนกันได้ ไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น ไม่ต้องพึ่งพากุ๊ก พึ่งพาเชฟ พึ่งพาคนอื่น เรามีพนักงาน 10 คนก็ต้องสามารถทำแทนกันได้หมด เพราะน้ำซุปน้ำจิ้มเรามีสูตรอยู่แล้ว “น้องปู” เล่าต่อว่า วันแรกที่เราวางแผนไว้ว่าอยากขายได้วันละ 10,000 – 15,000 บาท
แต่ด้วยต้นทุนในการลงทุนจำกัด จึงไม่ใช่อย่างที่คิด เพราะขายได้วันละ 500 บาท แล้วขยับมาเป็นวันละ 1,000 – 2,000 บาท เราก็ต้องค่อย ๆ ปรับรสชาติ ปรับวิธีการขาย จนถึงจุดเปลี่ยนทำให้ร้านดังขึ้น ถูกแชร์ต่อทางโลกออนไลน์ เพราะเกิดจากการเปลี่ยนวิธีการนำเสนอเสิร์ฟ ปกติเราเสิร์ฟในถาดแบบคอนโดเล็ก ๆ โดยใช้ราคาเป็นตัวดึงดูดลูกค้า แต่มันไม่ใช่ ลูกค้ามากินแล้วอร่อยจึงไปบอกต่อ สิ่งที่เค้าบอกต่อให้เราได้คือความประทับใจ ความว๊าวครั้งแรกที่เข้ามาในร้าน เราก็เลยเปลี่ยนเป็นใส่จานจัดวางให้สวยแล้วเสิร์ฟให้ลูกค้าเป็นจานแรกเราเริ่มธุรกิจชาบูที่โคราชวันที่ 4 ต.ค.2554 พอเราปรับทุกอย่างให้ธุรกิจนี้ไปรอดนะ คนชอบเยอะแล้ว เลยอยากเปิดร้านที่ 2 และอยากอยู่ใกล้ ๆ ครอบครัว ปี 2556 ก็เลยมาเปิดร้านอยู่ที่นี่ พอเรามีสาขาหนึ่งที่โคราชซึ่งตอนนั้นลูกค้าให้การตอบรับเยอะมาก คนเยอะมาก ๆ เลยค่ะ ก็มีคนชื่นชอบเราในภาคอีสาน เรามาอยู่ที่ภาคเหนือมาพิษณุโลก ลูกค้าในบริเวณใกล้ ๆ เขาก็มาเขาก็ชอบเขาชอบทุกอย่าง ก็เลยเกิดคำถามที่มีบ่อย คืออยากมีร้านแบบนี้ อยากได้ธุรกิจแบบนี้ ไปทำบ้าง ก็จะมีคนถามมาเรื่อย ๆ ก็เกิดไอเดียว่า ถ้ามีคนมาถามในจำนวนขนาดนี้ นอกจากเราจะขายอาหารได้อย่างเดียวแล้ว เราคงจะขายธุรกิจเราได้ด้วย
“น้องปู” เล่าต่ออีกว่า ตนเลยหาข้อมูลว่าเราสามารถทำยังไงได้บ้าง เราก็รู้ว่ามีการขายแฟรนไชส์ แต่ก็ยังไม่รู้หรอกว่าการขายแพรนไชส์ขายยังไง สร้างมาตรฐานขนาดไหน เราก็แค่เข้าใจว่าเราก็แค่ขายแบรนด์ แล้วเราก็ไปสอนให้เค้าทำธุรกิจและไปเป็นที่ปรึกษาให้เค้า โดยขายแฟรนไชส์แค่ 150,000 บาท พอเปิดได้ประมาณ 10 สาขา ก็เริ่มมีปัญหา มีคำถามจากผู้บริโภคว่ารสชาติอาหารแต่ละสาขาไม่เหมือนกัน เลยคิดว่าถ้าสอนเค้าอย่างเดียวไม่ได้ตั้งกฎเกณฑ์อะไรก็จะขยายสาขามากกว่านี้ไม่ได้ เพราะการปรุงน้ำซุปน้ำจิ้มแต่ละสาขาไม่เหมือนกัน
เราจึงปรับเปลี่ยนแฟรนไชส์ใหม่ โดยกำหนดรูปลักษณ์ อุปกรณ์ ป้ายหน้าร้าน ชื่อโลโก้ เพื่อสร้างมาตรฐานให้กับแบรนด์ชาบูอินดี้ นำเอาระบบบัญชี ระบบการบริหารจัดการมาลง และหาระบบขายหน้าร้านมาให้ลูกค้าแฟรนไชส์ใช้ เน้นเรื่องวัตถุดิบต้องมีคุณภาพและได้มาตรฐาน โดยในราคาขาย 500,000 บาท ปรับอายุสัญญาเป็น 5 ปี ปรับเงื่อนไขใหม่ เราจะส่งน้ำจิ้มน้ำซุปสำเร็จรูปให้ ซึ่งมีรสชาติจัดจ้านถูกปากคนไทย โดยมี น้ำซุปญี่ปุ่น น้ำซุปเกาหลี น้ำจิ้มซีฟูดส์ น้ำจิ้มสุกี้ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อความเป็นมาตรฐาน และการออกรูปแบบตกแต่งหน้าตาของร้าน ปัจจุบันเราทำได้ตั้งแต่ออกแบบ ตกแต่ง รับเหมาก่อสร้างร้านให้ได้ทั้งหมดเลย ก็เป็นการคำนึงถึงเรื่องของรูปแบบมาตรฐานขึ้นมา ตามระยะเวลาของแต่ละปี
การปรับรูปแบบธุรกิจใหม่ครั้งนี้ ทำให้ชาบูอินดี้เติบโตแบบก้าวกระโดด ปัจจุบันมีถึง 121 สาขา มีครบทุกภาคทั่วประเทศ แต่ยังไม่ครบทุกจังหวัด สาขาล่าสุดคือที่ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย โดยทั้งหมดเปิดเป็นสแตนอโลน ไม่มีสาขาในห้าง ตั้งแต่เริ่มธุรกิจมา เราไม่เคยซื้อสื่อโฆษณาเลย จะมีก็แต่เพจเฟซบุ๊ค และเว็บไซต์ที่ใช้สื่อสารกับลูกค้า เรียกได้ว่า ชาบูอินดี้ เกิดมาจากปากต่อปากโดยแท้
นอกจากการปรับโมเดลธุรกิจด้านการบริการแล้ว สิ่งหนึ่งที่ทำให้ร้านชาบูอินดี้ เป็นที่ถูกอกถูกใจของลูกค้าก็คือ เรื่องของน้ำซุปและน้ำจิ้ม ที่มีหลากหลาย อีกส่วนก็มาจากการตั้งราคาที่เข้าถึงง่าย อย่างในต่างจังหวัดราคาเริ่มต้นที่ 229 บาท กรุงเทพฯ 299/399 บาท แถมยังรับประทานได้ไม่จำกัดเวลา แต่ละสาขามียอดขายเดือนละ 1 ล้านบาท มีมูลค่าธุรกิจรวมกว่า 2,000 ล้านบาท ในอนาคตสาวนักธุรกิจไฟแรงที่ชื่อ “น้องปู” ก็คงไม่หยุดยั้งการพัฒนาการบริการและอาหารต่อไปอย่างแน่นอน สำหรับผู้ที่สนใจแฟรนไชส์เพื่อเป็นหนึ่งในผู้ส่งต่อความสุขจากความอิ่มเอม สามารถติดต่อผ่านอินบ็อกซ์ของร้านผ่านเพจ Facebook/Shabu indy ค่ะหรือโทรศัพท์สอบถามรายละเอียดได้ที่ เบอร์โทรร้าน 055-008-443 และที่สำคัญ ชาบู อินดี้ สาขาพิษณุโลก ยังเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งด้วย “น้องปู” ฝากทิ้งท้ายไว้กับเราว่า “สำหรับคนที่มีเป้าหมายในชีวิต อยากจะให้ลงมือทำทันทีเลย อะไรที่กังวลอยู่ก็พยายามตัดมันออกไป แล้วไปลงมือทำ ทำให้มันเหนื่อย ทำให้มันสุดความสามารถ เพราะชีวิตมันไม่มีทางตันแน่นอน ถ้าเราตั้งใจและเรียนรู้ไปกับมัน ก็จะเจอทางออกเสมอ แล้วสักวันก็จะประสบความสำเร็จ”
……………………………………………………………..