เวลา 10.00 น. วันที่ 22 กันยายน 2563 ที่ศาลจังหวัดพิษณุโลก ได้จัดให้มีพิธีลงนาม บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการทำงานบริการสังคม หรือสาธารณประโยชน์ แทนค่าปรับในศาลจังหวัดพิษณุโลก ระหว่าง 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย นายวิทยา วีรชัยพงษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดพิษณุโลก นายณรงค์ จุ้ยเส่ย เรือนจำกลางพิษณุโลก นายพลกฤต จิตรบำรุง เรือนจำจังหวัดพิษณุโลก นางสาวบุญเอิม เขม้นงาน ทัณฑสถานหญิงพิษณุโลก นางวรัญญา ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดพิษณุโลก
โครงการทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับในศาลจังหวัดพิษณุโลก ขับเคลื่อนตามนโยบายยกระดับการคุ้มครองสิทธิและเสริภาพพื้นฐานของประชาชน ตามนโยบายของประธานศาลฎีกา ภายใต้โครงการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและลดการคุมขังที่ไม่จำเป็น ทั้งนี้ในปี 2563 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศในวงกว้าง ทำให้ชาวบ้านตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะอาจจะต้องถูกคุมขังตามกฎหมาย เพราะไม่มีเงินเสียค่าปรับ ศาลยุติธรรมจึงดำเนินนโยบายเชิงรุก ให้ผู้ต้องโทษ ทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับ โดยมุ่งเป้าหมายลดการคุมขังที่ไม่จำเป็น ซึ่งกฎหมาย มีวิธีบังคับผู้กระทำผิดที่ไม่ชำระค่าปรับตามคำพิพากษาของศาล 3 วิธี คือ ยึดทรัพย์สินของผู้กระทำผิดมาใช้ค่าปรับ หรือ กักขังผู้กระทำความผิดแทนค่าปรับ โดยคิดอัตราการกักขังหนึ่งวัน เท่ากับค่าปรับ 500 บาท หรือ ให้ผู้กระทำความผิดที่สมัครใจได้ทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ ซึ่งคิดการทำงาน 1 วัน แทนค่าปรับ 500 บาท เช่นกัน
หลักเกณฑ์สำคัญในการทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับคือ ผู้ต้องโทษปรับไม่มีเงินชำระค่าปรับ และสมัครใจทำงาน ความผิดที่ทำต้องไม่ใช่ทำด้วยเจตนาร้าย หรือ ทุจริตฉ้อฉลที่มีผลกระทบต่อสาธารณชนส่วนรวม ความผิดที่เป็นการค้ายาเสพติด หรือ ฉ้อโกงประชาชน หรือ ความผิดที่ร้ายแรง จึงไม่เข้าข่ายที่จะทำงานแทนค่าปรับ ในการไปทำงาน จะมีผู้ควบคุมดูแลทุกครั้ง
ส่วนจำนวนชั่วโมงที่ถือเป็นการทำงานหนึ่งวัน ตามมาตรา 30/1 วรรคหก 1.การทำงานช่วยเหลือดูแลอำนวยความสะดวก หรือให้ความบันเทิงแก่คนพิการ คนชรา เด็กกำพร้า หรือผู้ป่วยในสถานสงเคราะห์ สถานพยาบาล งานวิชาการหรืองานบริการด้านการศึกษา เช่น การสอนหนังสือ การค้นคว้าวิจัย หรือ การแปลเอกสาร คิดจำนวน 2 ชั่วโมง เป็นการทำงาน 1 วัน 2.การทำงานวิชาชีพ งานช่างฝีมือ หรืองานที่ต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญ เช่น งานฝีมือเครื่องยนต์ งานก่อสร้าง คอมพิวเตอร์ หรือวิชาชีพอย่างอื่น เป็นต้น จำนวน 3 ชั่วโมง คิดเป็นการทำงาน 1 วัน และ 3. การทำงานบริการสังคมหรือบำเพ็ญประโยชน์อื่น ๆ ที่ไม่ต้องใช้ความรู้ ความเชี่ยวชาญ เช่น งานทำความสะอาด งานพัฒนาสถานที่สาธารณะ งานปลูกป่า งานดูแลสวนสาธารณะ งานจราจร จำนวน 4 ชั่วโมง เป็นการทำงาน 1 วัน
ทั้งนี้ ผู้ต้องโทษปรับที่ไม่มีเงินชำระค่าปรับ อาจร้องขอทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณะประโยชน์แทนค่าปรับต่อศาลชั้นต้นที่พิพากษาคดี หรือ ในคดีที่ศาลมีคำพิพากษาปรับไม่เกิน 80,000 บาท ศาลอาจสอบถามผู้ต้องโทษปรับว่า มีเงินชำระค่าปรับหรือไม่ และแจ้งให้ทราบถึงสิทธิที่จะทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับก็ได้
………………………………………………………………