จากอิทธิพลของพายุ โซนร้อน ซินลากู ส่งผลให้ จ.พิษณุโลกมีฝนตกชุกหนาแน่นเพิ่มขึ้น ที่ อ.นครไทย จ.พิษณุโลก มีฝนตกหนักบนเทือกเขาสูงเขา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โครงการพัฒนาป่าตามแนวพระราชดำริภูหินร่องกล้า ต.เนินเพิ่ม อ.นครไทย จ.พิษณุโลก มีฝนตกตลอดทั้งคืน ทั้งวัน หนักบ้างเบาบ้างสลับกันไป ส่งผลให้มีสภาพอากาศที่หนาวเย็นกลางวันอุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ 17-18 องศา ช่วงเวลากลางดึก อุณหภูมิลดลงเหลือเพียง 11-12 องศา โดยจะมีหมอกหนาตา สีขาวโพลนปกคลุมไปทั่วบริเวณตลอดทั้งวัน
แต่ที่น่าสนใจคือฝูงไส้เดือนดิน ลำตัวขนาดใหญ่ ความยาวประมาณ 30 เซนติเมตร จำนวนหลายร้อยตัวพากันอพยพออกจากรัง หรือ ขุยไส้เดือน บริเวณหน้าผาชมวิว ทั้งผาพบรัก ผาสลัดรัก ผารักยืนยง และผาคู่รัก เพื่อไปหาแหล่งที่อยู่อาศัยใหม่ เนื่องจากปริมาณฝนที่ตกลงมาจำนวนมากนั้น ทำให้เกิดน้ำท่วมขังรัง หรือ ขุยไส้เดือน จนไส้เดือนต้องออกมาหาอากาศหายใจ และหาแหล่งที่อยู่ใหม่ที่ไม่มีน้ำขัง แต่ขณะที่กำลังอพยพเพื่อหาถิ่นที่อยู่ใหม่นั้น ไส้เดือนดินจำนวนมากก็ต้องตายลง เนื่องจากทนสภาพอากาศที่หนาวเย็นภายนอกรัง หรือ ขุย ไม่ไหว
นายศุภกุล จันทร์ลา หัวหน้าโครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริภูหินร่องกล้า ได้บอกว่า ไส้เดือนดินเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติบนโครงการฯ เพราะพื้นที่บนนี้เป็นพื้นที่ ที่อุดมสมบูรณ์ ไม่มีการใช้ยาฆ่าแมลง-ฆ่าหญ้า หรือสารเคมีใดๆ ทั้งสิ้น ดังนั้นเมื่อนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมโครงการฯ มักจะเห็นขุย หรือรัง ของไส้เดือนดิน มีลักษณะเก่าและใหม่ปะปนกันไป แต่ละขุยมีความสูงจากพื้นดินแตกต่างกันไป ตั้งแต่ระดับความสูง 1-4 นิ้ว อยู่ทั่วบริเวณ
ดินขุยไส้เดือนหรือมูลของไส้เดือนเป็นดินที่ไส้เดือนขึ้นมาขับถ่ายออก กองไว้รอบๆ รู ตั้งเป็นแท่งทรงกลม ซึ่งจากการศึกษาเพิ่มเติมพบว่า ดินขุยไส้เดือนอุดมไปด้วยจุลินทรีย์ที่ยังมีชีวิต รวมทั้งสารชีวะเคมีที่มีประสิทธิภาพช่วยให้พืชเจริญเติบโตได้ดี นอกจากนี้ยังมีสารฮอร์โมนสำคัญเพื่อการเจริญเติบโตของพืชในมูลไส้เดือนดินเพิ่มขึ้นจากเดิม ทำให้มูลไส้เดือนดินมีสารต่างๆ ที่เป็นตัวควบคุมการเจริญเติบโตของพืช เช่น กระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์พืช ควบคุมความยาวของเซลล์ หรือแม้กระทั่งทำหน้าที่เป็นสารต้านการแก่ตัวของพืชไม่ให้เน่าเปื่อยเร็ว และมูลไส้เดือนดินยังมีฤทธิ์ในการขับไล่แมลงได้อีกด้วย
โดยปกติแล้วธรรมชาติของไส้เดือนนั้น จะมีการอพยพย้ายถิ่นฐาน เคลื่อนที่ออกจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมไปสู่สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม โดยเฉพาะในฤดูหนาวจะเป็นช่วงที่ไส้เดือนอพยพมาก เนื่องจากไส้เดือนเป็นสัตว์เลือดเย็น ไม่มีตา หู จมูก และฟัน จะใช้ต่อมรับรู้ใต้ผิวหนังในการดูด หายใจ ฟังเสียงและสัมผัสทั้งหมด จึงต้องการแหล่งที่อยู่ที่มีความชื้นและไม่แฉะ แต่เมื่ออากาศหนาว อย่างบนดอยก็จะอพยพลงมาบนพื้นราบ หากถูกน้ำท่วมขังจะอพยพขึ้นมาบนพื้นดินเพื่อหน้าถิ่นที่อยู่ใหม่ เหมือนในช่วงนี้ที่เกิดฝนตกชุก น้ำสภาพอากาศชื้นเฉอะแฉะ มีน้ำขัง และไหลลงไปในรัง หรือ ขุย ของไส้เดือน ทำให้ไส้เดือนต้องพยายามออกมาภายนอกเพื่อหนีน้ำ แต่ไส้เดือนดินส่วนใหญ่ก็ต้องตายลงก่อนที่จะได้ที่อยู่ใหม่เนื่องจากทนสภาพอากาศความหนาวเย็นภายนอกรังหรือขุยไม่ไหว แต่ก็เป็นวัฏจักรของชีวิตไส้เดือน
//////////////////////////