อาจารย์เภสัชฯ มน.พัฒนาเครื่องมือฝึกสมรรถภาพการหายใจฯ ลดการใช้ยาไม่จำเป็น

 

 

ดร.เภสัชกร ประยุทธ ภูวรัตนาวิวิธ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบัณฑิตศึกษาและหลักสูตรพิเศษ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยว่า  หลังผ่าตัดหัวใจผู้ป่วยอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ จึงต้องฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจและปอดหลังการผ่าตัดโดยฝึกการหายใจ ซึ่งจะช่วยให้ฟื้นตัว ป้องกันภาวะแทรกซ้อน และลดการใช้ยาไม่จำเป็น นำไปสู่การลดโอกาสเกิดอาการอันไม่พึงประสงค์จากยาได้ในทางอ้อม ดังนั้นจึงได้คิดค้นพัฒนาเครื่องมือฝึกสมรรถภาพการหายใจสำหรับผู้ป่วยหลังผ่าตัดหัวใจและทรวงอก เพราะเครื่องมือฝึกสมรรถภาพการหายใจ ปัจจุบันมีราคาแพงและยังไม่ตอบสนองกับผู้ที่ใช้มากนักเพราะยังต้องเป็นกลุ่มคนที่มีความแข็งแรงพอสมควร

โดยเครื่องมือดังกล่าว คือ NU spiro Breathe (NUB) เป็นเครื่องมือฝึกสมรรถภาพการหายใจสำหรับผู้ป่วยหลังผ่าตัดหัวใจและทรวงอก คิดค้นโดยสหสาขาวิชาชีพ ประกอบด้วย ศัลยแพทย์ นักกายภาพบำบัด พยาบาล วิศวกร และเภสัชกร โดยเป้าหมายของการใช้เครื่องมือ คือ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยหลังการผ่าตัดหัวใจและทรวงอกสามารถกลับมาหายใจได้เองเป็นปกติได้ไวขึ้น หรือ ช่วยย่นระยะเวลาในการที่ผู้ป่วยจะสามารถฝึกการหายใจด้วยเครื่องมือฝึกสมรรถภาพการหายใจที่มีแรงต้านทานมากขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นทางเลือกให้กับผู้ป่วยที่ไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์หรือการบริการที่มีค่าใช้จ่ายสูงได้ เช่น การฝึกการไอ การฝึกหายใจ การทำกายภาพ เป็นต้น

สำหรับหลักการง่าย ๆ ของการพัฒนาเครื่องมือฯ ดังกล่าว ก็คือมาโนมิเตอร์ ใช้หลักการของท่อตัว U  เพียงแค่เรานำท่อตัว U นี้ มาประสานเข้าไว้ด้วยกันเป็นท่อเดี่ยว และก็ให้ผู้ป่วยหายใจผ่านเข้าไปในท่อตัว U นี้ คล้ายกับเราคว่ำขันน้ำลงใต้น้ำ แล้วก็หายใจผ่านจากใต้น้ำขึ้นมาแล้วก็ได้เป็นอุปกรณ์ขึ้นมา   จุดเด่นที่สำคัญที่สุดก็คือ เครื่องมือของเราสามารถที่จะอธิบายได้ด้วยกลไกทางวิทยาศาสตร์  จุดเด่นที่ 2 คือ มีราคาต้นทุนการประดิษฐ์ประมาณ 100 บาท ซึ่งแน่นอนว่าถ้าเข้าสู่กระบวนการอุตสาหกรรมแล้วก็มีการผลิตในเชิงพานิชย์ราคาย่อมจะลดลง แน่นอนก็จะเป็นไปตามกลไกตลาด จุดเด่นอันที่ 3 ก็คือ การใช้น้ำเป็นตัววัดระดับความดัน ดังนั้น ไม่จำเป็นจะต้องใช้อย่างอื่นหรือว่าจะต้องซื้ออุปกรณ์เสริมใด ๆ เข้ามาเสริม และจุดเด่นสุดท้าย คือ สามารถที่จะทำความสะอาดชิ้นส่วนการใช้งานเมื่อดูจากจุดเด่นข้างต้น

นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยหลายเคสที่ขออุปกรณ์นี้ไปทดลองใช้ เขาก็บอกว่าใช้ได้ง่าย สะดวก และเขาก็รู้สึกว่า เขาหายใจได้ดีมากขึ้น เขามีกำลังใจมากกว่าในการใช้อุปกรณ์แบบปกติ ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวจะเป็นลักษณะของลูกบอล 3 ลูก แบบเดิมเขาไม่สามารถสูดได้สักลูกเดียว พอเขาสูดไม่ขึ้นสักลูกเดียวเขาก็หมดกำลังใจที่จะทำ หรือเบื่อที่จะทำ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากที่ผู้ป่วยต้องมีกำลังใจ ดังนั้นเครื่องมือตัวนี้ถ้าผู้ป่วยสามารถใช้ได้ก็จะมีกำลังใจในการฝึกสมรรถภาพการหายใจต่อไป

 

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อมาได้ทางคณะเภสัชศาสตร์โดยตรง หรือติดต่อผ่านทางอีเมล์ [email protected]

 

และในวันนี้ทาง ดร.เภสัชกร ประยุทธ ภูวรัตนาวิวิธ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบัณฑิตศึกษาและหลักสูตรพิเศษ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้มอบเครื่องต้นแบบ NU spiro Breathe (NUB) จำนวน 10 เครื่องให้กับ รศ.พญ.รสสุคนธ์ คชรัตน์ รองคณบดีฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อนำไปใช้กับผู้ป่วยต่อไป.

///////////

 

แสดงความคิดเห็น