วันที่ 9 กรกฏาคม 2563 ที่ อบต.หนองกุลา อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก นายประจวบ ลอยสุวรรณ ผอ.สำนักทรัพยากรน้ำบาดาลเขต 7 ( กำแพงเพชร ) ได้ดำเนินการขุดบ่อเติมน้ำใต้ดิน 3 จุด สำหรับช่วยในการเติมน้ำใต้ดินให้บ่อบาดาลน้ำตื้น ระดับไม่เกิน 10 เมตร ที่เกษตรกรชาว อ.บางระกำส่วนใหญ่ จะใช้เป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรในฤดูแล้ง และมักประสบปัญหาระดับน้ำใต้ดินเหลือน้อยทุกปี ซึ่งที่ อบต.หนองกุลานั้น ได้ดำเนินการขุดบ่อเติมน้ำใต้ดินถึงระดับชั้นทราย ลึก 8 เมตร เสร็จแล้ว 3 บ่อ ขณะที่หน่วยงานภาครัฐและที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนกำลังดำเนินการจุดสาธิตการขุดบ่อเติมน้ำใต้ดิน ในการต้อนรับพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่มีกำหนดการเดินทางมาตรวจการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและเตรียมรับน้ำหลากที่ จ.พิษณุโลกในวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 นี้
นายประจวบ ลอยสุวรรณ ผอ.สำนักทรัพยากรน้ำบาดาลเขต 7(กำแพงเพชร) เปิดเผยว่า พื้นที่ภาคเหนือตอนล่างในจังหวัดพิษณุโลก พิจิตร สุโขทัย กำแพงเพชร เกษตรกรที่อยู่นอกระบบชลประทานจะใช้บ่อบาดาลน้ำตื้น ที่มีระดับความลึก 8-10 เมตร เป็นแหล่งน้ำสำคัญในการสูบน้ำขึ้นมาทำการเกษตร ระดับน้ำใต้ดินระดับนี้อยู่ในชั้นทราย จะมีน้ำเติมลงสู่ชั้นใต้ดินตลอดทุกปี แต่ที่ผ่านมามักจะประสบปัญหา ระดับน้ำใต้ดินมีไม่เพียงพอ และระดับต่ำลงไปเรื่อย ๆ กระทั่งบ่อบาดาลประสบปัญหาน้ำตื้น เกษตรกรแทบใช้ไม่ได้ ต้องลงไปขุดบ่อและติดตั้งปั้มน้ำที่ก้นบ่อ บางครั้งก็จะพบว่ามีผู้ลงไปติดตั้งปั้มน้ำขาดอากาศหายใจเสียชีวิตก็มี
ดังนั้น รัฐบาล จึงมอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำใต้ดิน ดำเนินโครงการขุดบ่อเติมน้ำใต้ดินสำหรับบ่อบาดาลน้ำตื้นนำร่องใน พื้นที่ลุ่ม ใน อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก โดยในปีงบประมาณ 2563 มีเป้าหมายขุดบ่อสำหรับเติมน้ำใต้ดิน 500 บ่อ กระจายอยู่ทุกตำบลของอำเภอบางระกำ ขณะนี้ดำเนินการขุดเสร็จแล้ว 250 บ่อ และยังคงเร่งดำเนินการขุดให้แล้วเสร็จในปี 2563 นี้ พร้อมกับจะมีบ่อที่ติดตั้งเครื่องบันทึกระดับน้ำ สำหรับติดตามตรวจสอบระดับน้ำใต้ดินอีก 50 บ่อ โดยเครื่องนี้จะทำการอัพเดทระดับน้ำทุกชั่วโมง และสามารถเรียกรายงานเก็บเป็นสถิติได้
หลักการทำงานของการเติมน้ำใต้ดิน ในการขุดบ่อ จะขุดบ่อลงลึกถึงระดับชั้นทราย ที่มีน้ำใต้ดินไหลซึมอยู่ มีความลึกโดยเฉลี่ย 8-10 เมตร การขุดบ่อนั้นจะขุดเป็น 2 วง โดยบ่อวงในจะมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.20 เมตร โดยวงนี้จะปล่อยโล่งไว้สำหรับกักเก็บน้ำ ส่วนวงบ่อนอกจะมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.20 เมตร โดยครอบวงบ่อในอยู่ สำหรับวงบ่อนอก จะบรรจุชั้นกรวด ชั้นทรายหยาบ ชั้นทรายละเอียด ส่วนในการรับน้ำนั้น จะรับน้ำจากน้ำฝน หรือ จุดที่น้ำท่วมถึง ที่ไหลลงมาสู่ที่ลุ่ม จุดที่ขุดบ่อสำหรับเติมน้ำใต้ดิน น้ำฝน จะค่อย ๆ ไหลซึมลงผ่านชั้นกรอง และจะไหลลงสู่ระดับน้ำใต้ดิน ซึ่งวิธีนี้ จะช่วยเพิ่มระดับน้ำใต้ดินได้เร็วกว่าปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เพราะระดับดินชั้นบน ส่วนใหญ่เป็นชั้นดินเหนียวที่ใช้ในการทำนา ทำให้การไหลซึมลงใต้ดินค่อนข้างช้า แต่ถ้าทำระบบบ่อเติมน้ำใต้ดิน น้ำจะไหลลงสู่ชั้นใต้ดินเร็วขึ้น ซึ่งการติดตามประเมินผลนั้น จะเช็คได้จากบ่อที่ทำการติดตั้งเครื่องบันทึกระดับน้ำอัตโนมัติ อีก 50 บ่อ ที่จะทำไว้ครอบคลุมพื้นที่อำเภอบางระกำเพื่อดูสถิติระดับน้ำชั้นใต้ดิน
ขณะที่ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ต.หนองกุลา อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก แหล่งพื้นที่ทำเกษตรผสมผสานของปราชญ์ชาวบ้าน นายทองปาน เผ่าโสภา อายุ 64 ปี อยู่บ้านเลขที่ 163 ม.14 บ้านหนองปลวก ต.หนองกุลา อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก เป็นจุดที่ริเริ่มทดลองทำบ่อสำหรับเติมน้ำใต้ดินจุดแรก ๆ มานานแล้ว และ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้ริเริ่มทำบ่อสำหรับเติมน้ำใต้ดินเป็นจุดนำร่องเมื่อปี 2561 มาแล้ว 1 บ่อ และมาทำเพิ่มในปี 2563 อีก 1 บ่อ
นายทองปาน เผ่าโสภา เปิดเผยว่า การทำบ่อเติมน้ำใต้ดิน เปรียบเสมือนทำแก้มลิงที่มองไม่เห็น ในพื้นที่ ต.หนองกุลาทุกหมู่บ้าน ไม่มีห้วยหนอง คลอง บึงไหลผ่าน ต้องอาศัยน้ำจากบ่อบาดาลน้ำตื้นเป็นหลักในการทำเกษตรกรรม 20 ปีที่แล้ว ตนได้เริ่มทำบ่อสำหรับเติมน้ำใต้ดินอย่างง่าย ๆ ขุดบ่อเปิดและใส่วงซีเมนต์ไว้ สำหรับให้น้ำได้ไหลซึมลงใต้ดิน และปรากฏว่าได้ผลเป็นอย่างดี ช่วงฤดูน้ำหลาก เมื่อน้ำท่วมผ่านพื้นที่ จะช่วยเติมน้ำใต้ดินในพื้นที่โดยรอบของตน จากนั้นในทุก ๆ ปีในช่วงฤดูแล้ง ก็สามารถใช้บ่อบาดาลน้ำตื้นได้เป็นปกติ น้ำใต้ดินไม่ขาดสาย จากนั้นก็บอกเพื่อนบ้านในละแวกนี้ ให้ช่วยกันขุดบ่อสำหรับเก็บน้ำลงสู่ใต้ดิน กระทั่ง สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 7 มาดำเนินการขุดบ่อสำหรับเติมน้ำใต้ดิน เมื่อปี 2561 และปีนี้มาทำเพิ่มในที่ดินตนอีก 1 บ่อ
/////////////