17 มิ.ย.63 ความคืบหน้ากรณีเกิดหลุบยุบขนาดใหญ่เส้นผ่าศูนย์กลาง 8 เมตร ลึก 3 เมตร ในไร่ข้าวโพดของนายสอน แสงแก้ว อายุ 73 ปีอยู่บ้านเลขที่ 71 หมู่ 2 ตำบลบ้านมุงอำเภอเนินมะปรางจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ของหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง 6 (สล.6 บ้านมุง) ซึ่งหลุมดังกล่าวเป็นลักษณะดินทรุดตัวเป็นวงกลมและพบว่าที่ลักษณะทรุดตัวลงเรื่อยๆ จากวันแรกที่พบ(เช้า 16 มิ.ย.63) จนถึงขณะนี้วันที่ 17 มิ.ย.63 พบว่าหลุมดังกล่าวยุบตัวลึกลงไปอีกประมาณ 50 ซม. ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ยังคงหวั่นเกรงว่าหลุมดังกล่าวอาจจะทรุดตัวลงเรื่อยๆ และตั้งข้อสงสัยว่าในพื้นที่ ต.บ้านมุง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก เกิดอะไรขึ้นกันแน่ เพราะว่าเหตุการณ์หลุบยุบเคยเกิดขึ้นแล้วถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกเกิดขึ้นใกล้เคียงกับโรงโม่ พื้นที่ ม.1 ต.บ้านมุง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2558 บริเวณไร่ข้าวโพดของชาวบ้าน ม.1 ต.บ้านมุง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ที่เกิดในไร่ข้าวโพด ม.2 ต.บ้านมุง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก สังเกตุได้ว่าทั้ง 3 ครั้งที่เกิดขึ้น จะเกิดในช่วงรอยต่อที่ผ่านพ้นฤดูแล้งมาแล้ว และเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูฝนทั้ง 3 ครั้ง เพียงแต่ครั้งนี้จะแตกต่างจากทั้ง 2 ครั้งที่เคยเกิดขึ้นคือไม่มีน้ำขังอยู่ภายในหลุมที่ยุบ ก้นหลุมเป็นดินลักษณะเหมือนผิวดินที่ทรุดตัวลงไปตามปกติ แต่อย่างไรก็ตามเพื่อความปลอดภัย นายสุชาติ น้อยจันทร์ นายกเทศบาลตำบลบ้านมุง ได้ให้เจ้าหน้าที่จากกองช่างนำเสาขาว-แดงพร้อมด้วยเชือกปอมากั้นบริเวณโดยรอบปากบ่อเพื่อป้องกันอันตรายจากผู้ที่เดินทางเข้ามาดู เนื่องจากมีชาวบ้านในพื้นที่ที่ทราบข่าวและเด็กเล็กในหมู่บ้าน จำนวนมากที่มาดูปรากฏการณ์ดินทรุดตัวในครั้งนี้หวังว่าจะเกิดอันตรายได้ นอกจากนี้ทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอเนินมะปรางเข้ามาทำการดูเสาไฟฟ้าบริเวณติดกับปากบ่อที่ดินทรุดตัวเนื่องจากขณะนี้ดินด้านบนอุ้มน้ำฝนไว้ในปริมาณมากหวั่นว่าเสาไฟฟ้าอาจจะล้มได้ อยู่ในระหว่างการพิจารณาว่าจะทำการย้ายเสาไฟฟ้าหรือไม่
ล่าสุดในเวลา16.00 น. ดร.น้ำฝน คำพิลัง นักธรณีวิทยาชำนาญการ สำนักงานทรัพยากรธรณีเขต1 (ลำปาง) พร้อมด้วย นายธีรัชสิทธิ์ วงศ์วาน ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดพิษณุโลก ได้เดินทางเข้าตรวจสอบ และเปิดเผยว่า หลุมยุบเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอย่างหนึ่งที่ดินยุบตัวลงเป็นหลุมลึก และมีเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 1-200 เมตร ลึกตั้งแต่ 1 ถึงมากกว่า 20 เมตร โดยปกติหลุมยุบจะเกิดในบริเวณที่ราบใกล้กับภูเขาที่เป็นหินปูน เนื่องจากหินปูนมีคุณสมบัติละลายน้ำที่มีสภาพเป็นกรดอ่อนได้ ประกอบกับภูเขาหินปูนมีรอยเลื่อนและรอยแตกมากมาย จะสังเกตเห็นได้ว่าภูเขาหินปูนมีหน้าผาชัน หน้าผาเป็นรอยเลื่อนและรอยแตกในหินปูนนั่นเอง บริเวณใดที่รอยแตกของหินปูนตัดกันจะเป็นบริเวณที่ทำให้เกิดโพรงได้ง่าย โพรงหินปูนถ้าอยู่พ้นผิวดินก็คือถ้ำ ถ้าไม่พ้นเรียกว่าโพรงหินปูนใต้ดิน ซึ่งจำแนกเป็น 2 ระดับ คือ โพรงหินปูนใต้ดินระดับลึก (ลึกจากผิวดินมากกว่า 50 เมตร) และโพรงหินปูนระดับตื้น (ลึกจากผิวดินไม่เกิน 50 เมตร) ส่วนใหญ่หลุมยุบจะเกิดในบริเวณที่มีโพรงหินปูนใต้ดินระดับตื้น
ดร.น้ำฝน คำพิลัง นักธรณีวิทยาชำนาญการ สำนักงานทรัพยากรธรณีเขต1 (ลำปาง) เปิดเผยว่า ชั้นหินใต้ดินเป็นหินปูน น้ำฝนสามารถกัดกร่อนได้ ประกอบในพื้นที่มีการสูบน้ำใต้ดินทำให้เกิดโพรงใต้ดิน และเมื่อผิวดินมีน้ำหนักมากขึ้น จากน้ำฝนจึงทำให้เพดานโพรงใต้ดินยุบตัวลงและเกิดเป็นหลุมยุบดังกล่าว เบื้องต้น จะรอดู อีกประมาณ 1 สัปดาห์เพื่อประเมินหากไม่พบว่าหลุมยุบตัวลงไปเพิ่มมากขึ้น ก็จะให้ทาง องค์การบริหารส่วนตำบล บ้านมุง เข้าดำเนินการถม ดินดังกล่าว เพื่อป้องกันเหตุอันตรายแก่ประชาชนและสัตว์เลี้ยง
โดยในระยะนี้จะให้ทางเทศบาลตำบลบ้านมุง จัดทำแนวป้องกันเพื่อไม่ให้ ประชาชนและสัตว์เลี้ยง ตกลงไปในหลุม ส่วน สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ที่สามารถป้องกันได้ด้วยการ ใช้น้ำใต้ดิน อย่างสมดุลกับน้ำฝนที่เติมลงไปใต้ดิน
…………………………….
ข่าวที่เกี่ยวข้อง 17 มิ.ย.63 เกิดหลุมยุบขนาดใหญ่กว้าง 8 เมตร ลึก 3 เมตรในไร่ข้าวโพดที่ต.บ้านมุง อ.เนินมะปราง
7 ก.ค.58 แตกตื่นหลุมยุบกว้าง6ม.ที่บ้านมุงอ.เนินมะปราง