ร้องศาลปกครองฟ้องผู้ว่าและมหาลัยชื่อดัง หลังระงับโครงการ 150 ล้านบาท

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 12 มิถุนายน 2563 ที่ศาลปกครองพิษณุโลก เลขที่ 111 ม.8 ถ.พิษณุโลก-นครสวรรค์ ต.ท่าทอง อ.เมือง จ.พิษณุโลก นางสาวศิลาพร สิงหลักษณ์ อายุ 36 ปี ประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนศูนย์พัฒนาผลไม้สดและแปรรูปเพื่อการส่งออก พร้อมด้วย นายบุญส่ง สีสะท้าน ประธานวิสาหกิจชุมกลุ่มพัฒนาการผลิตมะม่วงเพื่อการส่งออก ม.16 ต.พันชาลี อ.วังทอง จ.พิษณุโลก และชาวบ้านกลุ่มผู้ปลูกมะม่วงในพื้นที่ อ.วังทอง อ.เนินมะปราง อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก และกลุ่มเกษตรกรรอยต่อในพื้นที่ จ.พิจิตร จ.เพชรบูรณ์ กว่า 60 คน ได้มายื่นคำร้องขอฟ้อง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย โดยผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกในฐานะหัวหน้ากลุ่มจังหวัด  เกี่ยวกับเรื่องการยกเลิกโครงการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรปลอดภัยแปรรูปและการตลาด ทั้งๆ ที่ได้ทำเรื่องโครงการมานานกว่า 2 ปีครึ่ง จนกระทั่งงบประมาณ 150 ล้านบาทได้ถูกสั่งการลงมาที่ จ.พิษณุโลก แต่กลับให้ยกเลิกโครงการโดยมิชอบ

นางสาวศิลาพร สิงหลักษณท์ ประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนศูนย์พัฒนาผลไม้สดและแปรรูปเพื่อการส่งออก ได้ให้สัมภาษณ์ว่าการรวมกลุ่มกันของเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงในเขตพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 และพื้นที่ใกล้เคียงมีพื้นที่ปลูกมะม่วง โดยประมาณ 2 แสนไร่ ผลผลิตโดยประมาณ 200 ล้านกิโลกรัม โดยมีความคาดหวังในการพัฒนาผลผลิตและการได้เครื่องอบไอน้ำในโครงการก่อสร้างศูนย์พัฒนาผลไม่สดเพื่อการส่งออก ในโครงการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรปลอดภัย แปรรูปและการตลาด มาช่วยในการคัดเกรดผลผลิตและนำผลผลิตและนำผลผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้มาใช้เกิดผลประโยชน์ได้ทุกผลผลิตซึ่งทำให้ช่วยเหลือพยุงราคามะม่วงไม่ให้ตกต่ำ และมีคุณภาพ ที่ต่างประเทศยอมรับได้ กลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนและผู้ผลิตมะม่วงได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมลคลล้านนาและคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 มาโดยตลอดระยะเวลา 2 ปีเศษเพื่อให้โครงการก่อสร้างศูนย์ผลไม้สดฯ ได้เกิดขึ้นเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงจังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดใกล้เคียง

นางสาวศิลาพร สิงหลักษณท์ ได้บอกต่ออีกว่าทางกลุ่มใช้เวลาถึง 2 ปีเศษในการจัดทำโครงการนี้ เดินสายชี้แจงต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยความหวังว่าจะได้ในสิ่งที่ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงได้อย่างแท้จริง ต่อมาทางกลุ่มได้รับข่าวดีว่าได้รับการจัดสรรงบประมาณโครงการส่งเสริมและพัฒนาสิ้นค้าเกษตรปลอดภัย แปรรูปและการตลาด งบประมาณประจำปี 2563 กิจกรรมก่อสร้างศูนย์ผลไม้สดเพื่อการส่งออก งบประมาณ 150 ล้านบาท และได้รับการอนุมัติใบจัดสรรงบประมาณมาถึงจังหวัดเรียบร้อยแล้ว แต่ปรากฏว่าผู้ว่าราชจังหวัดพิษณุโลกในฐานะหัวหน้ากลุ่มจังหวัดกลับไม่สนับสนุนให้งบประมาณโครงการนี้ได้เกิดขึ้นจึงทำให้โครงการก่อสร้างศูนย์พัฒนาผลไม้ฯ นี้ ไม่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงในจังหวัดพิษณุโลก และพื้นที่ใกล้เคียงแต่อย่างใด

 

ทางกลุ่มได้ทำเรื่องไปยังมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลเพื่อขอให้ทบทวน ชี้แจงข้อเท็จจริง และได้รับตอบกลับมาว่า 1.สภามหาวิทยาลัย ไม่สามารถอนุมัติให้ใช้ที่ดินได้ เนื่องจากเกินอำนาจหน้าที่ของมหาวิทยาลัย ซึ่งการใช้ที่ราชพัสดุที่นอกเหนือจากวัตถุประสงค์เดิม คือการใช้ที่ดินเพื่อการศึกษา จะต้องขออนุญาตจากหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่เท่านั้น 2.สภามหาวิทยาลัย ไม่สามารถที่จะผูกพันเกี่ยวกับเรื่องเงินทุนในการบริหารศูนย์ผลไม้สดเพื่อการส่งออกได้ และไม่สามารถรับการทำ MOU กับแหล่งงบประมาณที่เกิดขึ้นในอนาคตได้ ซึ่งทางกลุ่มมองว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจึงมายื่นหนังสือฟ้องร้องต่อศาลปกครองในวันนี้

 

ด้านนางเหรียญ ศรีน้อย อายุ 62 ปี เกษตรกรปลูกมะม่วง อ.วังทอง จ.พิษณุโลก กล่าวว่า ตนต้องเดินทางมาร่วมร้องต่อศาลปกครองในครั้งนี้ เนื่องจาก ตนเองมีพื้นที่ปลูกมะม่วง 80 ไร่  ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้ น้ำดอกไม้สีทอง มะม่วงมหาชนก มะม่วงฟ้าลั่น เนื่องจากอยากได้โรงอบไอน้ำ และโรงงานแปรรูปผลไม้ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรที่ปลูกมะม่วงลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางนำมะม่วงไปที่โรงงานในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ชลบุรี ซึ่งจะเสียค่าขนส่งน้อยกว่า  ที่ผ่านมาการนำมะม่วงไปโรงงานอบไอน้ำจะเสียครั้งละ 5,000-7,000 บาท ต่อเที่ยว ขึ้นอยู่กับว่าไปจังหวัดไกลแค่ไหน  แต่หากมีโรงอบไอน้ำ และโรงงานแปรรูป ที่ จ.พิษณุโลก น่าจะเสียค่าขนส่งประมาณ 1-2 พันบาทเท่านั้น โดยเฉพาะในปีนี้ประสบปัญหา โควิด 19 ทำให้ไม่สามารถส่งออกได้  มะม่วงราคาตกต่ำกิโลกรัมละ 15 บาท สูงสุดกิโลกรัมละ 35 บาท ขายไม่ทันปล่อยทิ้งไปก็มีบ้าง เชื่อว่าหากมีโรงงานในพื้นที่ จ.พิษณุโลก จะสามารถนำมะม่วงขนส่งมาเพื่อสู่กระบวนการรักษาคุณมะม่วง ก่อนนำส่งออกขายยังตลาดในประเทศและต่างประเทศ  แต่หากไม่มีโรงงานดังกล่าว เกษตรกรต้องแบกรับภาระ ค่าขนส่งไปที่โรงงานซึ่งอยู่ไกลเช่นเดิม ที่น่าเสียดายคือทราบข่าวว่า งบประมาณสำหรับการก่อสร้าง 150 ล้านบาท มีการอนุมัติส่งมาที่จังหวัดแล้วแต่ไม่มีพื้นที่ตั้งโรงงานโดยยังไม่ทราบสาเหตุ

ในเวลาต่อมา นายสุวิทย์ เปรื่องธรรมกุล ผู้อำนวยการสำนักงานศาลปกครองพิษณุโลก ได้เดินทางลงมาพบกับชาวบ้านและตัวแทนกลุ่ม และชี้แจงการทำงานของกระบวนศาลปกครองว่าในวันนี้ จะให้ทางตัวแทนนำหนังสือเสนอไปที่คณะฯ ให้ท่านตุลาการสั่งจ่ายลงคณะฯ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดว่าคำฟ้องสมบูรณ์หรือไม่ เข้าเงื่อนไขการฟ้องหรือไม่ หากสมบูรณ์ศาลก็จะรับเรื่องไว้พิจารณา หากยังไม่สมบูรณศาลก็จะไต่สวนหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมอย่างไรก็ตามต้องดูคำฟ้องในวันนี้ก่อนดำเนินการต่อไป

///////////

 

แสดงความคิดเห็น