23 เมษายน 2563 ทุกเช้าและเย็น ชาวบ้านชุมชนประสงค์ประสาท 9 ครอบครัว ถนนพระองค์ดำ อ.เมือง จ.พิษณุโลก จะเข้ามารดน้ำพรวนดิน แปลงปลูกพืชผักสวนครัวของตนเอง ที่ปรับสภาพพื้นที่รกร้างว่างเปล่าเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่เศษ มาเป็นแปลงปลูกพืชผักสวนครัว สารพัดชนิด ที่ล้วนเป็นพืชระยะสั้น เพาะปลูกง่าย และไม่ต้องใช้สารเคมีใด ๆ ต่างมาร่วมกันปลูกพืชผักบริเวณใกล้บ้านนี้เป็นระยะเวลาประมาณ 1 เดือนแล้ว หลังจากเช้าของที่ดิน เฮียชัย คนกทม. ได้โทรศัพท์แจ้งมาให้ชาวบ้านละแวกนี้ ได้ใช้ประโยชน์ที่ดินของตนเองได้ เพราะช่วงนี้ทุกคนต่างได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 รายได้จากการประกอบอาชีพหดหาย
สภาพที่ดินบริเวณนี้ตั้งอยู่บนถนนพระองค์ดำ อยู่กึ่งกลางระหว่างวัดใหม่อภัยรามและสี่แยกบ้านแขก นับเป็นที่ดินทำเลทองใจกลางเมืองพิษณุโลก ห่างจากโรงแรมไพลิน โรงแรมท็อปแลนด์พลาซ่าในระยะสายตามองเห็นเท่านั้น แต่เดิม ถูกปกคลุมด้วยวัชพิช ต้นกถิน และมักจะมีคนแอบนำขยะมาทิ้งเป็นประจำ หลังจากเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เฮียชัยได้แจ้งให้ชาวบ้านละแวกนี้ให้มาใช้ประโยชน์ได้ เพื่อจะได้มีพืชผักสวนครัวไว้โบริโภค ชาวบ้านได้เข้ากันมาช่วยถางวัชพืช ปรับสภาพที่ดินเป็นแปลงปลูกพืชผักสวนครัว แบ่งเป็นเป็นล็อค ๆ
แต่ละครอบครัวก็เริ่มลงมือปลูกพืชระยะสั้นหลากหลายชนิด อาทิ ผักบุ้ง กวางต้ง คะน้า กระเพราะ โหระพา มันเทศ ฟักทอง ถั่วฝักยาว พริก มะเขือ ฯลฯ พืชผักบางชนิดเริ่มเก็บไปบริโภคในครัวเรือนได้แล้ว บางชนิดรอเวลา 1-2 เดือน ขณะที่ขยะที่ผู้คนมักลักลอบนำมาทิ้ง ก็เริ่มหายไปเช่นกัน หลังเห็นว่ามีคนมาใช้ประโยชน์ที่ดินแปลงนี้
นางสมพิศ พันธุ์ไทย อายุ 52 ปี ลูกจ้างโรงพิมพ์ไทยแลนด์การพิมพ์ เปิดเผยว่า หลังจากโควิด-19 เริ่มระบาด และเริ่มมีมาตรการปิดเมือง ตนได้รับผลกระทบมากเช่นกัน ตนมีอาชีพเป็นลูกจ้างโรงพิมพ์ อาศัยอยู่ที่โรงพิมพ์ ได้ค่าแรงวันละ 200 บาท แต่โรงพิมพ์ได้รับผลกระทบมาก ลูกค้าแทบไม่มีเลย ทำให้ตนไม่มีรายได้ เมื่อเฮียชัยเจ้าของที่โทรมาบอกให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์ที่ดินได้ จึงมาปลูกพืชผักสวนครัวบริเวณนี้ ใช้ต้นทุนก็ไม่มาก แค่ไปซื้อเมล็ดพันธุ์จากร้านค้ามาปลูก และไม่ได้ใช้สารเคมีใด ๆ เราปลูกเอง กินเองจึงปลอดภัย
นางทองหลาง พิมพ์มา อายุ 66 ปี เช่าบ้านอยู่บริเวณนี้ ประกอบอาชีพขายของให้เด็กนักเรียนในช่วงเย็นบริเวณโรงเรียนอนุบาลพิษณุโลก เปิดเผยว่า โรงเรียนปิดเทอมยาว ตนจึงขาดรายได้ในการขายของให้นักเรียน หันมารับจ้างแกะหอม แกะกระเทียม ส่งตลาด ก็เริ่มมีผลกระทบคนซื้อน้อยลง เงินรายได้ก็ลดลง ดีใจมากที่เจ้าของที่ให้มาปลูกพืชผักสวนครัวได้ จะได้ลดรายจ่ายในครัวเรือนได้ส่วนหนึ่ง
นางรัตนา นิ่มปากน้ำ อายุ 48 ปี ประกอบอาชีพรับจ้างพิมพ์งาน โรงพิมพ์วิมลการพิมพ์ เปิดเผยว่า ประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมา เจ้าของที่คือเฮียชัย อยู่กทม. เขาอนุญาตให้ชาวบ้านมาใช้พื้นที่ได้ เดิมเป็นพที่รกร้างว่างเปล่า เจ้าของที่บอกช่วงนี้ไม่มีอะไรทำก็ให้มาปลูกผักกินกันได้ เริ่มมาปรับที่ดินประมาณ 1 เดือนแล้ว ใครอยากได้ตรงไหนก็จับจองเอาเอง ถางหญ้า ปรับแปลง มีชาวบ้านละแวกนี้ 9 ราย มาลงมือปลูก ทุกเช้า-เย็น ก็จะมาช่วยกันรดน้ำพรวนดิน
นางรัตนา เผยต่อว่า งานโรงพิมพ์ลดลงมาก รู้สึกดีมากที่ได้มาร่วมกันปลูกผักสวนครัวบริเวณนี้ ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ไม่มีที่ดิน เพราะอาศัยอยู่กลางเมือง จะได้มีผักปลอดสารพิษไว้บริโภคในครัวเรือน เป็นสวนผักกลางเมืองที่ชาวบ้านมีความสุข เช้า-เย็น ได้มีกิจกรรมทำร่วมกันทำ ใครไม่ว่างมา เราก็ช่วยกันลดน้ำให้
เฮียชัย นายธนันท์ชัย วสุธรรม์ธีรกุล อายุ 60 ปีเศษ ภูมิลำเนาอยู่กทม. เจ้าของที่ดินแปลงนี้ เปิดเผยว่า ตนประกอบอาชีพค้าขายทั่วไป และได้ซื้อที่ดินแปลงนี้มาได้ประมาณ 5 ปีกว่าแล้ว เนื้อที่ประมาณ 5 งาน ราคาประเมินประมาณ 20 ล้านบาท เป็นการลงทุนทางธุรกิจที่ดิน ที่ผ่านมาก็ได้มาปลูกกล้วยไว้บ้าง แต่ช่วงโควิด-19 เห็นว่าทุกคนล้วนได้รับผลกระทบกันหมด จึงบอกกับคุณรัตนา โรงพิมพ์วิการพิมพ์ ให้บอกชาวบ้านละแวกนั้นให้มาทำประโยชน์ปลูกพืชล้มลุกได้ จะได้มีผักไว้บริโภคในครัวเรือน เหลือก็จำหน่ายได้ รู้สึกดีใจมากที่เห็นชาวบ้านได้เข้ามาทำประโยชน์ปลูกพืชผักสวนครัว ต่อจากนี้ก็จะซื้อท่อพีวีซีให้ชาวบ้านได้ต่อเข้าไปในแปลงผัก จะได้รดน้ำได้สะดวกขึ้น
………………………………