ท่ามกลางสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 ได้แพร่กระจายไปทั่วทุกภาคของประเทศไทย ได้ส่งผลกระทบความเดือนร้อนกับประชาชนคนไทยกันถ้วนหน้า ซึ่งรัฐบาลไม่นิ่งนอนใจได้ออกมาตรการต่างๆ มาช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนกันแล้ว เช่นเดียวกับกระทรวงพลังงานเป็นอีกหน่วยงานที่มีความโดดเด่นในการออกมาตรการมาลดภาระความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่องเกือบ 10 มาตรการ คิดเป็นที่ช่วยเหลือลดภาระประชาชนได้มากกว่า 46,000 ล้านบาท
เริ่มตั้งแต่ 1.มาตรการปลดล็อคแอลกอฮอล์ที่ไม่เพียงพอกับความต้องการ โดยทางกระทรวงพลังงานได้แก้ปัญหาด้วยการนำเอทานอลมาผลิตเป็นเจลแอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือ จากเดิมการผลิตเอทานอลจะทำได้เพื่อเป็นเชื้อเพลิงแก๊สโซฮอล์เท่านั้น แต่ไม่สามารถนำมาใช้ในทางการแพทย์ได้ โดยได้ร่วมหารือกับกรมสรรพสามิตแก้ไขกฎระเบียบเกี่ยวกับเอทานอล 2 ฉบับ ประกอบด้วย ฉบับที่ 1เป็นการประกาศให้โรงงานผลิตเอทานอลที่มีอยู่ 26 แห่ง สามารถบริจาคเอทานอลเพื่อผลิตเจลแอลกอฮอล์ล้างมือได้ ฉบับที่ 2 อนุญาตให้สามารถขายเอทานอลเพื่อใช้ผลิตเจลแอลกอฮอล์ล้างได้ แต่ให้อยู่ในการดูแลของกระทรวงพลังงานว่าจะอนุญาตให้ 26 โรงงานดังกล่าวขายเอทานอลได้ในปริมาณเท่าใด เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการผลิตเพื่อใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงและใช้ในด้านการแพทย์
จากประกาศทั้ง 2 ฉบับนี้ทำให้มีปริมาณเอทานอลส่วนเกินที่นอกเหนือจากภาคพลังงานเพิ่มขึ้นประมาณ 1 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งจะสามารถนำไปผลิตเจลแอลกอฮอล์ทำความสะอาดในทางการแพทย์ เพื่อบริจาค เพื่อจำหน่าย โดยที่ไม่เกิดผลกระทบต่อเอทานอลในส่วนที่นำมาใช้ในภาคพลังงานประการสำคัญ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวเป็นการปลดล็อคให้นำเอทานอลส่วนเกินนำไปผลิตผลิตเจลล้างมือได้อย่างรวดเร็วขึ้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือและป้องกันประชาชนจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ทันท่วงที
“สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ปลดล็อคให้กรมสรรพาสามิตพิจารณานำเอทานอลส่วนเกินจากภาคพลังงานมาผลิตเจลแอลกอฮอล์ล้างมือได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากกระทรวงพลังงาน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่าจะมีเจลล้างมือเพียงพอต่อความต้องการ
2.มาตรการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า จำนวน 22.17 ล้านครัวเรือน วงเงิน 32,700 ล้านบาท จากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จากมติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 17 มีนาคม ที่ผ่านมา เห็นชอบมาตรการเร่งด่วนด้านพลังงานเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 การคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าให้กับประชาชนเจ้าของมิเตอร์ประเภทที่พักอาศัย และกิจการขนาดเล็ก ซึ่งปรากฏว่าเรื่องนี้ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก เมื่อมีการเปิดลงทะเบียนวันแรก วันที่ 25 มีนาคม ที่ผ่านมา และกำหนดทยอยจ่ายเงินคืนให้ประชาชนตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม เป็นต้นไป
โดยยอดรวม 3 วันแรก มีผู้ยื่นใช้สิทธิขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า ประมาณ 2.5 ล้านราย เป็นเงินที่ยื่นขอคืนประมาณ 4,745 ล้านบาท โดยแยกเป็นผู้มาขอลงทะเบียนจาก กฟน. 1.15 ล้านราย จำนวน 2,648 ล้านบาท ส่วน กฟภ. 1.34 ล้านราย จำนวน 2,097 ล้านบาท
3.มาตรการลดค่าไฟฟ้า 3% โดยให้ กฟน. และ กฟภ. ลดภาระให้ประชาชนเป็นเวลา 3 เดือน ระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน 2563 เป็นเงินช่วยเหลือประชาชนจำนวน 5,160 ล้านบาท 4.มาตรการลดภาระค่าครองชีพด้วยการขยายเวลาชำระไฟฟ้าแบบไม่คิดดอกเบี้ยออกไป 6 เดือนของรอบบิลประจำเดือนเมษายน-พฤษภาคม นี้
5.มาตรการช่วยเหลือกลุ่มรถโดยสารสาธารณะในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ได้แก่ รถแท็กซี่ ตุ๊กตุ๊ก รถตู้ ร่วม ขสมก. ส่วนในต่างจังหวัด ได้แก่ รถโดยสาร มินิบัส สองแถว ร่วม ขสมก. รถโดยสารรถตู้ร่วม บขส. และรถแท็กซี่ โดยจะปรับราคาขายปลีกก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) สำหรับรถโดยสารสาธารณะ ลดลง 3 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิม 13.62 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 10.62 บาทต่อกิโลกรัม เป็นระยะเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2563 โดยกลุ่มรถโดยสารสาธารณะดังกล่าวมีบัตร NGV ของ ปตท. ประมาณ 8 หมื่นคัน คิดเป็นเงินที่่ ปตท. ให้ความช่วยเหลือตลอด 3 เดือนประมาณ 300 ล้านบาท
6.มาตรการลดราคาน้ำมันด้วยการลดการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิด 0.50 บาทต่อลิตร น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20 ลดลง 0.25 บาทต่อลิตร และเก็บเพิ่มน้ำมันแก๊สโซออล์ 95 (E85) 0.25 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 2 เดือน ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันทุกชนิดจะลดลง 0.50 บาทต่อลิตร ยกเว้นดีเซลหมุนเร็ว B20 ลดลง 0.25 บาทต่อลิตร ส่วนน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 (E85) ได้เพิ่มขึ้น 0.25 บาทต่อลิตร มีผลตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงรับภาระช่วยเหลือประชาชนเดือนละ 1,427 ล้านบาท หรือตลอด 2 เดือน เป็นเงิน 2,854 ล้านบาท
7.มาตรการลดราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม LPG ชั่วคราวเป็นเวลา 3 เดือน จากเดิม 21.87 บาทต่อกิโลกรัม ลดเหลือ 18.87 บาทต่อกิโลกรัม หรือลดลง 3 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งจะทำให้ก๊าซหุงต้มถังขนาด 15 กิโลกรัม จะลดลงจาก 363 บาท เหลือ 318 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงประเภท LPG จะรับภาระช่วยเหลือประชาชนเดือนละ 905 ล้านบาท หรือตลอด 3 เดือน เป็นเงิน 2,715 ล้านบาท
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม. ยังมีมติเห็นชอบมาตรการขยายเวลาชำระค่าน้ำประปาสำหรับธุรกิจโรงแรม กิจการบ้านเช่า โดยไม่คิดดอกเบี้ย 6 เดือน จำนวน 30,900 ราย และมาตรการคืนเงินประกันการใช้ประปาให้กับผู้ใช้น้ำประเภทบ้านพักอาศัย 5.7 ล้านราย วงเงิน 2,834 ล้านบาท
ทางด้านสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดเผยผลสำรวจภาคสนาม เรื่องความพอใจของ ประชาชน ต่อมาตรการรัฐ กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ และการวิจัยเชิงคุณภาพ จำนวน 1,138 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 23 – 27 มี.ค.ที่ผ่านมา พบว่าส่วนใหญ่ ร้อยละ 94.6 ทราบข่าวมาตรการรัฐ ช่วยเหลือประชาชนช่วงวิกฤตโควิด-19 ขณะที่ ร้อยละ 5.4 ไม่ทราบข่าว
โดยความพอใจต่อมาตรการรัฐช่วยเหลือประชาชนช่วงวิกฤตโควิด-19 ใน 10 อันดับแรก พบว่า พอใจกระทรวงพลังงาน ลดราคาก๊าซหุงต้ม ร้อยละ 85.3, พอใจกระทรวงพลังงานลดราคา น้ำมัน ร้อยละ 84.2, พอใจกระทรวงการคลัง เลื่อนชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ร้อยละ 76.7, พอใจการเยียวยาผู้ประกอบการ ด้านสินเชื่อ ขยายเวลาเสียภาษี ร้อยละ 75.7, พอใจกระทรวงการคลัง ดูแลแพทย์บุคลากรสาธารณสุขเพิ่มรายได้ ยกเว้นภาษีเงินได้ ร้อยละ 73.7, พอใจธนาคาร ด้านชำระหนี้ ลดต้น ลดดอกผ่อนรถ ร้อยละ 72.3, พอใจกระทรวงการคลังช่วยเหลือรายได้ 5,000 บาทต่อเดือน ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระ อันดับแปด ร้อยละ 71.9, พอใจธนาคาร ลดต้น ผ่อนบ้าน ร้อยละ 70.5 , พอใจรับเงินประกันค่าไฟฟ้า กระทรวงพลังงานร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย ร้อยละ 69.1 และ พอใจมาตรการดูแลความปลอดภัยของแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ร้อยละ 48.2
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงการสนับสนุนรัฐบาล ร้อยละ 44.5 เป็นกลุ่มพลังเงียบ ขออยู่ตรงกลาง ในขณะที่กลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาล และกลุ่มไม่สนับสนุนรัฐบาลสูสีกันอยู่เล็กน้อยคือ กลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาล ร้อยละ 28.8 และกลุ่มไม่สนับสนุนรัฐบาลมีอยู่ร้อยละ 26.7
#น้าสนจัดให้