โดนใจชาวบ้านแห่ขอคืนเงินประกันไฟฟ้า 5.4 แสนราย มีเงิน 1.1 พันล้านสะพัดหมุนกลับไปลดภาระความเดือดร้อน

นโยบายคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าโดนใจชาวบ้านที่กำลังเดือดร้อนจากไวรัสโควิด-19 เปิดลงทะเบียนทางออนไลน์วันแรกทำให้ระบบล่มทั้งของ กฟน. และกฟภ. เผยมียอดยื่นเรื่องผ่านการตรวจสอบแล้ว 5.4 แสนราย คิดเป็นเงินกว่า 1.1 พันล้านบาท ที่จะหมุนกลับไปช่วยบรรเทาภาระประชาชนในช่วงที่กำลังยากลำบาก

นับตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป เจ้าของมิเตอร์ไฟฟ้าจะทยอยได้รับเงินประกันการใช้ไฟฟ้าคืนจากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และกิจการไฟฟ้าสวัสดิการกองทัพเรือ (กฟส.) จนกว่าจะครบทั้งหมด จำนวน 23 ล้านราย รวมวงเงินกว่า 3.3 หมื่นล้านบาท เพื่อจะได้นำไปใช้ในชีวิตประจำวันบรรเทาความเดือดร้อนจากผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในครั้งนี้ หลังจากเมื่อวันที่ 25 มีนาคม ที่ผ่านมาประชาชนได้พากันตรวจสอบสิทธิ์และลงทะเบียนขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าผ่านเว็บไซต์ของ กฟน. และ กฟภ. ไปแล้วซึ่งปรากฏว่าได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วประเทศจำนวนมาก ส่งผลให้ระบบรับลงทะเบียนออนไลน์ของ กฟน. คึกคักตั้งแต่วันแรก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าระบบจะขัดข้องไปบ้าง เนื่องจากมีผู้สนใจเริ่มเข้ามาลงทะเบียนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ถูกแก้ไขทำให้ระบบกลับมาใช้งานได้ตามปกติ

กฟภ. ก็เช่นเดียวกันวันแรกที่มีการเปิดระบบให้ลงทะเบียนขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าทางออนไลน์ได้มีประชาชนในพื้นที่ต่างจังหวัดเข้ามาลงทะเบียนจำนวนมาก ทำให้เกิดระบบขัดข้องเหมือนกัน แต่เข้าสู่วันที่ 26 มีนาคม ซึ่งเป็นวันที่สองของการเปิดลงทะเบียนระบบก็ยังมีขัดข้อง

ต่อเรื่องนี้ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังได้ออกมาย้ำว่า วันที่ 25 มีนาคม ที่ผ่านมา เป็นแรกที่ กฟภ. และ กฟน.ได้เปิดให้ประชาชนยื่นเรื่องขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าทางออนไลน์ ซึ่งได้รับรายงานว่ามีประชาชนให้ความสนใจตรวจสอบสิทธิ์การยื่นขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าตามนโยบายของรัฐบาลเป็นจำนวนมาก ทำให้เว็บไซต์ของการไฟฟ้าที่เปิดให้บริการขัดข้องไปในบางช่วง จึงขอแจ้งให้ประชาชนทราบว่าไม่ต้องเร่งรีบการขอคืนเงินในวันแรก เพราะระบบได้เปิดให้ลงทะเบียนได้ทุกวัน และสามารถขอคืนเงินได้ตลอด 24 ชั่วโมง

นายสนธิรัตน์ กล่าวอีกว่า ผลสรุปจากการเปิดให้ประชาชนยื่นเรื่องขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าทางออนไลน์เป็นวันแรก พบว่า มีประชาชนมายื่นเรื่องกว่า 540,000ราย คิดเป็นวงเงินที่คืนให้ประชาชนแล้วกว่า 1,100 ล้านบาท ซึ่งตนคาดว่า เงินจำนวนนี้จะช่วยบรรเทาภาระที่ประชาชนต้องแบกรับในช่วงเวลาที่ยากลำบากได้เป็นอย่างดี ส่วนปัญหาความเข้าใจผิดจากการสื่อสารในส่วนของการขอเงินประกันคืนจะทำให้เสียสิทธิต่างๆนั้น ทางหน่วยงานที่เกี่ยวได้ชี้แจงอย่างชัดเจนแล้วว่า ไม่มีผลกระทบแต่อย่างใด และตนจะดำเนินการประสานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหามาตรการรับมือทั้งด้านระบบออนไลน์ที่บางช่วงติดขัดเนื่องจากมีประชาชนเข้ามาพร้อมกันจำนวนมาก และการสื่อสารให้รอบด้าน การรับเงินผ่านช่องทาง พร้อมเพย์ บัญชีธนาคาร และเคาน์เตอร์เซอร์วิส เพื่อให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลและเข้ามาลงทะเบียนขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งไม่มีกำหนดวันปิดรับ กันอย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 04.00 น. วันที่ 26 มี.ค. มีข้อมูลว่า ประชาชนยังได้ทยอยเข้ามาขอยื่นขอคืนค่าประกันไฟฟ้าผ่านระบบออนไลน์ของกฟภ.อีกกว่า 1 แสนราย และมีผู้ค้นหาข้อมูลรวมกว่า 4.7 ล้านครั้ง

ทั้งนี้ นโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่มีมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเสนอครม. พิจารณาเห็นชอบนโยบายเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือประชาชนด้วยการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า จำนวนกว่า 3.3 หมื่นล้านบาท เมื่อวันที่ 10 มีนาคม ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นนโยบายที่ดีช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชนที่กำลังได้รับความเดือดร้อนในช่วงนี้ เห็นได้จากประชาชนจำนวนมากได้ลงทะเบียนทางออนไลน์เพื่อขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าจนทำให้ระบบเกิดความขัดข้อง แม้ว่าทั้ง กฟน. และกฟภ. จะได้ออกมาชี้แจงว่า ขอให้ประชาชนทยอยมาลงทะเบียนไม่ต้องรีบ เพราะระบบจะเปิดให้ลงทะเบียนจนกว่าจะมีการจ่ายเงินคืนให้ครบทุกคนแล้วก็ตาม

สำหรับผู้มีสิทธิ์ในการขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าแบ่งเป็นของ กฟน. มีผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งสิ้น 3,899,775 ราย เป็นเงิน 13,581,169,471.36 บาท แบ่งเป็นประเภทที่ 1 บ้านอยู่อาศัย แบบขนาด 5 แอมป์ จำนวน 815,454 ราย เป็นเงิน 1,967,975,136 บาท ขนาด 15 แอมป์ จำนวน 2,103,651 ราย เป็นเงิน 5,076,844,143 บาท และขนาด 30 แอมป์ จำนวน 436,714 ราย เป็นเงิน 1,053,943,317 บาท

ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 2 กิจการขนาดเล็ก แบ่งเป็นแบบขนาด 5 แอมป์ จำนวน 73,594 ราย เป็นเงิน 771,212,195 บาท ขนาด 15 แอมป์ จำนวน 237,718 ราย เป็นเงิน 2,491,113,684 บาท และ ขนาด 30 แอมป์ จำนวน 141,442 ราย เป็นเงิน 1,482,210,442 บาท

ส่วน กฟภ. มีผู้ใช้ไฟทั้งสิ้น 19,534,834 ราย เป็นเงิน 19,987,056,047 บาท แบ่งเป็นประเภทที่ 1 บ้านอยู่อาศัย ขนาด 5 แอมป์ จำนวน 13,559,031 ราย เป็นเงิน 5,236,945,330 บาท ขนาด 15 แอมป์ จำนวน 4,183,309 เป็นเงิน 8,892,451,714 บาท และขนาด 30 แอมป์ จำนวน 168,120 ราย เป็นเงิน 1,070,337,271 บาท

ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 2 กิจการขนาดเล็ก แบ่งเป็นแบบขนาด 5 แอมป์ จำนวน 565,481 ราย เป็นเงิน 584,131,749 บาท ขนาด 15 แอมป์ จำนวน 855,173 ราย เป็นเงิน 2,436,890,101 และขนาด 30 แอมป์ จำนวน 203,720 ราย เป็นเงิน 1,766,299,883 บาท

และการวางเงินประกันการใช้ไฟฟ้า ขนาด 5 แอมป์ จำนวน 300 บาท ขนาด 15 แอมป์ จำนวน 2,000 บาท ขนาด 30 แอมป์ จำนวน 4,000-6,000 บาท และกิจการเอสเอ็มอี จำนวน 12,000 บาท
#น้าสนจัดให้

แสดงความคิดเห็น