จัดงานกล้วยไม้ช้างเผือกมหาราช ครั้งที่ 11 ชมกล้วยไม้สายพันธุ์ใหม่ลูกผสมระหว่างสกุลช้างกับสามปอย

วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 ณ สวนกลางเมืองพิษณุโลก ชมรมกล้วยไม้จังหวัดพิษณุโลก จัดงาน กล้วยไม้ช้างเผือกมหาราชครั้งที่ 11 ระหว่างวันที่ 12-18 กุมภาพันธุ์ 2563 เพื่อจัดประกวดและแสดง กล้วยไม้สกุลช้าง โดยเฉพาะกล้วยไม้ช้างเผือก กล้วยไม้ป่าช่อดอกขาว ที่ชาวพิษณุโลกและทั่วไทยนิยมเลี้ยง โดยจัดอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีในช่วงปลายเดือนมกราคมถึงต้นกุมภาพันธ์ อันเป็นช่วงเวลาที่กล้วยไม้สกุลช้าง ทั้งช้างเผือก ช้างแดง ช้างกละ แทงช่อออกดอกสวยงาม

นายภาสกร  ศักดิ์พงศธร  ประธานชมรมกล้วยไม้พิษณุโลก กล่าวว่า สืบเนื่องจากในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกตั้งอยู่ในภูมิศาสตร์ที่สามารถเพาะเลี้ยงกล้วยไม้ได้สวยงามโดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้วยไม้สกุลช้างเผือก ซึ่งในอดีตมีผู้สนใจศึกษาและเพาะเลี้ยงจนมีความสวยงามและได้ตั้งชื่อกล้วยไม้ช้างเผือกต้นนั้นว่าเป็น “ช้างเผือกนเรศวรมหาราช” ตามถิ่นเพาะเลี้ยงและเป็นการเทิดพระเกียรติให้กับพระนเรศวรมหาราชตลอดจนปัจจุบันมีผู้สนใจในการเพาะเลี้ยงกล้วยไม้เป็นจำนวนเพิ่มขึ้น ทั้งเป็นงานอดิเรกและเพื่อการค้าขาย ในด้านการตลาดยังไปได้ดีประกอบกับการค้าในปัจจุบันเน้นการขายแบบออนไลน์มากขึ้น สำหรับการจัดงานกล้วยไม้ช้างเผือกนเรศวรมหาราช ครั้งที่ 11 นี้ ประกอบด้วยการประกวด และจัดแสดงกล้วยไม้สกุลต่างๆ อาทิ สกุลแวนด้า  สกุลแคทลียา สกุลหวาย สกุลรองเท้านารี และสกุลใกล้เคียง  สกุลออนซิเดียม,แกรมมาโต,ซิมดิเบียมกล้วยไม้ดิน  สกุลฟาแลนนอบซิสและสกุลใกล้เคียง  กล้วยไม้พันธุ์แท้ทุกสกุล  และกล้วยไม้ลูกผสมทุกสกุล รวมถึงมีการออกร้านจำหน่ายกล้วยไม้ ไม้ดอก ไม้ผล ไม้ประดับ ให้ชาวพิษณุโลกได้เที่ยวชมและเลือกซื้อ เป็นการส่งเสริมกระตุ้นการท่องเที่ยวของจังหวัดพิษณุโลก

กล้วยไม้สายพันธุ์ใหม่”กฤตภาส” ผสมระหว่างสกุลช้างกับสามปอย

นายภาสกร เผยต่อว่า การจัดงานปีนี้ ตนได้นำกล้วยไม้พันธุ์ลูกผสมพันธุ์ใหม่ ชื่อสายพันธุ์กฤตภาส ( Krittapas  ) ที่ตนใช้ระยะเวลาผสมพันธุ์มาร่วม 10 ปี และได้จดทะเบียนเป็นกล้วยไม้ลูกผสมสายพันธุ์ใหม่กับสมาคมกล้วยไม้ที่ประเทศอังกฤษแล้ว โดยนำกล้วยไม้สกุลช้าง มาผสมกับกล้วยไม้สกุลสามปอย ตั้งชื่อที่จดทะเบียนใหม่ตามชื่อลูกชายตน “กฤตภาส” ที่ตั้งใจผสมพันธุ์ใหม่ เพราะกล้วยไม้สกุลช้างเป็นสกุลที่ผสมพันธุ์กับกล้วยไม้ชนิดใดแล้วค่อนข้างยาก เริ่มจากผสมพันธุ์ที่ทดลอง ได้ไม้ขวดออกมาไม่กี่ต้น และเลี้ยงจนออกดอก จึงไปจดทะเบียนได้ และต้องมีที่มาที่ไปชัดเจนว่า พ่อแม่พันธุ์มาจากต้นไหน ออกดอกเมื่อไหร่ เป็นเมล็ดเมื่อไหร่ ส่งไปฝักเพาะ โดยใช้ระยะเวลาดำเนินการร่วม 10 ปี

สำหรับกล้วยไม้ลูกผสมสายพันธุ์ใหม่ ที่นำมาแสดงในงานครั้งนี้ มีจุดเด่นคือ รูปร่างทรงใบดี พื้นดอกใหญ่ ใหญ่กว่าสกุลช้าง ได้สามปอยมา มีพื้นสีเหลืองอ่อน มีขอบสีแดง และปากสีแดง อีกทั้ง เป็นพันธุ์ที่ออกดอกบ่อย ช่อหนึ่งที่บานอยู่อยู่ในนานถึง 3 เดือน ใน 1 ปี สามารถชมดอกได้ถึง 3-4 ครั้ง ( ต่างจากสกุลช้าง ที่ออกดอกปีละ 1 ครั้ง ) และกลิ่นมีความหอมของสกุลช้างและสามปอยผสมกัน หอมทั้งกลางวันและกลางคืน

การเพาะเลี้ยงหลังจากนี้ จะเพาะเลี้ยงไปเรื่อย ๆ ก่อน  อนาคตจะนำไปโคลนนิ่ง หรือ ปั่นตา จะผลิตได้มาก และแบ่งจำหน่ายในราคาถูกลงมา ราคาอาจจะลงมาเหลือหลักพัน หรือ หลักร้อยบาท ประชาชนทั่วไปก็จะสามารถซื้อไปเลี้ยงได้ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใช้ระยะเวลา เพราะกล้วยไม้โตช้า กว่าจะผสมออกมาเป็นพันธุ์ใหม่และเลี้ยงดูจนออกดอกใช้เวลาร่วม 10 ปี

ในช่วงระยะเวลาจัดงานกล้วยไม้ช้างเผือกมหาราชครั้งที่ 11 ณ สวนกลางเมืองพิษณุโลก จึงขอเชิญชวนชาวจ.พิษณุโลกและจังหวัดใกล้เคียงมาร่วมชมกล้วยไม้หลากหลายสกุล พร้อมกล้วยไม้สายพันธุ์ใหม่  “กฤตภาส”   ได้ระหว่าง 12-18 กุมภาพันธ์ 2563

……………………………………………………………………………………………

 

 

แสดงความคิดเห็น