เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 22 ม.ค.2563 นายประจวบ ศรีคำจันทร์ อายุ 57 ปี ผู้ประกอบการรถรับจ้างไม่ประจำทางกับพวกประมาณ 10 คน ได้ไปรวมตัวกันหน้าศาลากลาง จ.พิษณุโลก เพื่อยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมจากการปฏิบัติงานที่ไม่ถูกต้องของสำนักงานขนส่งจังหวัด โดยมีผู้ร่วมลงชื่อในหนังสือร้องเรียนกว่า 50 คน ให้กับ นายพิพัฒน์ เอกภาพันธ์ ผวจ.พิษณุโลก โดยมี นายอธิปไตย ไกรราช ผอ.กลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรม จ.พิษณุโลก รับเรื่องร้องเรียนไว้เพื่อนำเสนอต่อ ผวจ.พิษณุโลก โดย นายประจวบ เปิดเผยว่า จากกรณีที่ขนส่งจังหวัดพบว่ารถโดยสารคันใดกระทำผิดด้วยการใช้ความเร็วเกินกว่าที่กำหนดหรือไม่เดินรถในช่องทางเดินรถด้านซ้าย ก็จะมีจดหมายไปยังผู้ประกอบการให้ไปพบเพื่อ “ชี้แจงข้อเท็จจริงและชำระค่าปรับ”
เมื่อผู้ประกอบการไปพบเจ้าหน้าที่ของสำนักงานขนส่งจะไม่รับฟังคำชี้แจงและไม่ยอมบันทึกปากคำการชี้แจงของผู้ที่ไปพบ แต่จะให้ผู้ที่ไปพบนั้นชำระค่าปรับในทันที ซึ่งสภาพถนนและการแซง จำเป็นจะต้องแซงเลนขวา และบางจังหวัดของการแซง ก็จะเกินความเร็วที่กำหนด 90 กม.ต่อชั่วโมงไปเล็กน้อย โดยกำหนดอัตราคำปรับไว้ที่ 1,000 บาท ทุกข้อหาความผิต ซึ่งส่วนใหญ่มักจะถูกปรับเฉลี่ยเป็นเงินไม่น้อยกว่าคันละ 20,000 บาท ต่อปี โดยเฉพาะความเร็วในอัตรา 91 กม.ต่อชั่วโมง ก็จะถูกปรับเป็นเงิน 1,000 บาทเช่นกัน ในกรณีนี้ถ้าผู้ไปพบชำระคำปรับก็เป็นอันยุติเรื่อง แต่ถ้าผู้ที่ไปพบไม่มีเงินชำระค่าปรับในขณะนั้นเพราะเงินไม่เพียงพอชำระค่าปรับ เจ้าหน้าที่ขนส่งก็จะไม่ผ่อนปรนไม่ขยายเวลาให้ชำระค่าปรับ เจ้าหน้าที่ขนส่งก็จะทำการอายัดรถคันนั้นไว้ทันที พร้อมทั้งระงับการตรวจสภาพและชำระภาษีรถประจำปีจนกว่าจะได้ชำระค่าปรับทั้งหมดเสียก่อน
จากการที่เจ้าหน้าที่ของสำนักงานขนส่งจังหวัดรวบรัด ให้ผู้ที่ไปพบชำระค่าปรับในทันทีวันนั้น โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้ที่ไปพบได้ชี้แจงใด ๆ เพื่อปฏิเสธและต่อสู้ข้อกล่าวหาด้วยการนำพยานหลักฐานเข้าแสดงเพื่อพิสูจน์ว่ามิได้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา จะรวบรัดให้ชำระค่าปรับสถานเดียว พวกตนและสมาคมรถตู้วีไอพีประเทศไทย เห็นว่า การกระทำของนายทะเบียนและเจ้าหน้าที่ขนส่งจังหวัด เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนของกฎหมายรัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จึงมาร้องของความเป็นธรรม และขอเสนอให้สำนักงานขนส่งจังหวัด กำหนดให้เจ้าหน้าที่ทำการบันทึกปากคำผู้ชี้แจง และให้ผู้ชี้แจงได้อ่านก่อนลงลายมือชื่อด้วยทุกครั้ง แล้วให้เจ้าหน้าที่นำเสนอตามขั้นตอนให้ขนส่งจังหวัดทำการพิจารณาความผิดถูก ไม่ใช่ไห้เจ้าหน้าที่เป็นผู้พิจารณาด้วยตนเอง
ในกรณีที่ผู้ชี้แจงยินยอมรับผิด ก็ควรให้ระยะเวลาในการชำระค่าปรับ เช่น ไม่เกิน 30 วันหรือ 60 วัน เป็นต้น และในกรณีที่ผู้ชี้แจงปฏิเสธความรับผิด ก็ให้สำนักงานขนส่งจังหวัดโดยขนส่งจังหวัดทำตามขั้นตอนในการสรุปสำนวนและส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามกฎหมายต่อไป เจ้าหน้าที่ต้องไม่รวบรัดให้ผู้ชี้แจงต้องรับผิดโดยไม่เต็มใจ ขณะนี้ผู้ได้รับใบอนุญาตขนส่งด้วยรถโดยสารไม่ประจำทางและผู้ขับรถ ต่างได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำที่ไม่ถูกต้องและไม่ชอบธรรมจากเจ้าหน้าที่ขนส่งจังหวัดเป็นอย่างมาก
จึงมีความจำเป็นที่จะต้องนำปัญหาความเดือดร้อนดังที่กล่าวมานี้ มาเสนอต่อท่านผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อพิจารณาให้ความเป็นธรรม เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพต่อไปได้อย่างปกติ บนพื้นฐานความปลอดภัยทางถนนและเพื่อประโยชน์โดยรวมต่อผู้ใช้บริการต่อไป นายประจวบ กล่าวท้ายสุดว่า “พวกตนขอเสนอให้ ผวจ.พิษณุโลก นัดหมายพวกตนประชุมร่วมกับฝ่ายเจ้าหน้าที่ของสำนักงานขนส่งจังหวัด โดยมีท่านเป็นประธาน เพื่อหาข้อสรุปและทางออกของปัญหาเหล่านี้ในแนวทางสมานฉันท์ต่อไป
……………………………………………………………………………