วันที่ 17 มกราคม 2563 ที่พระราชวังจันทน์ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก นำคณะผู้บริหาร สมาชิกสภาฯ และหัวหน้าส่วนราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ร่วมเปิดการแสดง แสง เสียง (Light & Sound) ละครอิงประวัติศาสตร์ “เทิดพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ตอน “ยอยศยิ่งฟ้า มหาราชแห่งแผ่นดิน” ในงานแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราชพิษณุโลก ประจำปี 2563 จัดโดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลก ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยมี นายเกรียงวิชญ์ เตชวิทยไวทิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานในพิธี และมีหัวหน้าส่วนราชการร่วมเปิดงานจำนวนมาก ทั้งนี้เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติและเผยแพร่พระเกียรติภูมิของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระมหากษัตริยาธิราชเจ้าผู้เกรียงไกร ผู้ทรงกอบกู้อิสรภาพของชาติไทย ที่ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของพี่น้องชาวไทยและชาวพิษณุโลก ตลอดจนเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชนมีจิตสำนึก รักและหวงแหน จงรักภักดี พร้อมธำรงรักษาไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ตลอดจนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของจังหวัดพิษณุโลก
สำหรับการแสดงละครอิงประวัติศาสตร์เทิดพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในปีนี้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลกได้มอบเงินอุดหนุนให้แก่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลก จำนวน 2,000,000 บาท เพื่อจัดการแสดงละครอิงประวัติศาสตร์ “เทิดพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ตอน “ยอยศยิ่งฟ้า มหาราชแห่งแผ่นดิน” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-19 มกราคม 2563 ณ พระราชวังจันทน์ จังหวัดพิษณุโลก ตั้งแต่เวลา 19.30 น. เป็นต้นไป โดยเปิดให้ประชาชนชมฟรี ซึ่งในการแสดงครั้งนี้ใช้นักแสดงกว่า 300 ชีวิต จากมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม, มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนาพิษณุโลก, กองทัพภาคที่ 3 และวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พุทธชินราช ทำการฝึกซ้อมและกำกับการแสดงโดย อาจารย์นิภารัตน์ กาญจนโชติ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านศิลปวัฒนธรรม สภาวัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลกและทีมงานคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม เพื่อบอกเล่าเรื่องราวแห่งความศรัทธาและกฤดาภินิหารของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชชาตินักสู้ และเพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่ทรงมีต่อสยามประเทศ วนการแสดงละครอิงประวัติศาสตร์เทิดพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช “ยอยศยิ่งฟ้า มหาราชแห่งแผ่นดิน” ประกอบด้วย องก์ที่ 1 ประสูติกาลแห่งอธิราชา, องก์ที่ 2 วิปโยคแห่งนครา, องก์ที่ 3 แก้วกัลยาแห่งแผ่นดิน, องก์ที่ 4 อย่าหมิ่นเลือดกษัตริย์, องก์ที่ 5 หทัยกล้าแห่งขัตติยนารี, องก์ที่ 6 วีรกษัตริย์แห่งเมืองสองแคว, องก์ที่ 7 วีรกรรมสถิตหล้าทั่วธานี, องก์ที่ 8 มหายุทธหัตถีเกริกไกร, องก์ที่ 9 แซ่ซ้องสรรเสริญพระองค์ดำ โดยได้รับความสนใจจากประชาชนมาร่วมชมการแสดงจำนวนมาก.
—————————————————