วันที่ 18 มกราคม 2563 สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก ขณะนี้ในพื้นที่ลุ่มน้ำยมแถบอ.บางระกำ สภาพแม่น้ำยมสายหลัก แม่น้ำยมสายเก่า หรือ คลองบางแก้ว และคลองวังแร่ รวมถึงแหล่งน้ำต่าง ๆ ในพื้นที่อยู่ในสภาพเริ่มแห้งขอดลงทุกขณะ แม่น้ำ คู คลอง แม้จะเหลือน้ำขังเป็นแอ่ง ๆ แต่ก็ถูกจ่อด้วยเครื่องสูบน้ำของชาวนาตลอดสาย เพื่อดึงน้ำขึ้นไปทำนาข้าว มีชาวบ้านในพื้นที่ต่างนำเครื่องมือมาจับปลาในน้ำที่เหลืออยู่เป็นแอ่ง ๆ และคาดว่าจะแห้งขอดไม่เหลือน้ำติดก้นคลองเลยในเร็ววันนี้ เป็นสภาพภัยแล้งรุนแรงที่ใกล้เคียงปี 2558 ที่แม่น้ำและคูคลองสาขาในลุ่มน้ำยมของจ.พิษณุโลกอยู่ในสภาพแห้งขอด
ขณะที่พื้นที่โดยรวมของอ.บางระกำในหลาย ๆ ตำบล อาทิ ต.ท่านางงาม ต.บางระกำ ต.ชุมแสงสงคราม สภาพพื้นที่เต็มไปด้วยนาข้าวอายุ 1-2 เดือน ที่ยังแลดูเขียวขจี แม้ว่ากรมชลประทานจะออกประกาศแจ้งเตือนว่าจะปีนี้ จะงดส่งน้ำเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร เนื่องจากน้ำในเขื่อนไม่เพียงพอ แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ ก็เลือกที่จะทำดีกว่าปลอ่ยให้พื้นที่รกร้างว่างเปล่า จำนวนมาก มีบ่อน้ำบาดาลเป็นขังตัวเอง เพื่อดึงน้ำขึ้นมาหล่อเลี้ยงนาข้าว
นายดำรง ทองรอด อายุ 70 ปี ชาวนาม.5 บ้านห้วยชัน ต.ท่านางงาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า ตนทำนา 20 ไร่ เดิมใช้น้ำจากคลองบางแก้ว หรือ แม่น้ำยมสายเก่าเป็นหลัก โดยสูบน้ำขึ้นมาหลายทอดกว่าจะถึงที่นาของตนเอง แต่ปัจจุบัน น้ำในคลองบางแก้ว แทบไม่มีเหลือแล้ว เพราะต่างระดมสูบน้ำกัน ต้องหันมาใช้น้ำจากบ่อบาดาล ที่ลงทุนเจาะบ่อไว้แล้ว ในงบประมาณ 20,000 บาท ซึ่งปกติในหลายปีที่ผ่านมา ชบประทานจะส่งน้ำจากแม่น้ำน่านมาช่วยในพื้นที่อ.บางระกำ แต่ปีนี้ทางการประกาศงดส่งน้ำ เพราะน้ำในเขื่อนเหลือน้อย ตนยึดอาชีพทำนามานาน และยังมีหนี้สินกับธกส.อยู่ ถ้าไม่ทำนารอบนี้ ก็จะไม่มีเงินส่งดอกเบี้ยส่งต้นให้กับธนาคาร จะให้ไปทำอาชีพอื่น ก็ทำไม่ไหวและไม่ชำนาญ
นายสมศักดิ์ บ่องเขาย้อย กำนันตำบลท่านางงาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า นาปรังรอบนี้ ชาวบ้านในเขตตำบลท่านางงามปลูกข้าวเต็มพื้นที่ 25,000 ไร่ของตำบลท่านางงาม แม้ว่าจะมีการประกาศแจ้งเตือนว่าปีนี้มีน้ำไม่เพียงพอ แต่ช่วงแรก ๆ หลังจากหมดหน้าฝนใหม่ ๆ น้ำในคลองบางแก้วค่อนข้างมาก เป็นเพราะมีการเตรียมการกักเก็บน้ำไว้ใช้เกษตรกรเมื่อเห็นน้ำในคลองมาก ก็คิดว่าจะเพียงพอ จึงทำนากันมาก กระทั่งปัจจุบันน้ำในคลองบางแก้วแทบไม่มีเหลือแล้ว แต่ชาวนาส่วนใหญ่ ก็จะมีบ่อบาดาลในพื้นที่ของตัวเอง บางคนที่ทำนาไปแล้ว ก็ต้องลงทุนเจาะบ่อบาดาลเพิ่ม เพื่อให้ข้าวรุ่นนี้รอดไปได้
ขณะที่นายเกรียงไกร ภาคพิเศษ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 3 กล่าวว่า สถานการณ์ในฤดูแล้งปีนี้ จัดได้ว่าเป็นปีที่วิกฤตภัยแล้งรุนแรงใกล้เคียงกับปี 2558/59 ที่ผ่านมา สำนักงานชลประทานที่ 3 มีขอบเขตความรับผิดชอบทั้งหมด 4 จังหวัด ได้แก่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ บริหารจัดการน้ำ ในลุ่มน้ำน่านตั้งแต่ท้ายเขื่อนสิริกิติ์ เรื่อยมาจนถึงจังหวัดนครสวรรค์ ในลุ่มน้ำยมบางส่วนตั้งแต่อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ถึงจุดจบกับแม่น้ำน่าน ที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ และบางส่วนของแม่น้ำปิง ตั้งแต่ อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ จนถึงจุดบรรจบกับแม่น้ำน่านที่ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ เนื่องจากปีนี้ ลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้ง 22 จังหวัดมีน้ำต้นทุน เพียงพอสำหรับน้ำอุปโภคบริโภค (น้ำกิน,น้ำใช้) และการรักษาระบบนิเวศ (ผลักดันน้ำเค็ม,เจือจางน้ำเสีย) เท่านั้น ต้องสำรองน้ำต้นทุนบางส่วนสำหรับไว้ใช้ช่วงต้นฤดูฝน ขณะนี้ได้หยุดการรับน้ำเข้าสู่ระบบชลประทานในพื้นที่รับผิดชอบ ประมาณ 1,300,000 ไร่แล้
……………………………………………………………………………………..