ส่งท้ายปีเก่า 2562 ประชาชนเตรียมจะเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่อย่างสนุกสนานกัน พร้อมรอยยิ้มอย่างมีความสุขทั่วไทย หลังรับ “ของขวัญ” จากกระทรวงพลังงาน ได้ลดราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินและกลุ่มดีเซลลงลิตรละ 1 บาท ยาวนานถึง 16 วัน ตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม ที่ผ่านมาไปจนถึง วันที่ 10 มกราคม 2563 ไม่เพียงเท่านี้ยังช่วยลดค่าครองชีพด้วยการตรึงราคาก๊าซหุงต้มขนาด 15 กิโลกรัมไว้ที่ 363 บาทต่อถัง ช่วยตรึงค่า Ft ช่วง 4 เดือนแรกของปี 2563 อีกด้วย
และถ้าโฟกัสไปที่เกษตรกรปีนี้ถือว่าชาวสวนปาล์มได้รับ “ของขวัญ” สองเด้งจากการขับเคลื่อนนโยบาย Energy for All “พลังงานเพื่อทุกคน” ที่สนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ด้วยการส่งเสริมให้น้ำมัน B10 เป็นน้ำมันดีเซลเกรดพื้นฐานในวันที่ 1 มกราคม 2563 ทำให้สมดุลของดีมานด์และซัพพลายของปาล์มน้ำมันให้เกิดขึ้นในระยะยาว ส่งผลต่อราคาผลปาล์มมีการปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์มาอยู่ที่กิโลกรัมละกว่า 6 บาท แล้ว ทำให้เกษตรกรชาวสวนปาล์มยิ้มออกในเวลานี้
โดยเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2562 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ครั้งที่ 5 ได้รับทราบถึงสถานการณ์ราคาผลปาล์มอัตราน้ำมัน 22% ราคาอยู่ที่ 6.80 บาทต่อกิโลกรัม อัตราน้ำมัน 18% ราคาอยู่ที่ 5.60 บาทต่อกิโลกรัม ส่งผลให้ปาล์มน้ำมันดิบ (CPO) ราคาปรับขึ้นเป็น 35 บาทต่อกิโลกรัม
เมื่อส่องกล้องดูสินค้าเกษตรในปี 2563 ยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยภัยแล้ง ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สถานการณ์สินค้าเกษตรโดยรวมคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปัจจัยผลักดันด้านปริมาณผลผลิตรวมที่ลดลงจากภัยแล้ง ทำให้ราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกรายการ ขณะเดียวกันเมื่อบวกกับการบริหารจัดการผ่านนโยบายของกระทรวงพลังงานในปี 2563 ที่จะใช้ขับเคลื่อนพืชเกษตรพลังงานมากขึ้น หลังจากมาตรการส่งเสริม B10 ประสบความสำเร็จ ทำให้ราคาปาล์มน้ำมันขยับขึ้นต่อเนื่อง ต่อจากนี้จะขยายผลไปสู่กลุ่มพืชเกษตรพลังงานที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นมันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด และไผ่ ที่ราคาจะได้ขยับขึ้นยกแผงเช่นกัน
โดยนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2563 กระทรวงพลังงานเตรียมจะขยายผลส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพไปสู่กลุ่มน้ำมันเบนซิน เพื่อให้การใช้แก๊สโซฮอล E20 เป็นน้ำมันเกรดหลักในกลุ่มเบนซิน ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาราคาพืชเกษตรพลังงาน เช่น มันสำปะหลัง และอ้อย ที่กำลังประสบปัญหาราคาในตลาดโลกตกต่ำเป็นอย่างมาก โดยจะเริ่มจากมันปะหลังเป็นตัวแรกด้วยการนำเอทานอลที่ผลิตได้จากมันสำปะหลังไปผสมเป็นแก๊สโซฮอล เพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ให้มากขึ้นนอกจากนี้ ในส่วนของอ้อยเตรียมจะปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือ PDP 2018 เพื่อเพิ่มวัตถุดิบ “ใบอ้อย” เข้าไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าให้ได้มากกว่า 100 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มจากการขายอ้อยอยู่ที่ 750-800 บาทต่อตัน มาขายใบอ้อย 1,000 บาทต่อตันด้วย
นายสนธิรัตน์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก จำนวน 700 เมกะวัตต์ ที่จะเปิดให้ผู้สนใจเข้ายื่นขอโครงการในภายในเดือนมกราคม 2563 นี้ เป็นโครงการที่ใช้วัตถุดิบจากสินค้าเกษตรมาเป็นเชื้อเพลิง ทำให้ชุมชนมีรายได้จากการขายข้าวโพด ไผ่ และหญ้าเนเปียร์ เป็นระยะเวลา 20 ปี เพื่อนำมาป้อนโรงไฟฟ้า และมีรายได้ส่วนแบ่งจากการขายไฟของโรงไฟฟ้าด้วย
ด้านนางสังวาลย์ พิมลรัตน์ ประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนธนาคารต้นไม้ กล่าวอย่างมั่นใจว่า ในปี 2563 เป็นต้นไปพืชเกษตรพลังงานจะมีราคาดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีเกษตรกรที่เป็นสมาชิกของวิสาหกิจชุมชนธนาคารต้นไม้ได้ปลูกหญ้าเนเปียร์หลายหมื่นไร่กระจายอยู่ทั่วประเทศไม่ว่าจะเป็นภาคอีสาน เหนือ กลาง และภาคใต้ ราคาอยู่ที่ 450-500 บาทต่อตัน ปีหน้ามีโรงไฟฟ้าชุมชนเกิดขึ้นจะขยายพื้นเพาะปลูกมากขึ้น เพราะเชื่อว่าจะมีการใช้วัตถุดิบจากหญ้าเนเปียร์มากขึ้น ราคาก็จะดีขึ้น ซึ่งทำให้เกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย