พลเอกฉัตรชัย ปธ.กรรมาธิการเกษตรฯ ติดตามภัยแล้ง ในพื้นที่บางระกำโมเดล

เวลา 10.00 น. วันที่ 19 ธันวาคม ที่ห้องประชุมเตชะเสน 1 สำนักงานชลประทานที่ 3 ตำบลท่าทอง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก พลเอกฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ ประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา พร้อมด้วยคณะ ได้เดินทางมารับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับโครงการจัดหาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน โดยรับฟังการบรรยายเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำและเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในฤดูการผลิตปี 2563 การบริหารจัดการกลุ่มผู้ใช้น้ำการใช้นวัตกรรมเพื่อการบริหารจัดการน้ำการวางแผนโครงการและงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรมา โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำภายใต้โครงการบางระกำโมเดล โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ โครงการพัฒนาศักยภาพกระบวนการผลิตสินค้า ก่อนลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการบริหารจัดการน้ำภายใต้โครงการบางระกำโมเดล ที่บ้านแม่ระหัน ตำ บลบ้านกร่าง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ก่อนจับเขาพูดคุยรับฟังปัญหาจากเกษตรกรในพื้นที่ โดยแบ่งเป็นกลุ่มย่อยจำนวน 4 กลุ่มคือด้านการผลิต ด้านปัจจัย ด้านสหกรณ์ และด้านปฏิรูปประเทศ

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ ประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา กล่าวว่า การลงมาพื้นที่ในวันนี้เพื่อติดตามการปฏิรูปประเทศโดยมาดูด้านการเกษตร เพื่อดูว่าหน่วยงานปฏิบัติในพื้นที่ในระดับจังหวัดได้ทำงานด้านการปฏิรูปการเกษตรอย่างไร โดยในวันนี้ได้ดู 4 ประเด็น แต่ที่เน้นมากที่สุดคือด้านภัยแล้ง คิดว่าในปีนี้ ปัญหาภัยแล้งจะรุนแรงมีผลกระทบกับประชาชน โดยดูว่าส่วนราชการเตรียมการ ช่วยเหลือประชาชนอย่างไร เพื่อเสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไข เราลงพื้นที่มาพบเห็นปัญหาโดยตรง จะได้นำเสนอฝ่ายบริหารในการปรับปรุงแก้ไขได้ทันท่วงที

ช่วงเวลาที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาการเกษตรโดยให้นโยบายแปลงใหญ่ในการปฏิรูปนโยบายแปลงใหญ่ว่าเดินหน้าไปขนาดไหนอยากเห็นการพัฒนาที่สูงขึ้นบางครั้งแปลงใหญ่มีการรวบรวมคนเพื่อลดต้นทุนเท่านั้น การนำเทคโนโลยีมาใช้มีมากน้อยแค่ไหนในวันนี้จึงต้องมาดูด้านเทคนิคเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาด้านการผลิตสินค้าเกษตรนอกจากนี้หากเกษตรกรสามารถจำหน่ายสินค้าไปยังต่างประเทศหรือมีตลาดไม่ต้องผ่านคนกลางก็จะเป็นการนำสู่ขั้นปลายที่ได้ผล

พลเอกฉัตรชัย กล่าวว่า สิ่งที่เป็นห่วง คือการบริหารจัดการน้ำในปีนี้ จากข้อมูลที่มีค่อนข้างมีปัญหาด้านภัยแล้งหนัก ใกล้เคียงกับปี 2558 หรืออาจมากกว่าด้วย แต่หากมองเรื่องน้ำภาพรวมระดับน้ำอาจใกล้เคียงกัน เพราะมีบางพื้นที่มีน้ำมากโดยเฉพาะทางด้านตะวันตกแต่ที่เหลือมีน้ำค่อนข้างน้อย วันนี้เรามาดูเฉพาะพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกซึ่งเป็นต้นน้ำ ส่วนหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยามีผลกระทบลงไปสู่ภาคกลาง ด้านการเพาะปลูก เกษตรกรเพาะปลูกไปแล้ว โดยเฉพาะข้าวจำเป็นต้องมีน้ำใช้หล่อเลี้ยงผลผลิตให้สามารถเก็บเกี่ยวได้ ได้เน้นย้ำให้ชลประทานบริหารจัดการน้ำรวมถึงการปล่อยน้ำไปดูแลเกษตรกรในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาด้วย

นอกจากนี้อยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลคำนวณปริมาณฝนว่าจะตกเมื่อไหร่ คาดการณ์ ว่าปีนี้ฝนจะมากหรือน้อยลง ตกใต้เขื่อนหรือเหนือเขื่อน โดยทำสถิติที่ผ่านมา ย้อนหลัง 10 -20 ปี มาประมวลเป็นข้อห่วงใย เพื่อให้ส่วนราชการคำนึงด้านนี้ ส่วนคณะกรรมาธิการหลังจากกลับไปแล้วก็จะสรุปเรื่องให้ฝ่ายบริหารคือรัฐบาล กระทรวง ทบวง กรม นำไปแก้ไขเพื่อให้ประชาชนหลุดพ้นจากความยากลำบาก

นอกจากนี้ภารกิจสุดท้ายคือเรื่องการสร้างการรับรู้ให้ประชาชนเนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนแต่ประชาชนไม่ทราบเราก็มีหน้าที่ในการนำมาคุยให้กับประชาชนเพื่อให้ได้ข้อมูลข้อเท็จจริง ให้ประชาชนได้รับทราบพร้อมกันนี้ได้มีการพูดคุยและนำปัญหาของประชาชนที่ประชาชนมีความต้องการนำกลับไปให้รัฐบาลด้วยเช่นกัน
/////////

แสดงความคิดเห็น