เมื่อเวลา 13.30 น. ในวันที่ 27พฤศจิกายน 2562 ที่ วิทยาลัยสงฆ์พุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานในพิธีพระราชทานสัญญาบัตร พัดยศ และผ้าไตร แก่พระภิกษุที่ได้รับพระราชทานเลื่อน และตั้งสมณศักดิ์ จำนวน 423 รูป ในพื้นที่ 16 จังหวัดเขตปกครองคณะสงฆ์หนเหนือ
อนึ่งพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานสถาปนา เลื่อน และตั้งสมณศักดิ์พระสงฆ์ ที่ได้บำเพ็ญประโยชน์ต่อประเทศชาติ พระพุทธศาสนา และพระมหากษัตริย์ ให้ดำรงสมณศักดิ์ตามสมควรแก่สมณฐานันดรศักดิ์ เป็นพระราชาคณะที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ ตั้งแต่สมเด็จพระราชาคณะ ถึงพระราชาคณะชั้นสามัญ รวม 74 รูป ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เข้ารับพระราชทานสัญญาบัตร พัดยศ และผ้าไตร ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2562 สำหรับพระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทานเลื่อน และตั้งสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรระดับชั้นต่าง ๆ เป็นพระครูที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ตั้งใหม่ จำนวน 1,084 รูป พระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ จำนวน 847 รูป มีพระบรมราชานุญาต ถวายสมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานประกอบพิธีพระราชทานสัญญาบัตร พัดยศ และผ้าไตร สำหรับพิธีพระราชทานสัญญาบัตร พัดยศ และผ้าไตร ประจำปี ๒๕๖๒ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงมีพระบัญชากำหนดวันประกอบพิธีพระราชทานสัญญาบัตร พัดยศ และผ้าไตร ประจำปี 2562
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช ได้กล่าวกับพระภิกษุสงฆ์ ที่ได้รับในพิธีพระราชทานสัญญาบัตร พัดยศ และผ้าไตร แก่พระภิกษุที่ได้รับพระราชทานเลื่อน และตั้งสมณศักดิ์ ได้เชิญพระสัมโมทนียกถา ประทานของสมเด็จพระสังฆราช ว่า ตามที่สมเด็จบรมบพิตร พระราชสมสมภารเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ทรงพระรกรุณาโปรดแต่งตั้งสมณศักดิ์พระครูสัญญาบัตร ในนามคณะสงฆ์ขอแสดงมุทิตาจิตต่อทุกท่านด้วยใจจริง ขอท่านจงตั้งสัตยาธิษฐาน ถวายพระพรแด่สมเด็จบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงเป็นพุทธศาสนูปถัมภกให้ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน
ในโอกาสอันเป็นมงคลนี้ขอปรารถข้อคิดบางประการ “สมณศักดิ์ หรือ ยศศักดิ์ทางการคณะสงฆ์นั้น เป็นพระบรมราโชบายของพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงพระราชศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา ในอันที่จะทรงสนับสนุนศาสนบุคคลผู้สมควร ให้เป็นการสืบอายุพระพุทธศาสนา และเพื่อให้การปกครองคณะสงฆ์เป็นไปโดยเรียบร้อย เพราะการที่พระภิกษุรูปใดได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ ย่อมได้รับมอบหมายภาระหน้าที่ในการปกครองหมู่คณะแห่งสงฆ์ไปพร้อมกันด้วย สาระของสมณศักดิ์ จึงมิใช่อยู่ที่ความภาคภูมิใจในเชิงโลกธรรม ฝ่ายอิฏฐารมณ์ ที่เรียกว่า “ได้ยศ” เพราะการปลื้มยศ หลงยศ เห่อยศ ทะเยอทะยานในยศ ไม่ใช่กิจของพระภิกษุในพระธรรมวินัย หากสาระของสมณศักดิ์ อยู่ที่ ภารธุระ หรือ หน้าที่ ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงอาราชธนาให้ท่านรับปฏิบัติ โดยขอย้ำเตือนหน้าที่ของพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งจำเป็นต้องปฏิบัติด้วยกันทุกรูป สรุปได้ 4 ประการ คือ หน้าที่ในการศึกษาธรรมะ หน้าที่ในการปฏิบัติธรรมะ หน้าที่ในการเผยแผ่ธรรมะ และหน้าที่ในการรักษาธรรมะ
///////////