ลานสานศิลป์ บ้านสองแควเซรามิกส์ จุดถ่ายทอดศิลปะช่างสิบหมู่สู่เด็กยุคใหม่

ที่สองแควเซรามิกส์ เลขที่ 56/50 ม.2 บ้านวัดจันทร์ ต.วัดจันทร์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นบ้านพักของครูเอ ฉายาครูเอเลี่ยน ของเด็กๆ หรือ นายสิทธิเดช พูลทวี อายุ 48 ปี ครูชำนาญการ ผู้สอนวิชาศิลปะ โรงเรียนเทศบาล 5 (วัดพันปี) สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา พิษณุโลก เขต 1 ได้เปิดบ้านสองแควเซรามิก ธุรกิจเครื่องปั้นดินเผาของครอบครัว ทำเป็นลานสานศิลป์ ซึ่งเป็นจุดถ่ายทอดศิลปะชั้นสูง ช่างสิบหมู่ ในรูปแบบของที่ระลึกประเภทต่างๆ โดยเปิดให้เด็กนักเรียนมาเรียนรู้และศึกษาฟรี เพื่อให้เด็กวัยรุ่นในพื้นที่ได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ มีรายได้เสริมช่วยผู้ปกครอง และเพื่อเป็นการอนุรักษ์อาชีพของคนยุคเก่าให้คงอยู่

นายสิทธิเดช  พูลทวี  หรือ ครูเอ บอกว่า จุดเริ่มต้นคือเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ตนทำงานอยู่กรุงเทพฯ ในตำแหน่งศิลป์อุตสาหกรรมในโรงงานแห่งหนึ่ง ต่อมาคุณแม่ป่วย ตนจึงต้องกลับมาบ้านเกิดเพื่อดูแลครอบครัว และธุรกิจของครอบครัวคือ บ้านสองแควเซรามิกส์ จนปัจจุบันคุณพ่อ และคุณแม่ ได้เสียชีวิตลง ประกอบกับตนเองก็ได้เข้ารับราชการครู สอนในรายวิชาศิลปะและดูแลธุรกิจของครอบครัวไปด้วย และตนรู้สึกเสียดายความรู้ที่พ่อและบรรพบุรุษได้สืบสานกันมาในเรื่องของอาชีพเครื่องปั้นดินเผา และศิลปะชั้นสูง ช่างสิบหมู่ จึงอยากจะถ่ายทอดความรู้และภูมิปัญญาให้กับคนรุ่นหลังได้รู้จักกันไว้ จึงใช้อาชีพครู เป็นสะพานส่งต่อความรู้ให้กับเด็กๆ โดยเริ่มจากปลูกฝังในรายวิชาศิลปะ จากนั้นเด็กๆ สนใจก็เริ่มเข้ามาเรียนรู้ที่บ้านของตนในช่วงเวลาว่าง ตนจึงเปิดบ้านเป็น “ลานสานศิลป์” ถ่ายทอดศิลปะชั้นสูง ช่างสิบหมู่ ในรูปแบบของที่ระลึกประเภทต่างๆ ให้กับเด็กนักเรียน และผู้ที่สนใจฟรี เพื่อให้เด็กวัยรุ่นในพื้นที่ได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ มีรายได้เสริมช่วยผู้ปกครอง และเพื่อเป็นการอนุรักษ์อาชีพของคนยุคเก่าให้คงอยู่

นายสิทธิเดช    บอกต่ออีกว่า ที่ลานสานศิลป์ เป็นจุดถ่ายทอดศิลปะชั้นสูง ช่างสิบหมู่ ในรูปแบบของที่ระลึก ที่หลากหลาย อาทิ เสน่ห์จันปั้นดิน (งานเครื่องปั้นดินเผาเคลือบขี้เถ้าไม้ต้นจัน) งานปั้นปูน ผ้าสิตางศุ์ (เป็นผ้าที่พิมพ์ลวดลายบนน้ำ) ตุ๊กตานะโม (เป็นงานเครื่องปั้นดินเผาใส่กำยาน) งานสีสันบนลายเทียน(เป็นงานเขียนผ้าบาติก) งานเพ้นเสื้อด้วยสีชอล์ค งานเส้นสายลายกระจก(เป็นงานแกะสลักกระจกลงรักปิดทอง)และที่ได้รับความสนใจจากเด็กๆมากที่สุด คือ งานอนุรักษ์เจ้าโขนน้อย ซึ่งเป็นงานเซรามิคเขียนลายทอง เป็นเศียรของตัวละครในวรรณคดี เรื่องรามเกียรติ์ ที่ทำมาจากดินเหนียวที่ผ่านการกรองและตีเรียบร้อยแล้ว จากนั้นนำมาหล่อในแม่พิมพ์ แล้วแกะแม่พิมพ์ออกตบแต่งตะเข็บให้เรียบร้อย รอจนดินแห้ง นำเข้าเตาเผาที่อุณหภูมิ 750 องศา ใช้เวลา 3-4 ชั่วโมง ก็จะออกมาเป็นเจ้าโขนน้อย จากนั้นก็นำมาลงสี และลงรักปิดทอง ทำเป็นของที่ระลึก ส่งขายตามออเดอร์ราคาตัวละ 199 บาท

นายสิทธิเดช พูลทวี ได้บอกต่ออีกว่า เวลาที่มีออเดอร์งานเครื่องปั้นดินเผา เซรามิกส์ งานแกะสลักกระจก หรืองานเจ้าโขนน้อย เข้ามา ตนก็จะโทรหาเด็กๆ ในกลุ่ม ที่เข้ามาเรียนรู้และสามารถทำได้ ให้เข้ามาช่วยงาน โดยตนก็จะแบ่งรายได้ให้กับเด็กๆ ตามชิ้นงาน ซึ่งตนมองว่า เด็กจะได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ดีกว่าไปนั่งเล่นเกมส์ หรือ อยู่เฉยๆ และตัวเด็กเองก็จะมีค่าขนมเล็กๆน้อย ติดไม้ติดมือกลับไปด้วย รวมถึงความรู้ที่ตนถ่ายทอดให้ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดทำเป็นอาชีพได้จริงในอนาคต และที่สำคัญ คือตนได้นำความรู้และภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษถ่ายทอดสู่เด็กยุคใหม่และผู้ที่สนใจ จะทำให้อาชีพเครื่องปั้นดินเผานี้ ไม่เลือนหายไปตามกาลเวลา

ด้านนายอธิวัฒน์ อิ่มเอิบ อายุ 16 ปี นักศึกษาแผนกคอมพิวเตอร์กราฟฟิค ปวช.ปี 1 วิทยาลัยอาชีวศึกษาพิษณุโลก ได้บอกว่าตนรู้จักครูเอและเข้ามาศึกษางาน เจ้าโขนน้อย หรือ หัวโขนจิ๋วนี้ได้ประมาณ 3 ปี ตั้งแต่เรียน ม.ต้น จนเข้าสู่วิทยาลัย จึงทำให้ตนรู้สึกชอบงานด้านนี้ และตัดสินใจเรียนต่อในแผนกคอมพิวเตอร์กราฟฟิค ซึ่งสามารถประยุกต์ระหว่าง ศิลปะในสมัยเก่า และศิลปะในสมัยใหม่เข้าด้วยกันได้ ที่สำคัญ ตนชอบมาที่นี่ในช่วงวันหยุดเพราะอยู่บ้านก็ไม่รู้จะทำอะไร มาที่นี่ได้ความรู้ ได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ดีกว่าไปนั่งเล่นเกมส์ และตนก็มีรายได้เสริมไปด้วยในตัว

///////////

แสดงความคิดเห็น