อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง ร่วมกับ ชุมชนการท่องเที่ยวทุ่งโนนสน องค์การบริหารส่วนตำบลชมพู อ.เนินมะปราง ชมรมสื่อมวลชนพิษณุโลก พร้อมด้วยนักท่องเที่ยวจิตอาสา จัดกิจกรรมทำโป่งเทียมเพิ่มแร่ธาตุอาหารในดินโป่งเดิมให้แก่สัตว์ป่า ตามโครงการสร้างจิตสำนึกในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
วันที่ 14 ตุลาคม 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ฐานแตก ม.11 ต.ชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง นายวิทูร เดชประมวลพล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง ร่วมกับ ชุมชนการท่องเที่ยวทุ่งโนนสน องค์การบริหารส่วนตำบลชมพู อ.เนินมะปราง ชมรมสื่อมวลชนพิษณุโลก พร้อมด้วยนักท่องเที่ยวจิตอาสา จัดกิจกรรมทำโป่งเทียมเพิ่มแร่ธาตุอาหารในดินโป่งเดิมให้แก่สัตว์ป่า ตามโครงการสร้างจิตสำนึกในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
โดยในวันนี้ได้นำเกลือดำ จำนวนกว่า 6 ตัน ที่ชาวบ้านนำมาสนับสนุนร่วมทำโป่งเทียม ใส่หลุมแล้วฝังกลบในดินโป่งเดิม เพื่อเป็นการเพิ่มแร่ธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตของสัตว์ป่า ได้มาคุ้ยกินดินโป่ง ยังผลให้สัตว์ป่าเจริญเติบโต และมีการขยายพันธุ์เพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นต้องเพิ่มแร่ธาตุอาหารในดินให้เพียงพอสำหรับสัตว์ป่า โดยเฉพาะ เก้ง กวาง เนื้อทราย อีเห็น กระต่าย หมูป่า ช้างป่า เริ่มชุกชุมเพิ่มมากขึ้น และมาแทะเล็มหญ้าระบัด ก่อนกินดินโป่งบริเวณ ดังกล่าว ในยามค่ำคืน ทั้งนี้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมกันดูแลรักษาผืนป่า และอนุรักษ์สัตว์ป่า ให้คงอยู่สืบต่อไป
นายวิทูร เดชประมวลพล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง กล่าวว่า อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงมีพื้นที่กว่า 7 แสนไร่ ครอบคลุมจังหวัดพิษณุโลก และเพชรบูรณ์ มีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ทั้งป่าดิบเขา ป่าดิบชื้น และป่าเบญจพรรณ ฯลฯ จึงเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหลากหลายชนิด ขณะนี้สามารถเห็นสัตว์ป่าเดินในทุ่งหญ้าสะวันนา โดยเฉพาะ เก้ง กว้าง และเนื้อทราย ยังผลให้มีกิจกรรมการส่องสัตว์ในยามค่ำคืน ช่วยสร้างสีสันและบรรยากาศการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น สำหรับอุณหภูมิในพื้นที่ช่วงนี้อยู่ที่ 16 -24 องศาลเซลเซียส ถือว่าอากาศกำลังเย็นสบาย อาจจะมีฝนตกเล็กน้อยในช่วงเย็นถึงค่ำ และกิจกรรมทำโป่งเทียมในครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะให้ประชาชนทุกคนได้มีส่วนร่วมในการดูแลผืนป่า และรักษาสัตว์ป่าเหล่านี้ให้คงอยู่คู่สังคมไทย สืบต่อไป
สำหรับโป่ง คือ บริเวณหรือพื้นที่ที่สามารถพบแร่ธาตุชนิดต่างๆ ที่จำเป็นต่อร่างกายและการดำรงชีวิตของสัตว์ป่าสัตว์ป่า โดยเฉพาะสัตว์ป่าที่กินพืชเป็นอาหาร เช่น ช้างป่า เป็นต้น เนื่องจากพืชที่สัตว์กินเข้าไปไม่มีส่วนประกอบของแร่ธาตุดังกล่าว สัตว์จึงต้องทดแทนโดยการกินดินหรือดื่มน้ำจากโป่งแทน โป่งที่พบโดยทั่วไปมีอยู่ 2 แบบ คือ โป่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และโป่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เรียกว่า โป่งเทียม ซึ่งโป่งเทียมเป็นโป่งที่มีลักษณะเป็นโป่งดิน โดยการขุดดินให้เป็นแอ่ง แล้วนำเกลือสมุทรเทลงผสมกับดินบริเวณที่ขุด เมื่อมีฝนตกหรือความชื้นจากน้ำค้าง เกลือก็จะละลายทำให้ดินเค็มและกลายเป็นอาหารให้กับสัตว์ป่า
อุทยานฯได้ร่วมกับชุมชนต.ชมพู ทำโป่งเที่ยมมาอย่างต่อเนื่องทุกปี รวมถึงได้ปลูกพืสำหรับเป็นอาหารช้างไว้บริเวณรอบโป่งเทียม อาทิ หญ้าเนเปีย ต้นไผ่ เมื่อช้างป่ามากินโป่ง ก็จะมีอาหารกิน ลดปัญหาช้างป่าออกนอกเขตอุทยานออกไปกัดกินทำลายพืชไร่ของเกษตรได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันตามแนวขอบอุทยานฯแทบไม่มีปัญหาช้างในเขตอุทยานที่มีอยู่ประมาณ 40 ตัว ออกไปทำลายพืชผลของชาวบ้าน
……………………………………………………………………….