แบ็งก์ออมสินจัดโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ประจำปี 2562

นายดำหริ ตันเยี่ยน ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารออมสิน หน่วยสถาบันการเงินและชุมชน ภาค 7 ได้กล่าวว่า โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ประจำปี 2562 จัดขึ้นเพื่อบูรณาการภูมิปัญญาและวิทยาการสมัยใหม่ของสถาบันอุดมศึกษากับภูมิปัญญาและทรัพยากรท้องถิ่น สร้างกระบวนการในการเสริมสร้างและพัฒนา ยกระดับขีดความสามารถในการประกอบการของกลุ่มชุมชนที่รวมตัวกันสร้างผลิตดภัณฑ์หรือบริการให้มีศักยภาพ มีมูลค่าเพิ่ม สามารถยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์หรือบริการ ให้ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดซึ่งเป็นการเสริมความมั่นคงในอาชีพ และรายได้ รวมถึงสามารถให้ชุมชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างยั่งยืน


นายดำหริ ตันเยี่ยน ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารออมสิน หน่วยสถาบันการเงินและชุมชน ภาค 7 ได้กล่าวต่อว่าสำหรับประโยชน์จากโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่นในครั้งนี้ ทุกฝ่ายจะได้รับประโยชน์ทั้งกลุ่มองค์การชุมชนสามารถสร้างโอกาสทางการตลาดและการแข่งขันส่งผลต่อความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจบานรากอย่างยั่งยืน สถาบันอุดมศึกษาสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวิทยาการสมัยใหม่ที่สามารถสร้างประโยชน์เป็นรูปธรรม มีแนวทางในการพัฒนาหลักสูตรที่มีประสิทธิภาพ นักศึกษาเองก็ได้รับความรู้ความเข้าใจคือเห็นคุณค่าของทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่น สามารถฝึกทักษะการเป็นผู้ประกอบการ มีโอกาสพัฒนาเป็นอาชีพเพื่อให้มีรายได้เลี้ยงตนเองได้ ทางธนาคารออมสินเอง ก็ได้รับความรู้ความเข้าใจในบริบทของธุรกิจชุมชนที่สามารถพัฒนาธุรกิจของธนาคารให้ตอบสนองความต้องการของชุมชนได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ ทำให้ลดความเสี่ยงด้านสินเชื่อและมีฐานลูกค้าเพิ่มมากขึ้น


สำหรับโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ประจำปี 2562 ในครั้งนี้ มีนิสิต-นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยนเรศวร เข้าร่วมทั้งสิ้น 8 โครงการ โดยทางออมสินได้สนับสนุนเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 3 ด้าน คือด้านการสนับสนุนกลุ่มองค์กรชุมชน ด้านการสนับสนุนนักศึกษาและอาจารย์ที่ปรึกษาในการทำงาน และด้านการบริหารจัดการของสถาบันอุดมศึกษา โดยกลุ่มที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ประจำปี 2562 ได้แก่กลุ่มคนเอาถ่าน ได้รับรางวัลเงินสด 15,000 บาทและได้เป็นตัวแทนเข้าแข่งขันในระดับประเทศในช่วงเดือน พฤศจิกายน 2562 นี้
นางสาวปานตะวัน กองละคร สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ปี 4 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ตัวแทนของกลุ่มคนเอาถ่าน ได้บอกว่ากลุ่มของตนได้ลงพื้นที่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มคนเอาถ่านบ้านเขาปรัง ที่ผลิตถ่านคาร์บอนอัดแท่ง ถ่านกัมมันต์ และตุ๊กตาถ่านคาร์บอน โดยได้นำความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์จากถ่านคาร์บอน ใช้ความคิดสร้างสรรค์มาประยุกต์ใช้ร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น