ชาวบ้านต.ชมพูไม่ร่วมเวทีประชาคมของชลประทานหวั่นสร้างอ่างเก็บน้ำ

เวลา 09.30 น. วันที่ 12 กันยายน 2562 ที่วัดชมพู หมู่ที่ 3 บ้านชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ในวันนี้สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่  4 จ.อุตรดิตถ์ ได้ร่วมกับอำเภอเนินมะปราง และอบต.ชมพู นัดเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้านสองหมู่บ้านในตำบลชมพู เพื่อรับฟังความเห็นในการพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำคลองชมพู ที่มักจะประสบปัญหาน้ำป่าไหลหลาก และปัญหาคลาดแคลนน้ำในหน้าแล้ง โดยกำหนดการเปิดเวทีในเวลา 09.30 น. โดยมีนายอภิชาต  ธีราภรณ์ หน.ฝ่ายก่อสร้างที่1 สำนักงานก่อสร้างชลประทาน ขนาดใหญ่  4 จ.อุตรดิตถ์ พร้อมเจ้าหน้าที่ นายประเสริฐ บุญแม้น ปลัดอำเภอเนินมะปราง และอบต.ชมพู มาร่วมสังเกตการณ์

แต่ปรากฏว่าชาวบ้านม. 3 และม. 1 ต.ชมพู ที่เดินทางมาที่วัดชมพูประมาณ 200 คน ไม่ยอมเข้าไปร่วมในเวีประชาคมของอ.เนินมะปราง ด้วยหวาดเกรงว่า การเปิดเวทีประชาคมวันนี้ ฝ่ายราชการโดยกรมชลประทาน อาจจะนำรายชื่อและภาพถ่ายของชาวบ้านไปอ้างอิง ในการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำคลองชมพู ที่อยู่เหนือหมู่บ้านไปในเขตอช.ทุ่งแสลวงหลวง และเป็นโครงการที่ชาวบ้านบ้านชมพูคัดค้านมาตลอด โดยชาวบ้านได้ยืนจับกุ่มกันโดยรอบศาลาการเปรียญ ส่วนหนึ่งร่วมชูป้ายไม่เอาเขื่อน แม้ปลัดอำเภอเนินมะปรางพยายามจะชี้แจงให้ชาวบ้านว่า การเปิดเวทีประชาคมวันนี้ ชลประทานต้องการมารับฟังความเห็นสิ่งที่ชาวบ้านต้องการพัฒนาแหล่งน้ำ ไม่เกี่ยวกับโครงการก่อสร้างอ่างเก็ยน้ำคลองชมพู แต่ชาวบ้านก็ไม่รับฟัง ในที่สุดการประชุมก็ไม่เกิดขึ้น ชาวบ้านสลายตัวในเวลา 10.00 น.

นายโม  คำคูน ประธานเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำคลองชมพู เปิดเผยว่า เหตุผลที่ชาวบ้านต.ชมพูไม่เข้าร่วมเวทีประชาคมวันนี้ เพราะชาวบ้านมีจุดยืนไม่เอาเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีแผนก่อสร้างในต.ชมพู อ.เนินมะปราง แม้ว่าในพื้นที่เพิ่งจะประสบภัยน้ำป่าไหลหลากท่วมหมู่บ้าน แต่เขื่อนถ้าแตกขึ้นมาจะเป็นภัยพิบัติที่มากกว่าภัยน้ำหลาก มีบทเรียนมาแล้วในประเทศลาว และชาวบ้านตำบลชมพูก็มีบทเรียนจากกรณีการสร้างโรงโม่หินในอดีต ที่ชาวบ้านในต.ชมพูคัดค้านการก่อสร้าง แต่ไปร่วมประชาคม กลับเป็นว่าชาวบ้านเห็นด้วยกับการสร้างโรงโม่หิน ซึ่งได้ต่อสู้กันมาอย่างยาวนาน ครั้งนี้จึงหวาดละแวง เกรงว่าถ้าเข้าไปร่วมรับฟังและลงชื่อ จะถูกนำรายชื่อและภาพถ่าย ไปนำเสนอว่าชาวบ้านเห็นด้วยกับการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองชมพู ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ต้นน้ำคัดค้านมาตลอด ขณะที่ชลประทานจะมารับฟังความเห็นในการพัฒนาแหล่งน้ำจากชาวบ้านนั้น ในอดีตชาวบ้านก็มีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กของชาวบ้าน แต่นำเสนอไปก็ไม่ได้รับความสนใจ

นายอภิชาต  ธีราภรณ์ หน.ฝ่ายก่อสร้างที่1 สำนักงานก่อสร้างชลประทาน ขนาดใหญ่  4 จ.อุตรดิตถ์ เปิดเผยว่า การเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากชาวบ้านในต.ชมพูวันนี้ ไม่ใช่การมารับฟังความเห็นถึงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองชมพูแต่อย่างใด เป็นการมารับฟังความเห็นของชาวบ้านในพื้นที่ ว่าต้องการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก หรือ ประตูระบายน้ำต่าง ๆ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ในในฤดูแล้ง เพราะรู้อยู่แล้วว่าชาวบ้านไม่ต้องการอ่างเก็บน้ำ โดยสำนักก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ 4 ได้รับการประสานจากอำเภอเนินมะปรางให้มารับฟังความเห็นจากชาวบ้าน แต่วันนี้ยังไม่ทันได้เปิดเวที ชาวบ้านก็ไม่เข้าร่วมแล้

นายอภิชาต เผยต่อว่า สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำคลองชมพูนั้น แม้ว่าจะมีการศึกษาออกแบบไปแล้ว แต่ยังไม่ได้มีการอนุมัติดำเนินการสร้างอย่างใด ณ เวลานี้ กรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมมีความเห็นให้ขยับสถานที่ตั้งเขื่อน ถ้าไม่ขยับก็ต้องปรับปรุงรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม 37 ข้อ ณ ปัจจุบัน ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ

อนึ่ง บ้านชมพู ต.ชมพู มักจะประสบภัยน้ำป่าไหลหลากจากคลองชมพูไหลท่วมหมู่บ้านเป็นประจำในหน้าฝน ปีนี้เกิดเมื่อวันที่ 30-31 สิงหาคม  2562 แต่ชาวบ้านในพื้นที่ยังคงยืนยันคัดค้านการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองชลชมพู ที่กรมชลประทานได้ศึกษาออกแบบมาร่วม 20 กว่าปีแล้ว  อ่างเก็บน้ำคลองชมพู ตามข้อมูลของกรมชลประทานที่เคยศึกษาและออกแบบระบุว่า โครงการอ่างเก็บน้ำคลองชมพู   ที่ตั้งโครงการ ต.ชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ( อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง ) พิกัดโครงกา  : 47 QPU 830451 ระวาง 5142 พื้นที่รับน้ำฝน 342.50  ตร. กม.  ปริมาณน้ำท่า 150  ล้าน ลบ.ม./ ปี ปริมาณน้ำนองสูงสุด : 690  ลบ.ม./วินาที หัวงาน เขื่อนดินกว้าง 10 เมตร ยาว 1,100 เมตร สูง 49.50 เมตร ระบบส่งน้ำ  103,800 ไร่ (ฤดูฝน 103,800 ฤดูแล้ง 17,600)  พื้นที่ชลประทานตอนบน (ก่อสร้างระบบใหม่)จำนวน 35,500 ไร่  พื้นที่ตั้งถิ่นฐานใหม่ จำนวน 1,800 ไร่ พื้นที่โครงการวัดตายม จำนวน 53,000 ไร่ และพื้นที่ท้ายโครงการ 13,500 ไร่ ความจุเก็บกัก  86.26 ล้าน ลบ.ม.ความจุใช้งาน  84.40 ล้าน ลบ.ม. ราคาค่าก่อสร้าง 1,302.71 ล้านบาท รายละเอียดดังนี้ เขื่อนและอาคารประกอบ  655.87 ล้านบาท  ระบบส่งน้ำ 400.85 ล้านบาท ระบบระบายน้ำและป้องกันอุทกภัย   245.99 ล้านบาท

 

 

แสดงความคิดเห็น