บ้านน้ำจวง เดินหน้าทำนาขั้นบันได รับนักท่องเที่ยวชมแหล่งชาติธรรมและวิถีชนเผ่า ปีนี้

วันนี้(16 มิ.ย.) นายมนิตย์ สีฆสัมบันน์ นายกสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือจังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วยหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 34 สำนักงานพัฒนาภาค3 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย   ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 13 บ้านน้ำจวง และหมู่ 16 บ้านน้ำจวงใต้  ชาวบ้าน กลุ่มท่องเที่ยวในชุมชน โดยชุมชนบ้านน้ำจวงอย่างยั่งยืน  ได้ร่วมกันวางแนวทางในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวบ้านน้ำจวงเพื่อ สืบสาน รักษา ต่อยอด พัฒนา โครงการอัน เรื่องมาจากพระราชดำรินาขั้นบันไดบ้านน้ำจวง สู่การท่องเที่ยว เมืองรอง ซาปาเมืองไทย @ บ้านน้ำจวง ตำบลบ่อภาค อำเภอชาติตระการ  จังหวัดพิษณุโลก

โดยชาวบ้านทั้ง 2 หมู่บ้าน ได้ร่วมกันปลูกข้าวโค้ง หรือ ข้าวหอมมะลิม้ง และ ข้าวเจ้าเขา ทั้งสองพันธุ์เป็นข้าวเจ้าพันธุ์พื้นเมืองที่ชาวไทยภูเขาเผ่าม้งบ้านน้ำจวงจะปลูกไว้อุปโภคบริโภคกันทุกปี   ในแปลงนาที่เตรียมไว้ บนเนิน 2 เต้า ซึ่งเป็นจุดท่องเที่ยวนาขั้นบันไดบ้านน้ำจวง กว่า  500 ไร่ ที่สวยงาม  เพื่อเตรียมรับนักท่องเที่ยวได้มาชมวิถีชีวิตของชนเขาเผ่ามั้งในการทำนาแบบขั้นบันได้ ที่สวยงามไม่แพ้ที่ใด นอกจากนี้ในพื้นที่บ้านน้ำจวงแห่งนี้ ตั้งแต่ช่วงฤดูฝนจนถึงสิ้นฤดูหนาว นักท่องเที่ยวยังสามารถสัมผัสกับธรรมชาติที่สวยงาม ทั้งชมน้ำตกตาดปลากั้ง อ่างเก็บน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริบ้านน้ำจวง โฮมเตย์ที่น่าพักผ่อน   ซึ่งจะส่งผลให้ชาวบ้านบ้านน้ำจวง จะได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้จากนักท่องเที่ยว

นายยี แซ่หยาง อดีตผญบ.ม.13 บ้านน้ำจวง เปิดเผยว่า บ้านน้ำจวงเหนือและบ้านน้ำจวงใต้เป็นหมู่บ้านของชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง สภาพพื้นที่อยู่ใจกลางหุบเขาสูงประมาณ 1,000 เมตร ประชากรประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก การปลูกข้าวแต่เดิมใช้วิธีปลูกแบบข้าวไร่ หรือ ข้าวนาหยอด ที่ทำตามหุบเขา ใช้พันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่ทำสืบต่อกันมาสองสายพันธุ์หลัก คือ ข้าวเจ้าเขา และ ข้าวโค้ง ซึ่งเป็นข้าวเจ้าที่ชาวม้งปลูกไว้เพื่อการบริโภคในครัวเรือน   แต่การปลูกข้าวแบบดั้งเดิมหรือข้าวไร่ จะต้องเปลี่ยนที่ปลูกทุก ๆ 2-3 ปี ถ้าใช้พื้นที่เดิม ผลผลิตจะลดลง และอุปสรรคสำคัญคือ พื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้านน้ำจวงมีไม่มากพอ โดยรอบหมู่บ้านและพื้นที่ทำกินเป็นป่าอนุรักษ์ ไม่สามารถขยายพื้นที่ทางการเกษตรได้

ต่อมาช่วงประมาณปี 2547 กรมพัฒนาที่ดิน กรมการข้าว ได้เข้ามาส่งเสริมการทำนาข้าวบันไดที่บ้านน้ำจวง กรมการข้าวได้มาดูแลเรื่องพันธุ์ข้าว ที่พวกเราใช้สายพันธุ์พื้นเมืองปลูกเพื่อการอุปโภคบริโภคในครัวเรือน พัฒนาที่ดินจังหวัดพิษณุโลก ได้ให้งบประมาณและมาให้คำแนะนำในการทำนาขั้นบันได การปรับสภาพดิน การปลูกหญ้าแฝกลดการพังทลายของดิน การทำปุ๋ยหมัก ปัจจุบัน มีการทำนาขั้นบันได 1,600 ไร่  ประโยชน์ที่ได้จากการปรับสภาพพื้นที่มาทำนาขั้นบันได ทำให้สามารถใช้ประโชย์พื้นที่ได้อย่างเต็มที่ สามารถปลูกข้าวต่อเนื่องได้ทุกปี  ต่างจากวิธีเดิมที่ทำข้าวไร่ ที่จะต้องพักหน้าดินและเปลี่ยนพื้นที่ปลูก เพราะถ้าปลูกในพื้นที่เดิมจะได้ผลผลิตข้าวลดลดลง เช่น ทำข้าวไร่ ปีแรกจะได้ 50 ถุง ปีถัดไปจะลดลงเหลือ 30 ถุง เมื่อปรับมาทำนาแบบข้าวบันไดแล้ว ชาวบ้านสามารถใช้พื้นที่เดิมปลูกข้าวซ้ำได้ และได้ปริมาณผลผลิต มากกว่าวิธีปลูกแบบข้าวไร่ สำหรับ ข้าวที่ปลูกจะทำเป็นข้าวนาปี ปีละหนึ่งครั้ง ใช้ระยะเวลาการเก็บเกี่ยวประมาณ 4-5 เดือน เริ่มปลูกช่วงต้นฤดูฝนในเดือนมิถุนายน เก็บเกี่ยวช่วงต้นฤดูหนาว และในทุก ๆ ปีประมาณวันที่ 19-20 ตุลาคม บ้านน้ำจวงจะจัดงานประเพณีกินข้าวใหม่ นำข้าวที่ปลูกมาร่วมกินฉลองกัน 

นายเลี่ยเสอ   แซ่หยาง   อายุ 63 ปีชาวบ้านน้ำจวงหมู่ 13 ต.บ่อภาค ที่มีที่นาขั้นบันไดอยู่บริเวณเนินสองเต้า และได้ปรับพื้นที่จากทำนาไร่แบบหยอด มาเป็นนาขั้นบันไดได้ 5 ปีแล้ว เปิดเผยว่า ในทุกปีตนจะทำนาไว้บริโภคในครัวเรือน จากเดิมเคยทำข้าวไร่ แต่หลังจากปรับมาเป็นนาขั้นบันไดแล้ว ทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น มากกว่าการทำนาแบบข้าวไร่ เพราะปลูกแบบข้าวไร่จะมีปลวกมากินราก ข้าวไม่งาม แต่ปลูกแบบนาขั้นบันได ทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น และเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคในครัวเรือน

นายเสมอ สงศิลาวัต ชาวบ้านน้ำจวง อายุ 62 ปี ที่ปรับพื้นที่มาทำนาขั้นบันไดจำนวน 10 ไร่ เปิดเผยว่า การทำนาขั้นบันได ยังคงเป็นการทำนาหยอดเหมือนเดิม กับที่เคยทำข้าวไร่แบบเดิม แต่แตกต่างจากการปรับพื้นที่ พื้นที่ปลูกจะราบ เก็บน้ำได้ ไม่ลาดชัน  และ ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น  และเราสามารถใช้ที่เดิมปลูกข้าวได้ทุกปี ถ้าทำข้าวไร่ เราจะไม่สามารถทำได้ทุกปี ต้องเว้นพื้นที่ไว้ 2-3 ปีจึงจะกลับมาปลูกที่เดิมได้

นางรุจิราภรณ์    ปันปวง นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษสถานีพัฒนาที่ดินพิษณุโลก กรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า ชาวบ้านน้ำจวงได้ยื่นฏีกาถวายราชินีในรัชกาลที่ 9 ถึงปัญหาที่ดินทำกินไม่เพียงพอ ช่วงนั้นหลายหน่วยงานในจังหวัดพิษณุโลกได้มาประชุมหารือกัน ได้ข้อสรุปว่า นาขั้นบันได น่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด กรมพัฒนาที่ดิน ได้เริ่มเข้ามาในช่วงปี 2549 เริ่มจากลองผิดลองถูก และทำตามที่ชาวบ้านต้องการ ช่วงแรกไม่ประสบความสำเร็จ และค่อย ๆ ปรึกษากับชาวม้งเริ่มปรับพื้นที่ ออกแบบ มีการจัดระดับ วางแนวนาขั้นบันได  มีฝ่ายสำรวจ ฝ่ายแผนที่ ฝ่ายวิเคราะห์ดินเข้ามาช่วยเหลือ และเริ่มทำขั้นบันไดดินให้ได้ระดับ ปลูกหญ้าแฝกเพื่อลดการพังทลายของหน้าดิน มีการใช้ปุ๋ยหมักจากขี้วัวมาหมักกับหญ้าแห้ง มีสารปรับปรุงบำรุงดิน ใช้น้ำหมักชีวภาพเป็นฮอร์โมนพืช จนปัจจุบันมีการปรับสภาพพื้นที่เป็นขั้นบันได 1,000 กว่าไร่แล้ว ยังคงเหลือการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อจะให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ตลอดปี เพราะปัจจุบัน การปลูกข้าวทำได้ปีละ 1 ครั้ง ในช่วงฤดูฝนเท่านั้น

วิถีชีวิตการทำนาขั้นบันไดบ้านน้ำจวงบนเทือกเขาสูง 1,000 เมตร นอกเหนือจากเป็นการใช้ประโยชน์พื้นที่ที่มีจำกัดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว ยังเป็นมนตเสน่ห์ด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญของจจังหหวัดพิษณุโลกอย่างมาก ในช่วงฤดูหนาว บ้านน้ำจวงเหนือและบ้านน้ำจวงใต้สภาพอากาศจะหนาวเย็นถึงหนาวจัด ที่ศูนย์บริการการท่องเที่ยวบ้านน้ำจวง ได้ปรับพื้นที่นาขั้นบันได ปลูกไม้ดอก และพืชผลเมืองหนาว ช่วงเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไปจะงดงามอย่างมาก

ด้านนายมนิตย์ สีฆสัมบันน์ นายกสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า ทางสมาคมสมาพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือ จ.พิษณุโลก พร้อมด้วยหลายหน่วยงานจะได้เข้ามาส่งเสริมให้ชาวบ้านบ้านน้ำจวง หันมาทำนาแบบขั้นบันได้มากขึ้น เพื่อให้เป็นแหล่งปลูกข้าวม้ง อีกทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบยั้งยืน โดยขณะนี้จากการสำรวจพบว่ามีขาวเขาเผ่าม้งบ้านน้ำจวง เริ่มหันมาให้ความสนใจเปลี่ยนพื้นที่ปลูกขิง มาทำนาแบบขั้นบันได้มากขึ้น เพราะว่าหลังจากเกี่ยวข้าวแล้ว พื้นที่ก็ยังสามารถปลูกดอกไม้ หรือ ผัก ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้อีกด้วย  จึงอยากให้นักท่องเที่ยวได้มาสัมผัส สำหรับระยะทางมาจากตัวเมืองพิษณุโลกประมาณ 140 กิโลเมตร เส้นทางสะดวก มีโฮมสเตย์รองรับนักท่องเที่ยวกว่า 100 หลัง

////////////

 

แสดงความคิดเห็น