พิษณุโลก ตาเล็กชาวอ.วัดโบสถ์ ในวัย 73 ปี วอน เยาวชนคนรุ่นใหม่ร่วมกันสืบสานการทำว่าวจากก้านมะพร้าว ใช้ก้านมะพร้าวทำโครง และใช้ถุงขยะหลากสีมาแทนกระดาษ ทำขายมาหลายสิบปีแล้ว แต่ปัจจุบันการเล่นว่าวเริ่มเลือนหายไป เด็กยุคใหม่ไปสนใจมือถือมากกว่า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทีบ้านเลขที่ 75 ม.3 บ้านหนองช้างตาย ต.ท่างาม อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นบ้านพักของคุณตาเล็ก หรือ นายวิบูลย์ อินทร์คล้าย อายุ 73 ปี ที่ทำป้ายไวนิลขนาดใหญ่ติดไว้หน้าบ้านว่า..อภินิหารก้านมะพร้าว.. ผู้สื่อข่าวจึงเข้าไปสอบถามว่าคืออะไร
เมื่อเข้าไปภายในบ้านก็พบกับว่าว ชนิดต่างๆ จำนวนมาก จึงทราบว่า อภินิหารก้านมะพร้าวก็คือว่าวเหล่านี้ที่ทำโครงขึ้นมาจากก้านมะพร้าวที่หาได้ง่ายภายในท้องถิ่น คุณตาเล็ก ได้เล่าให้เราฟังว่า ย้อนไปสัก 60 กว่าปีที่แล้ว คุณตาอายุเพียง 13 ปี อยู่ในครอบครัวที่ยากจน สมัยนั้นคนมีเงินเค้าเล่นว่าวกันสนุกสนาน เพราะว่าวในสมัยก่อน เป็นของเล่นที่สนุกสนานมากที่สุด จนเป็นที่มาของฤดูเล่นว่าว คุณตาเล็กบอกว่า คุณตาไม่มีเงินซื้อหรอกว่าวสมัยนั้นราคาตัวละ 50 สตางค์ ก็อาศัยไปนั่งดูเค้าทำ แล้วจดจำมาเริ่มทำเอง ลองผิดลองถูก จนสุดท้ายมีว่าวเล่นเป็นของตัวเอง จากวันนั้นถึงวันนี้ 60 ปี ที่คุณตาเล็กยึดเป็นอาชีพทำว่าวขาย
คุณตาเล็กบอกต่ออีกว่า ช่วงเริ่มทำใหม่ๆ ก็เห็นปัญหาที่ว่าวเมื่อติดลมบนแล้วไม้หรือปีกว่าวก็มักจะหัก หรือไม่กระดาษว่าวเมื่อเจอลมบนแรงๆ ก็มักจะขาด ก็มานั่งคิดหาวิธีที่ทำให้ว่าวเล่นได้นานขึ้น ให้คุ้มค่าของคนที่เอาเงินมาซื้อ ตนหันไปเห็นใบมะพร้าวมันโดนลมปลิวไสว เลยคิดว่าถ้าเอาก้านมะพร้าวมาทำจะไปอย่างไร ส่วนกระดาษว่าวที่บอบบาง เจอลมแรงก็ขาด ร่วงน้ำก็เปียก อยากได้อะไรที่เหนียวๆ และเบา ตนก็หันไปเห็นถุงขยะ ก็เลยเป็นที่มาของคำว่า อภินิหารก้านมะพร้าว เพราะตนทำได้สำเร็จ ใช้ก้านมะพร้าวมาทำโครงว่าว ประหยัด ไม่ต้องเหลา ไม่ต้องลงทุน แถมเหนียวโต้ลมได้เป็นอย่างดี ส่วนถุงขยะที่นำมาตัดแปะโครงแทนกระดาษว่าว ก็อุ้มลมได้ดีมาก ยิ่งสมัยนี้ถุงขยะมีหลากสีสัน ทั้งแบบเดิมคือสีดำ ก็มีสีชมพู สีเขียว สีม่วง ทำให้ว่าวของตนก็มีสีสันมากยิ่งขึ้น ทำว่าวขายมาแล้วหลายพันตัว ขายตั้งแต่ราคา 50 สตางค์ ไปจนถึง 200 บาทในปัจจุบัน
ตาเล็กบอกต่ออีกว่า แต่ในช่วง 4 ปีหลังมานี้ ตนต้องวางมือจากการทำว่าว แล้วไปหาจับปลา เก็บผักขาย หารายได้เลี้ยงครอบครัวแทน เพราะการเล่นว่าวนั้นเริ่มถูก โซเชียลมีเดีย กลืนกลิ่นเข้าไป ทำให้เด็กรุ่นใหม่ หันมาเล่น คอมพิวเตอร์ เล่นโทรศัพท์มือถือมากขึ้น และไม่ค่อยสนใจกลับไปเล่นว่าว ทำให้ยอดขายว่าวลดลงอย่างเห็นได้ชัด ตนเองรู้สึกเสียดาย ความรู้ ที่ตนสั่งสมคิดค้นลองผิดลองถูกมา 60 กว่าปี จนปัจจุบันมีว่าวถึง 10 ประเภท อาทิ ว่าวปักเป้า จุฬา จุฬาแปลง ว่าวนกยูง ว่าวไอพ่น แบทแมน ว่าวนกอินทรี นกฮูก และว่าวที่ตนภูมิใจมาที่สุดคือ ว่าวที่อนุรักษ์ความเป็นไทย
ก็เลยอยากจะถ่ายทอดให้กับคนที่อยากจะมีความรู้เก็บไว้ถ่ายทอดต่อให้กับเยาวชนคนรุ่นหลังต่อไป ให้ร่วมกันอนุรักษ์ประเพณีการเล่นว่าวเอาไว้ให้อยู่คู่กับคนไทย หากใครสนใจ หรือทางครูอาจารย์อยากจะเชิญตนไปให้ความรู้หรือเป็นวิทยากรตามโรงเรียนต่างๆ ตนก็ยินดี ติดต่อได้ทางหมายเลขโทรศัพท์ 0931988980