พิษณุโลก อธิบดีกรมศิลปากร ผวจ.พิษณุโลก กองทัพภาคที่ 3 กลุ่มประชาชนชาวพิษณุโลก ร่วมพิธีบวงสรวงงานส่วนต่อเติมศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช หลังจากปี 2561 ชาวพิษณุโลกยื่นหนังสือคัดค้านอาคารพระตำหนักหลังใหม่ ที่บดบังศาลหลังเดิมออก กระทั่งได้ข้อสรุปทำการรื้อออก กรมศิลปากรออกแบบ สร้างใหม่เป็นรูปตัวยู หรือ รูปเกือกม้า สร้างด้านหลังศาลฯหลังเดิม วงเงิน 22 ล้านบาท จะทำให้สง่างาม สมพระเกียรติ แล้วเสร็จในเดือนกันยายน
เวลา 09.09 น. วันที่ 22 เมษายน 2562 ที่ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภายในพระราชวังจันทน์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก มีพิธีบวงสรวงสักการะ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช บริเวณด้านหน้าอาคารพระตำหนัก ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เพื่อจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างงานส่วนต่อเติมศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตามรูปแบบที่กรมศิลปากรออกแบบใหม่ เป็นลักษณะอาคารรูปเกือกม้า ด้านหลังศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชหลังเดิม ขณะที่อาคารพระตำหนักหลังใหม่ ที่ก่อสร้างเป็นอาคารขนาดใหญ่ด้านหน้าศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ชาวพิษณุโลกออกโรงต้านคัดค้านเมื่อกลางปี 2561 ที่ผ่านมานั้น ก็จะเริ่มดำเนินการรื้อถอนออกไปพร้อมกันด้วย
พิธีบวงสรวงสมเด็จพระนเรศวรมหาราชวันนี้ ประกอบด้วยพลโทสุเชษฐ์ ตันยะเวช ผู้อำนวยการ ศูนย์ประสานความมั่นคงกอ.รมน,ภาค 3 ผู้แทนแม่ทัพภาคที่ 3 นายพิพัฒน์ เอกภาพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร นายมนต์ชัย วิวัฒนธนาฒย์ นายกอบจ.พิษณุโลก พลเอกดร.ศิริ ทิวพันธุ์ นายกสมาคมผู้เสียสละจังหวัดพิษณุโลก และชาวพิษณุโลก โดยเฉพาะศิษย์เก่าโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม ที่รวมตัวกันในนามกลุ่มเรารักษ์ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และเป็นกลุ่มที่ดำเนินการยื่นหนังสือคัดค้าการก่อสร้างอาคารพระตำหนักหลังใหม่ เนื่องจากก่อสร้างขนาดใหญ่ และบดบังด้านหน้าศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ( หลังเดิม ) นำโดยพ.อ.เชาว เกตุดี และนายมนตรี ศรีภิรมย์ เลขาฯ พ.พ.14-16 ศิษย์เก่าโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม ประมาณ 100 คน เข้าร่วมพิธี
สำหรับบรรยากาศพิธีในการบวงสรวงสมเด็จพระนเรศวรมหาราชวันนี้ ผู้เข้าร่วมพิธีได้พร้อมเพรียงกันบริเวณหน้าศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชหลังเดิม นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ประธานในพิธีจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย และเทียนธูปบวงสรวง เจ้าหน้าที่จุดธูป 108 ดอก มอบให้ผู้ประกอบพิธี ร่วมปักธูปหาง เครื่องสังเวย ผู้ประกอบพิธีบวงสรวงประกอบพิธีตามลำดับ ประธานในพิธีโปรยข้าวตอก ดอกไม้ ใช้เวลาในพิธีประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้น พ.อ.เชาว เกตุดี ผู้แทนชาวพิษณุโลกที่คัดค้านการก่อสร้างอาคารพระตำหนักหลังใหม่ ได้มอบช่อดอกไม้และพระเครื่องให้กับอธิบดีกรมศิลปากร
การดำเนินการรื้ออาคารพระตำหนักหลังใหม่ และก่อสร้างอาคารต่อเติมศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อธิบดีกรมศิลปากรได้ทำหนังสือชี้แจง กลุ่มประชาชนชาวพิษณุโลกที่คัดค้านการก่อสร้างอาคารพระตำหนักหลังใหม่ ใจความว่า ตามที่ได้ประชุมร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือร่วมกันถึงปัญหาและแนวทางแก้ไขเพื่อให้ได้ข้อยุติ กรณีก่อสร้างอาคารพระตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งสรุปประเด็นจากการประชุม มีมติไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างอาคารพระตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราชหลังใหม่ และบดบังศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชหลังเดิม ซึ่งทุกฝ่ายที่ประชุมประกอบด้วย พลโทวิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 ( ปี 2561 ) นายภัคพงศ์ ทิวพัฒน์ ผวจ.พิษณุโลก ( 2561 ) และนายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร มีความเห็นร่วมกันว่า จะดำเนินการย้ายอาคารพระตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราชหลังใหม่ ไปก่อสร้าง ณ ตำแหน่งใหม่ ที่ไม่บดบังศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชหลังเดิม โดยกรมศิลปากรเป็นผู้กำหนดตำแหน่งการก่อสร้างที่เหมาะสม
โดยบริเวณพิธี กรมศิลปากร ได้นำรูปแบบการออกแบบงานส่วนต่อเติมศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภายในพระราชวังจันทน์ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.พิษณุโลก มาติดตั้งให้ชาวพิษณุโลกได้ชม ซึ่งจะดำเนินการในรูปเกือกม้า ด้านหลังศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชหลังเดิม ไปพร้อมกับดำเนินการรื้อถอน อาคารพระตำหนักหลังใหม่ โดยสำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย ได้ดำเนินการตามสัญญาจ้างเลขที่ 7/2562 กับหจก.เหมลักษณ์การก่อสร้าง ค่าก่อสร้าง 22,200,000 บาท เริ่มสัญญาวันที่ 10 เมษายน 2562 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 30 กันยายน 2562 รวมระยะเวลาดำเนินการ 174 วัน
นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากรให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า วันนี้เป็นวันที่กรมศิลปากร จังหวัดพิษณุโลก และอบจ.พิษณุโลก ได้ร่วมกันทำพิธีบวงสรวงที่จะเริ่มดำเนินการปรับปรุงศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทั้งปรับปรุงอาคารที่สร้างมา ( พระตำหนักหลังใหม่ ) ที่สร้างมาแล้วชาวพิษณุโลกเห็นว่าบดบังศาลหลังเดิม ไม่สง่างาม ซึ่งกรมศิลปากรได้ออกแบบใหม่เรียบร้อยแล้ว วันนี้บวงสรวงตามคติความเชื่อ ทั้งขอขมา ขอพระราชทานพระราชานุญาติจากดวงพระวิญญาณสมเด็จพระนเรศวรมหาราช วันนี้เป็นฤกษ์ดีที่บวงสรวงดำเนินการ นับแต่พรุ่นนี้เป็นต้นไปก็จะเริ่มดำเนินการปรับปรุง หลังจากปรับปรุงเสร็จแล้ว เชื่อมั่นว่า ความสวยงาม สง่างาม สมพระเกียรติ และความภาคภูมิใจของชาวพิษณุโลกที่มีต่อศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและพระราชวังจันทน์จะกลับคืนมา และกรมศิลปากรจะปรึกษากับอบจ.พิษณุโลก ที่จะทำงานร่วมกันในการพัฒนาพระราชวังจันทน์ให้สวยงามสง่างาม สำหรับอาคารพระตำหนักหลังใหม่ที่ก่อสร้างมาแล้วนั้น จะดำเนินการรื้อออกไปพร้อมกัน โดยให้นำวัสดุบางส่วนที่ยังใช้ได้จากการรื้อถอน อาทิ กระเบื้องมุงหลังคา ไปใช้ในการมุงหลังคา อาคารรูปตัวยู หรือ รูปเกือกม้า ที่จะดำเนินการก่อสร้างใหม่ด้วย
อนึ่ง ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชหลังเดิม ตั้งอยู่ภายในพระราชวังจันทน์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระราชินีฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงทำพิธีเปิดศาลเมื่อปี 2505 ในอดีตบริเวณพระราชวังจันทน์ เป็นสถานที่ตั้งโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม ที่ต่อมาได้ย้ายโรงเรียนออกไป กรมศิลปากรได้เข้ามาบูรณะพระราชวังจันทน์ ได้รื้อถอนอาคารของโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคมทั้งหมดออกไป และขุดแต่งบูรณะโบราณสถาน คงเหลือไว้แห่งเดียวคือ ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชหลังเดิม ในรูปวงเวียนลักษณะรูปไข่ เป็นที่เคารพและสักการะของชาวพิษณุโลกและศิษฐ์เก่าโรงเรียนพิษณุโลกพิมยาคม
ต่อมาช่วงปี ช่วงปี2558 หลายภาคส่วนนำโดยกองทัพภาคที่ 3 จังหวัดพิษณุโลก วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร ได้เริ่มทำโครงการพัฒนาพระราชวังจันทน์ และกำหนดสร้างพระตำหนักศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชขึ้นมา เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติ และเป็นอนุสรณ์สถานแด่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีการทำวัตถุมงคลเพื่อนำรายได้มาพัฒนาพระราชวังจันทน์ จากเดิมออกแบบสร้างใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมไทยสมัยอยุธยาตอนต้น มีเครื่องยอดเป็นปรางค์ 5 ยอด ขนาดอาคารกว้าง 12 เมตร ยาว 49 เมตร มีพิธีเทคอนกรีต หล่อเสาเข็มเอก เพื่อเป็นปฐมฤกษ์ในการเริ่มการก่อสร้างพระตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2558 และได้เริ่มก่อสร้างฐานราก ขึ้นโครงสร้างตัวอาคารขึ้นมา ต่อมาช่วงต้นปี 2560 ได้มีการปรับรูปแบบการก่อสร้าง มีการดัดแปลงโครงสร้างส่วนหลังคาจากเดิมที่มีพระปรางค์อยู่บนยอด เปลี่ยนเป็นหลังคาทรงบุษบก ไม่มียอดพระปรางค์ – ตัวผนังพระตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระราชวังจันทน์ เป็นผนังแบบปิดโดยใช้ไม้จันทน์ หรือไม้สัก เป็นวัสดุหลัก กระทั่งถึงปี 2561 การก่อสร้างดูเสมือนไม่คืบหน้า คงค้างโครงสร้างหลักมาเป็นระยะเวลาหลายเดือน กระทั่งช่วงเดือนมีนาคม เมษายน และพฤษภาคม 2561 เริ่มมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มอนุรักษ์ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชหลังเดิมทางโซเซียล กระทั่งเริ่มกิจกรรมรณรงค์เคลื่อนไหวยื่นหนังสือต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันที่26 พฤษภาคม 2561กระทั่งวันที่ 13 กรกฏาคม 2561 แม่ทัพภาคที่ 3 อธิบดีกรมศิลปากร ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ได้ประชุมร่วมกันและได้ข้อสรุปให้รื้อย้ายอาคารพระตำหนักหลังใหม่และออกแบบอาคารใหม่ที่ไม่บดบังศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชหลังเดิม จนนำมาสู่วันนี้ 22 เมษายน 2562 ทำพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างงานส่วนต่อเติมศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตามรูปแบบที่กรมศิลปากรออกแบบใหม่
……………………………………………………………………………………………
ข่าวที่เกี่ยวข้อง 26 พฤษภาคม 2561 ยื่นหนังสือกองทัพ-จว.-กรมศิลป์ขอให้ฟื้นฟูพื้นที่รอบศาลสมเด็จพระนเรศวรฯกลับมาคงเดิม
14 กันยายน 2561 กรมศิลป์ชงอาคารใหม่รูปเกือกม้าสร้างหลังศาลสมเด็จนเรศวรมหาราช
……………………………………………………………………………………..