พิษณุโลก กองทัพภาคที่ 3 เตรียมความพร้อมรับมือโรคฮีทสโตรก ให้กับกำลังพลทหารเกณฑ์ที่ต้องฝึกกลางแดด ร่วมถึงเตือนประชาชนรับมือโรคฮีทสโตรก ขณะที่อากาศร้อนอย่างมาก
18 เมษายน 2562 จากสภาพอากาศและอุณหภูมิเฉลี่ยของภาคเหนือที่มีความร้อนสูงขึ้น อาจทำให้ประชาชนในพื้นที่เกิดการบาดเจ็บจากความร้อน หรือ Heat Injury ประกอบไปด้วยโรคที่เกิดจากความร้อนหลายโรคที่มีระดับความรุนแรงต่างกันไป ซึ่งโรคที่มีความรุนแรงสูงสุด ได้แก่ โรคลมร้อน หรือ Heat Stroke ซึ่งเป็นการบาดเจ็บจากความร้อนประเภทหนึ่งที่มีอัตราการตายสูงมาก ผู้ป่วยจะมีอุณหภูมิแกนกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส และมีความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง เช่น การพูดจาสับสน ชัก หรือถึงขั้นหมดสติ และเสียชีวิตได้
พันเอก รุ่งคุณ มหาปัญญาวงศ์ โฆษกกองทัพภาคที่ 3 กล่าวว่า ทาง พลโท ฉลองชัย ชัยยะคำ แม่ทัพภาคที่ 3 / ผู้อำนวยการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 3 มีความห่วงใยในเรื่องดังกล่าว จึงได้มอบหมายให้โรงพยาบาลทหารทั้ง 10 แห่ง ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งมีประสบการณ์ในการดูแล ทหารใหม่ในห้วงการฝึก ให้ลดอัตราเสี่ยงจากโรคลมร้อน (Heat Stroke) ทั้งนี้ได้จัดชุดเวชกรรมป้องกัน ออกรณรงค์ให้ความรู้แก่หน่วยราชการ, ภาคเอกชน และประชาชนในการเฝ้าระวัง การวินิจฉัยโรคเบื้องต้น และการรักษา อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง ซึ่งจะสามารถช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยและอัตราการเสียชีวิตลงได้
โรคลมร้อน (Heat Stroke) เป็นการบาดเจ็บจากความร้อนที่มีความรุนแรงมากที่สุด ซึ่งมีอันตรายถึงชีวิต โรคลมร้อนเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ (Acute Medical Emergency) ที่ต้องให้การวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็วถูกต้องและรักษาทันที ด้วยการทำให้อุณหภูมิร่างกายลดลงอย่างรวดเร็วและรักษาตามอาการอื่นๆ จะสามารถลดอัตราการตายของผู้ป่วยได้
โดยทางโรงพยาบาลค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ทำการสาธิตการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยโรคฮีทสโตรก โดยเฉพาะกับทหารเกณฑ์ที่ต้องฝึกกลางแจ้ง และเสี่ยงต่อเกิดโรคฮีทสโตรก ได้ โดยในการสาธิตเริ่มตั้งแต่สำรวจร่างกายที่ผู้ป่วยเกิดขึ้นกลางแดด แล้วส่งต่อมาที่ห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาล และทำการรักษาจนผู้ป่วยดีขึ้นได้ตามลำดับ
สำหรับการปฐมพยาบาลในที่เกิดเหตุเมื่อสงสัยว่าเกิดภาวะเจ็บป่วยจากโรคลมร้อน ต้องวัดอุณหภูมิทางทวารหนักได้สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ให้ทำการลดอุณหภูมิอย่างเร่งด่วนเป็นอันดับแรก โดยการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเข้าในที่ร่ม ถ้าผู้ป่วยหมดสติให้เปิดทางเดินหายใจให้โล่งจัดให้นอนท่าตะแคง เพื่อป้องกันลิ้นตกและป้องกันการสำลัก ถอดเสื้อผ้าออก เช็ดตัวด้วยผ้าชุบน้ำเย็น ใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน ประคบถุงน้ำแข็งบริเวณคอ รักแร้ และขาหนีบ จัดสภาพแวดล้อมให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก เรียกรถพยาบาลและส่งผู้ป่วยไปห้องฉุกเฉินทันที ระหว่างนำส่งห้องฉุกเฉิน ให้ออกซิเจน 4 ลิตร/นาที เช็ดตัวพ่นละอองน้ำอุณหภูมิปกติ (25-30 องศาเซลเซียส) บนผิวกายผู้ป่วย เป่าลมอุ่นลดความร้อนตลอดเวลา
ซึ่งการเตรียมความพร้อมและการให้ความรู้เกี่ยวกับ โรคลมร้อนช่วยป้องกันอัตราการเสียชีวิตและอัตราการป่วยจากโรคลมร้อนได้ การป้องกันทำได้โดย การดื่มน้ำให้มากขึ้น ลดช่วงระยะเวลาทำกิจกรรมหรือการออกกำลังกายในที่ที่มีอากาศร้อน สวมใส่เสื้อผ้าเบาสีอ่อนและหลวมพอดีตัวไม่รัดแน่น หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดด ติดตามข้อมูลจากการพยากรณ์อากาศจะช่วยบอกข้อมูลที่เป็นอันตรายจากความร้อนได้ เป็นต้น