อช.ภูหินร่องกล้าปลูกต้นรวงผึ้งเนื่องในวันป่าไม้โลก

พิษณุโลก อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ร่วมใจปลูกต้นรวงผึ้ง ต้นไม้ในพระองค์ รอบบริเวณอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า เนื่องในวันป่าไม้โลก เพิ่มประชากรป่าไม้ รักษาสิ่งแวดล้อม

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 ที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า จ.พิษณุโลก นายบูญช่วย ชุนหกิจ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า พร้อมนำเจ้าหน้าที่พนักงานในสังกัดอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า และชาวบ้านในชุมชนที่อยู่รอบพื้นที่ได้แก่ชุมชนบ้านร่องกล้า และบ้านห้วยน้ำไซ ตำบลเนินเพิ่ม อำเภอนครไทย ร่วมกิจกรรมปลูกต้นรวงผึ้ง เนื่องในวันป่าไม้โลก (World Forestry Day) จำนวน 500 ต้น ปลูกในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า เพื่อเพิ่มปริมาณประชากรต้นไม้ รักษาสิ่งแวดล้อม

สำหรับต้นรวงผึ้ง หรือสายน้ำผึ้ง เป็นต้นไม้พระจำพระองค์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 เนื่องด้วยดอกรวงผึ้งมีสีเหลืองซึ่งเป็นสีประจำวันพระราชสมภพ ต้นรวงผึ้งพบมากทางภาคเหนือ นิยมเรียกกันว่าดอกน้ำผึ้ง ลักษณะโดยทั่วไปคือ เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ ถ้าหากรับแสงแดดเต็มอยู่ในทุ่งกลางแจ้ง จะเห็นเด่นชัดเป็นพุ่มกลมขนาดใหญ่ สวยงามมาก ลำต้นนั้น แตกกิ่งค่อนข้างเล็ก เรือนยอดเป็นพุ่มมน  ใบเป็นแบบใบเดี่ยวเรียงสลับ ผิวใบด้านบนเป็นสีเขียว ด้านล่างเป็นสีน้ำตาลอมนวล  ดอกให้กลิ่นหอมได้ตลอดทั้งวัน บานได้นาน 7-10 วัน ช่อดอกดก โคนกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกัน ส่วนปลายแยกออกเป็นห้าแฉกรูปดาวและไม่มีกลีบดอก

วันป่าไม้โลก (World Forestry Day) ได้มีการเฉลิมฉลองกันต่อเนื่องเป็นเวลามากว่า 30 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้ประชาคมโลกได้เห็นถึงความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้ตลอดจนประโยชน์และผลิตผลต่างๆ ที่ได้รับจากป่าแนวคิดในการกำหนดวันป่าไม้โลกมีต้นกำเนิดมาจากการประชุมสมัชชนสมัยทั่วไปของสันนิบาตยุโรปด้านการเกษตร (European Confederation of Agriculture) ครั้งที่ 23 ในปี 2541 และในปีเดียวกันนั้นเอง องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้สนับสนุนแนวความคิดดังกล่าว โดยคาดหวังว่าจะสามารถกระตุ้นความตระหนักของสาธารณชนถึงความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้ โดยกำหนดให้มีการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องในวันที่ 21 มีนาคมของทุกปีทั่วโลก

สาเหตุที่กำหนดให้วันที่ 21 มีนาคมของทุกปีเป็นวันป่าไม้โลกนั้น เนื่องจากวันดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์อยู่ในตำแหน่งตรงได้ฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลกพอดี ซึ่งจะเกิดขึ้นปีละ 2 ครั้ง (วันที่ 21 มีนาคมและ 22 กันยายนของทุกปี) หรือในหนึ่งรอบที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ แกนหมุนของโลกที่เอียง (Earth’s axial tilt) จะเลื่อนมาอยู่ในระนาบที่ได้ฉากกับตำแหน่งดวงอาทิตย์ จุดที่ระนาบทั้งสองตัดกันว่า วิษุวัต (Equinox) เหตุการณ์นี้เรียกอีกอย่างว่า “วันราตรีเสมอภาค” หมายถึงเวลาตอนกลางคืนเท่ากับเวลากลางวันพอดี

 

และในวันที่ 21 มีนาคม ดังกล่าว ทำให้เกิดปรากฎการณ์ที่เรียกว่า “ศารทวิษุวิตของเขตซีกโลกใต้” (Autumnal equinox in Southern Hemisphere) หมายความว่า จุดที่มีกลางวันและกลางคืนเท่ากันในฤดูใบไม้ร่วง (วันศารท คือ วันเริ่มต้นของฤดูใบไม้ร่วงในซีกโลกใต้) และ วสันตวิษุของซีกโลกเหนือ (Vernal Equinox in Northern Hemisphere) หมายความว่า จุดที่มีกลางวันและกลางคืนเท่ากันในฤดูใบไม้ผลิเขตซีกโลกเหนือ

ทั้งนี้ FAO ได้เลือกวันดังกล่าวเป็นวันเฉลิมฉลองป่าไม้โลก เพื่อส่งเสริมแลประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนได้รับทราบถึงข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรป่าไม้ใน 3 ประเด็นหลัก คือ การป้องกัน (Protection) ผลิตผลป่าไม้ (Producion) และการนันทนาการ (Recreation) 

/////////////

 

แสดงความคิดเห็น