วันนี้ 20 มีนาคม 2562 ที่คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ผศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมคณะผู้วิจัย ได้เปิดตัวความสำเร็จในการจัดทำสมการวัดความหวาน มะปรางหวานและมะยงชิด ลงในเครื่องเนียร์ อินฟราเรดสเปกโตรมิเตอร์ ( NIR Spectrometer ) ที่สามารถวัดความหวานของมะปรางหวานและมะยงชิดแบบไม่ทำลายตัวอย่าง และขณะนี้อยู่ระหว่างการ พัฒนาเครื่องมือ นำมาใช้ ในราคาถูกและมีขนาดกะทัดรัด
ผศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า มะปรางและมะยงชิด เป็นผลไม้ทางเศรษฐกิจที่นิยมปลูกในแถบภาคเหนือตอนล่าง เช่น กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ตาก และสุโขทัย มีราคาแพง เพราะไม่สามารถบังคับออกนอกฤดูกาลได้และยังมีผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด มะปรางหวานและมะยงชิดที่มีรสชาติหวาน ผลใหญ่ เมล็ดเล็ก เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่การที่จะยกระดับมาตรฐาน มะปรางหวาน มะยงชิด หรือสินค้าผลไม้สดอื่นๆ ของประเทศไทยไปสู่ตลาดโลก มีอุปสรรคสำคัญในการส่งออกคือปัญหาด้านคุณภาพของผลไม้ จำเป็นต้องมีคุณภาพทั้งภายนอกและภายในที่ดีตรงตามความต้องการของลูกค้า
ดังนั้นจึงต้องมีการตรวจสอบคุณภาพเพื่อประกันคุณภาพของผลไม้ก่อนที่จะส่งออก เทคนิคเนียร์อินฟราเรดสเปกโทรสโกปี (Near Infrared Spectroscopy, NIRS) เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย เป็นเทคนิคที่ใช้คลื่นแสงซึ่งเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (electromagnetic wave) ที่มีความยาวคลื่นระหว่าง 700-2500 นาโนเมตร ซึ่งอยู่ระหว่างคลื่นไมโครเวฟ (microwave) และคลื่นแสงที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า (visible light, VIS) นำมาใช้ในการตรวจสอบสารประกอบหรือคุณภาพของตัวอย่างโดยไม่ทำลายตัวอย่าง (non-destructive) เป็นเทคนิคที่กำลังได้รับความนิยมในการนำมาใช้ประเมินคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตรให้ข้อมูลทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณไม่ทำลายตัวอย่างสามารถประเมินคุณภาพไม่สูง ได้ค่าที่ถูกต้องแม่นยำไม่จำเป็นต้องใช้ผู้มีประสบการณ์มีความรวดเร็วไม่ใช้สารเคมีในการวิเคราะห์ผู้ปฏิบัติงานมีความปลอดภัยและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ผศ.ดร.พีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า การนำเทคนิคนี้มาใช้ในการตรวจสอบคุณภาพของมะปรางหวานและมะยงชิดในเรื่องของความหวานซึ่งเป็นคุณภาพภายในไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าได้ แต่เทคนิค เนียร์อินฟราเรดสเปกโทรสโกปี สามารถทำได้ ดังนั้นจึงได้ทำการวิจัยและสร้างสมการในตรวจวัดความหวานขึ้นจนเป็นผลสำเร็จ โดยได้รวบรวมตัวอย่างมะปรางหวานและมะยงชิดในระยะความแก่ที่หลากหลายจำนวน 180 ตัวอย่างนำไปวัดค่าการดูดกลืนแสงด้วยเครื่องเครื่องเนียร์ อินฟราเรดสเปกโตรมิเตอร์ ( NIR Spectrometer )ที่ความยาวคลื่น 700 ถึง 1,050 นาโนเมตร จากนั้น นำตัวอย่างที่วัดค่าดูดกลืนแสงแล้วไปวิเคราะห์ปริมาณของแข็งทั้งหมดที่ละลายอยู่ได้แก่น้ำตาลซูโครส น้ำตาลกลูโคส น้ำตาลฟรักโตสและกรดอินทรีย์ ซึ่งเป็นค่าแสดงแทนระดับความหวานมีหน่วยเป็น %บริกซ์ แล้วนำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดมาวิเคราะห์เปรียบเทียบเพื่อสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์หาความสัมพันธ์ของค่าสเปกตรัมและค่าทางเคมีโดยใช้โปรแกรมอัตโนมัติและถ่ายโอนสมการที่สร้างลงเครื่องอินฟราเรดสเปกโตรมิเตอร์แล้วนำไปวิเคราะห์ต่อไป
ซึ่งเครื่องเนียร์ อินฟราเรดสเปกโตรมิเตอร์ ( NIR Spectrometer ) ที่จำหน่ายอยู่ในปัจจุบันยังคงมีราคาแพง ดังนั้นทางคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อยู่ระหว่างการพัฒนาจัดทำเครื่องเนียร์ อินฟราเรดสเปกโตรมิเตอร์ ( NIR Spectrometer ) ขึ้นเพื่อให้มีราคาถูกและกะทัดรัดขึ้น ดังนั้นถ้าหากทราบคุณภาพภายในต่างๆของผลไม้ได้ สามารถนำมาใช้ในการประกันคุณภาพสินค้าเกษตรเพื่อคัดกรองคุณภาพให้ได้ผลผลิตที่ตรงตามความต้องการของผู้ซื้อและตลาดส่งออกสามารถจำหน่ายได้ในราคาที่สูงขึ้น เป็นการสร้างศักยภาพและเป็นการส่งเสริมการตลาดผลไม้ส่งออกของไทยสามารถเพิ่มปริมาณการส่งออกผลไม้สดซึ่งส่งผลดีต่อเกษตรกรและเศรษฐกิจของประเทศไทย
//////////////