พิษณุโลก กองทัพภาคที่ 3 จัดโครงการเลี้ยงแพะพันธุ์แบล็คเบงกอล พระราชทาน จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อนำไปแจกให้กับราษฎรในพื้นที่ภาคเหนือ ปัจจุบันแจกไปแล้ว 30 ตัวให้แก่เกษตรกรชาว จ.สุโขทัยและกำแพงเพชร
วันนี้14 ก.พ.2562 ผู้สื่อข่าวรายงาน ที่ฟาร์มเลี้ยงแพะ ตามโครงการเลี้ยงแพะพระราชทาน กองพันส่งกำลังและบริการที่ 23 กองบัญชาการช่วยรบที่ 3 ค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ทางกองทัพภาคที่ 3 ได้จัดโครงการเลี้ยงแพะพระราชทาน จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานให้ทางทหารกองทัพภาคที่ 3 เลี้ยงดูเพื่อส่งเสริมขยายพันธุ์ไปสู่กลุ่มเป้าหมายคือประชาชน อีกทั้งยังจะเป็นแหล่งเรียนรู้ในการสร้างอาชีพให้กับกำลังพล ข้าราชการ ครอบครัว และประชาชนชุมชนรอบค่ายฯ ที่สนใจเลี้ยงแพะ ซึ่งเป็นแพะพันธุ์แบล็คเบงกอล โดยมีพันเอก ภพ สุวรรณรัตน์ ผู้บังคับกองพันส่งกำลังและบริการที่ 23 กองบัญชาการช่วยรบที่ 3 เป็นผู้ดูแล พร้อมกับทหารในสังกัด
พันเอกภพ สุวรรณรัตน์ ผู้บังคับกองพันส่งกำลังและบริการที่ 23 กองบัญชาการช่วยรบที่ 3 กล่าวว่า นับเป็นเพระมหากรุณาธิคุณที่ทาง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทาน ได้รับพระราชทานแพะพันธุ์แบล็คเบงกอล และพันธุ์ผสม เพศผู้จำนวน 30 ตัว เพศเมีย 20 ตัว ให้กับทางกองทัพภาคที่ 3 ตามที่ พลโทวิจักขฐ์ สิริบรรสพ อดีต แม่ทัพภาคที่ 3 ได้ทูลขอพระราชทานเพื่อนำมาเลี้ยงและส่งเสริมเป็นอาชีพให้กับประชาชนและกำลังพล ปัจจุบันได้ทำการขยายพันธุ์จนมีแพะอยู่จำนวน 175 ตัวแล้ว หลังจากที่ประสบความสำเร็จก็ได้มีการทูลขอพระราชทานนำแพะไปให้กับประชาชนที่ยากไร้ในพื้นที่ จ.กำแพงเพชร และ จ.สุโขทัย เลี้ยงดู ขยายพันธุ์และจำหน่ายเป็นอาชีพ จำนวน 30 ครัวเรือน ร่วมทั้งกลายเป็นแหล่งศึกษาดูงานให้ความรู้กับประชาชนที่สนใจเลี้ยงแพะพันธุ์นี้เป็นอาชีพต่อไป
ทั้งนี้ แพะเป็นสัตว์ที่เลี้ยงและดูแลง่าย สามารถกินอาหารได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นหญ้า ไม้พุ่ม ไม้เลื้อย วัชพืชในครัวเรือน จึงทำให้มีต้นทุนค่าอาหารต่ำ อีกทั้งเป็นสัตว์ที่ทนทานและสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้เป็นอย่างดี แพะจึงเป็นสัตว์ที่เจริญเติบโตและขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งมีช่องทางในการจำหน่ายหลากหลาย เช่น การเลี้ยงเพื่อการขยายพันธุ์ การจำหน่ายเป็นพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ และสามารถนำเนื้อ หนังหรือนม มาสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ซึ่งสัตว์ชนิดนี้ยังมีสายพันธุ์หนึ่งที่เหมาะแก่การเลี้ยงในครัวเรือนเป็นอย่างมากโดยเฉพาะแพะสายพันธุ์แบล็คเบงกอล ซึ่งเป็นแพะที่มีขนาดเล็กสูงประมาณ 40-60 ซม. มีขนสั้นดำหรือสีน้ำตาลเข้มเป็นเงา ใบหูมีขนาดเล็กตั้งชี้ไปข้างหน้า ขนสั้น ละเอียดนุ่ม โตเต็มวัยจะมีความสูงที่หัวไหล่ประมาณ 40-46 เซนติเมตร น้ำหนักตัวผู้ 15 กิโลกรัม ตัวเมีย 12 กิโลกรัม ลักษณะไม่เหมือนแพะสายพันธุ์อื่นตรงที่ทั้งตัวผู้ และ ตัวเมียมีเคราและเขา แพะสายพันธุ์นี้เจริญเติบโตเข้าสู่วัยหนุ่มสาวเร็วมาก ตั้งท้องเพียง 150 วัน เมื่อตกลูกมักจะออกแฝด 2 ถึง 5 ตัว สามารถผสมพันธุ์ได้ทั้งปี
////////////