วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 10.00 น. นาฬิกา พลเอก พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ดอกเตอร์ ปีเตอร์ เฮย์มอนด์ (Dr. Peter Haymond) อุปทูตรักษาการเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และ พลโท แกรี่ เจ. โวเลสกี (LTG Gary J. Volesky) แม่ทัพน้อยที่ 1 (First Corps) กองทัพบกสหรัฐอเมริกา ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกคอบร้าโกลด์ 19 ณ ลานอเนกประสงค์ ค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ กองทัพภาคที่ 3 อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยมี เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เอกอัครราชทูตเกาหลีใต้ประจำประเทศไทย เอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทย เอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย และเอกอัครราชทูตสิงคโปร์ประจำประเทศไทย เข้าร่วมด้วย
การฝึกคอบร้าโกลด์ เป็นการฝึกร่วมผสมทางทหารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ซึ่งกองทัพไทย และกองกำลังสหรัฐอเมริกาภาคพื้นอินโด – แปซิฟิก ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการฝึกในประเทศไทยเป็นประจำทุกปี ในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 38 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาความสัมพันธ์ทางทหารที่ดีระหว่างมิตรประเทศที่เข้าร่วมการฝึก เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการอำนวยการยุทธร่วม/ผสม ประยุกต์ใช้กำลังรบในสถานการณ์วิกฤติต่างๆ รวมทั้งการฝึกใช้ระเบียบปฏิบัติประจำกองกำลังผสมนานาชาติในการฝึกคอบร้าโกลด์ 19
ในปีนี้การฝึกคอบร้าโกลด์ มีประเทศเข้าร่วมการฝึกรวมทั้งสิ้น ๒๙ ประเทศ ได้แก่ ประเทศที่เข้าร่วมการฝึกหลักจำนวน 7 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย สาธารณรัฐเกาหลี และมาเลเซีย ประเทศที่เข้าร่วมการฝึกเพิ่มเติมในโครงการช่วยเหลือประชาชน จำนวน 2 ประเทศ ประกอบด้วย จีน และอินเดีย ประเทศในโครงการเสนาธิการผสมส่วนเพิ่มนานาชาติ (Multinational Planning Augmentation Team : MPAT) จำนวน 10 ประเทศ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส อังกฤษ บังกลาเทศ มองโกเลีย เนปาล ฟิลิปปินส์ ฟิจิ และ นิวซีแลนด์ ประเทศที่เข้าร่วมสังเกตการณ์การฝึก (Combined Observer Liaison Team : COLT) จำนวน 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไน ลาว เวียดนาม เยอรมนี อิสราเอล ปากีสถาน สวิตเซอร์แลนด์ ศรีลังกา เมียนมา และสวีเดน จำนวนผู้เข้ารับการฝึกรวม 9,981 นาย โดยใช้พื้นที่กองทัพภาคที่ 3 กองทัพภาคที่ 2 และบริเวณอ่าวไทยตอนบน เป็นพื้นที่การฝึกหลัก ในระหว่างวันที่ 12- 22 กุมภาพันธ์ 2562 ประกอบด้วย การฝึกฝ่ายเสนาธิการ (STAEFF Exercise : STAFFEX) การฝึกภาคสนาม (Field Training Exercise : FTX) และโครงการช่วยเหลือประชาชน (Humanitarian Civic Assistance : HCA)
สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับจากการฝึกคอบร้าโกลด์ แบ่งเป็นสามระดับ ประกอบด้วย ระดับประเทศ เป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในระดับนานาชาติในการเตรียมความพร้อมด้านการทหารที่มีความเข้มแข็ง ทันสมัย สามารถตอบสนองภารกิจด้านความมั่นคงในทุกมิติ เช่น การรักษาสันติภาพ การบรรเทาสาธารณภัยต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น ส่วนในระดับกองทัพ เป็นการพัฒนาขีดความสามารถทางทหารในการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพมิตรประเทศ เพื่อเป็นหลักประกันความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจของกองทัพไทยในทุกมิติ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะด้านการบรรเทาสาธารณภัยในภูมิภาค เพื่อสร้างเสถียรภาพให้แก่ภูมิภาคอย่างยั่งยืน และในระดับพื้นที่ที่เข้าทำการฝึกฯ ได้รับประโยชน์จากการฝึกในส่วนโครงการก่อสร้างอาคารต่าง ๆ เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ของโครงการช่วยเหลือประชาชน นอกจากนั้นยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและ สร้างรายได้ให้กับท้องถิ่น รวมทั้งเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในสายตาของกำลังพลมิตรประเทศ ที่เข้าร่วมการฝึกอีกด้วย