จ่ายเงินช่วยชาวสวนยางพาราเดือนกพ.62

ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดพิษณุโลก เผยถึงการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวสวนยางตามมติ ครม. ในพื้นที่พิษณุโลก จะได้รับประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 นี้ ส่วนการเลิกทำสวนยางที่โทรมแล้ว ไปทำการเกษตรแบบอื่น จะมีเงินช่วยไร่ละหมื่นบาท หมดเขต 30 กันยายน นี้ ส่วนโครงการนำยางพาราผสมทำถนน 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร ถ้าสำเร็จราคายางจะขึ้น จะมีเสถียรภาพ หาไม่เป็นเช่นนั้นยินดีลาออกแน่นอน 

ที่ศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก นาย สุรชัย มณีประกร รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ปี2561 – 2562 ตามมติ ครม.เมื่อ 4 ธันวาคม 2561 เพื่อสร้างความเข้มแข็งและบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยางพารา ผู้ได้รับผลกระทบด้านการครองชีพ จึงจำเป็นต้องดำเนินการสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรชาวสวนยางพารา อนุมัติเห็นชอบในหลักเกณฑ์แนวทางการจ่ายเงิน ช่วยเหลือลดต้นทุนการผลิตไร่ละ 1,800 บาท สวนละไม่เกิน 15 ไร่ แบ่งเป็นเจ้าของ 1,100 บาท คนกรีดยาง 700 บาท เป็นค่าครองชีพ นั้น
นาย พนัส แพชนะ ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดพิษณุโลก ได้เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการอยู่ในขั้นตอนประกาศรายชื่อ ในพื้นที่ตั้งสวน หลังจากมีเกษตรกรมาขึ้นทะเบียนตามกำหนด จำนวน 3,449 ราย จำนวน 66,271 ไร่ จากทั้ง 9 อำเภอในจังหวัดพิษณุโลก โดยจะดำเนินขั้นตอนต่อไปคือ การรับแจ้งเข้าร่วมโครงการ ติดประกาศรายชื่อตรวจสอบสิทธิ์ และตรวจสอบพื้นที่เปิดกรีดยาง หากไม่มีการคัดค้าน คณะทำงานจะเปิดให้เกษตรกรที่มีสิทธิ์ทั้งเจ้าของสวน คนกรีดยางมาลงนาม พร้อมกับให้คณะกรรมการระดับอำเภอรับรองสิทธิ์ และจะเข้าสู่กระบวนการบันทึกข้อมูล แล้วจ่ายเงิน คาดว่าน่าจะประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ เกษตรกรที่มีสิทธิ์จะได้รับการโอนเข้าบัญชีของเกษตรกรผู้มีสิทธิ์จาก ธกส. ส่วนกรณีการร้องเรียนขอความเป็นธรรมกรณีไม่มีสิทธิ์ของเกษตรกร จำนวน 81 ราย ทางคณะทำงานได้พิจารณาแล้ว จำนวน 56 ราย ที่ต้องใช้เอกสารการขออนุญาตการใช้ที่ดินจากกรมป่าไม้ประกอบการพิจารณานั้น ที่ประชุมเห็นชอบสามารถให้สิทธิ์นี้แก่เกษตรกรดังกล่าวได้
อีกประการหนึ่งกรณีที่เกษตรกรชาวสวนยางพาราที่มีเอกสารสิทธิ์ และขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย ต้นยางโตขึ้นมาไม่งามไม่สวย ตอนนี้การยางแห่งประเทศไทย และรัฐบาล ให้ไร่ละ 10,000 บาท คนละไม่เกิน 10 ไร่ แต่ต้องไปปลูกพืชชนิดอื่น ปลูกยางไม่ได้แล้วเพราะมันไม่โตไม่สวย หมดเขตแจ้งรายชื่อเข้าร่วมโครงการ 30 กันยายน 2562 นี้
แต่ที่สำคัญคือโครงการส่งเสริมให้นำยางพารามาผสมสร้างถนน 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร คาดว่าต้องใช้น้ำยาง ประมาณ 12 ตัน หรือเป็นยางแห้ง 4 ตัน จะสามารถดึงยางออกจากระบบได้ 1 ล้านตัน ถ้าทำสำเร็จจะช่วยเหลือเรื่องราคายางพารา ทำให้เกษตรกรอยู่ได้อย่างดีแน่นอน ราคายางจะมีเสถียรภาพ ราคายางจะขึ้นหากไม่ขึ้น ไม่ดีตามที่ให้สัมภาษณ์ จะลาออกแน่นอน

แสดงความคิดเห็น