ชมวิถีเกษตรริมแม่น้ำน่าน ชาวบ้านตำบลจอมทอง ร่วมทำสะพานเชื่อมใจ@ริมน่าน สะพานไม้ไผ่ยาว 100 กว่าเมตร เรียนรู้การใช้ประโยชน์พื้นที่ริมตลิ่งด้วยพืชเกษตรหลากหลายชนิด สัมผัสแหล่งปลูกผลไม้เก่าแก่เคียงคู่เมืองพิษณุโลก และชมต้นจันยักษ์ อายุ 100 กว่าปี
2 ธันวาคม 2561 เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว ชาวพิษณุโลกจำนวนมากอาจจะนึกถึงสถานที่ท่องเที่ยวบนเขา บนดอย ไปสัมผัสอากาศหนาวเย็น ชมธรรมชาติงดงดงาม ขอแนะนำสถานที่ท่องเที่ยว ที่ไม่ไกลจากตัวเมืองพิษณุโลกมากนัก ชุมชนเกษตรริมแม่น้ำน่าน ตำบลจอมทอง ผู้นำชุมชนและชาวบ้าน ได้ร่วมกันทำจุดท่องเที่ยวชมวิถีเกษตรริมแม่น้ำน่าน สะพานเชื่อมใจ@ริมน่าน ที่ม. 6 บ้านจอมทอง ต.จอมทอง อ.เมืองพิษณุโลก สะพานไม้ไผ่ระยะทางยาว 100 กว่าเมตร ริมตลิ่งแม่น้ำน่าน ได้ชมทิวทัศน์ที่เรียบสงบตามวิถีชนบทและได้เรียนรู้วิถีการเกษตร การเพาะปลูกพืชล้มลุก ไม้ผลยืนต้นที่สืบทอดกันรุ่นต่อรุ่นมาร่วม 100 กว่าปีแล้ว
นายจำลอง กลัดดิษฐ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 บ้านจอมทอง ต.จอมทอง อ.เมือง จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า ตำบลจอมทองอยู่ทางทิศเหนือ ห่างจากตัวเมืองพิษณุโลกประมาณ 10 กิโลเมตร เป็นชุมชนริมฝั่งแม่น้ำน่านที่ดำเนินชีวิตทางการเกษตรมาเนิ่นนานตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ มีแม่น้ำน่านและแม่น้ำแควน้อยไหลมาบรรจบกัน ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำการเกษตร ทำนา และทำสวนผลไม้หลากหลายชนิด มีสวนผลไม้เก่าแก่ที่รุ่นปู่รุ่นย่าปลูกไว้ริมแม่น้ำน่านหลากหลายชนิด ที่ขึ้นชื่อทั้งละมุด มะปราง ขนุน กะท้อน มะขาม มะม่วง มะพร้าว และมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับสายน้ำ ใช้ประโยชน์พื้นที่ริมตลิ่งในช่วงฤดูน้ำลด ปลูกพืชล้มลุกตามฤดูกาลได้ผลผลิตงอกงาม เพราะได้ปุ๋ยธรรมชาติจากแม่น้ำน่านไหลผ่าน ทั้งมันแกว มันเทศ ข้าวโพด ถั่วลิสง พืชผักสวนครัว และเป็นแหล่งผลิตขนมไทยโบราณหลากหลายชนิด ขนมที่ขึ้นชื่อของจอมทองคือขนมเปียกปูน
นายจำลอง เผยต่อว่า ช่วงรัฐบาลเริ่มนำโครงการโอท็อปนวัตวิถีเข้ามา กรรมการหมู่บ้าน และได้ร่วมกันทำสะพานเชื่อมใจ@ริมน่าน เป็นสะพานที่ชาวบ้านร่วมมือร่วมแรงใจกันทำ เพราะไม่มีงบประมาณมากนักจากภาครัฐ เป็นจุดแลนด์มาร์คให้นักท่องเที่ยวได้มาเยี่ยมชมวิถีเกษตรริมแม่น้ำน่าน โดยเริ่มลงมือทำกันช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ขอไม้ไผ่สีสุกจากชาวบ้าน ตัดมา และมาช่วยกันทำสะพานไม้ในพื้นที่ริมตลิ่งแม่น้ำน่าน ที่ผู้มายืน จะได้เห็นการทำเกษตรริมแม่น้ำน่านอันดุดมสมบูรณ์ของตำบลจอมทอง ที่เราเรียกกันว่าเป็นพื้นที่น้ำไหล ทรายมูน พอถึงหน้าน้ำ แม่น้ำน่านก็จะไหลสูงเกือบเต็มตลิ่ง จะนำดินทราย หรือ ที่เรียกว่าดินขี้เป็ด ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุ ปุ๋ยธรรมชาติ เมื่อน้ำลดลง ชาวบ้านก็จะใช้พื้นที่ริมตลิ่งของตัวเอง ปลูกพืชหลากหลายชนิด อาทิ มันแกว มันเทศ ถั่วลิสง ข้าวโพด และพืชผักสวนครัว
นอกเหนือจากสถานที่ท่องเที่ยวชมวิถีเกษตรริมแม่น้ำน่านที่สะพานเชื่อมใจแล้ว พื้นที่ริมตลิ่งในตำบลจอมทอง ตลอดแนวถนนเลียบแม่น้ำน่าน จะเป็นแหล่งปลูกไม้ผลเก่าแก่ดั้งเดิมของชาวบ้านจอมทอง ที่รุ่นบรรพบุรุษปลูกไว้มานานแล้ว จะครึ้มด้วยร่มเงาของสวนผสมผสาน ละมุด ขนุน มะม่วง มะพร้าว กล้วย มะปราง ฯลฯ และยังได้พบเห็น บ้านไม้เก่าแก่หลายหลัง อายุบางแห่งเป็น 100 ปี โดยเฉพาะกลางหมู่บ้าน จะมียุ้งฉางโบราณที่ชาวบ้านยังคงอนุรักษ์ไว้ในสภาพสมบูรณ์ เรียกว่ายุ้งข้าว 100 เกวียน ที่เจ้าของยุ้งเสียชีวิตไปแล้ว แต่รุ่นลูกยังคงอนุรักษ์ไว้
ขณะที่ต้นไม้เก่าแก่โบราณที่ชาวบ้านจอมทองอยากให้นักท่องเที่ยวได้ชม คืนต้นจันยักษ์ อายุ 100 ปีขึ้นไป อยู่ในสวนของนายุสุรินทร์ ตรงต่อกิจ อายุ 81 ปี เป็นต้นไม้เก่าแก่โบราณเคียงคู่ชุมชนบ้านจอมทอง ลักษณะต้นใหญ่มาก ประมาณ 6-7 คนโอม ที่คุณตาสุรินทร์บอกว่า ตั้งแต่เกิดมาและจำความได้ ก็เห็นต้นจันต้นนี้สูงใหญ่ประมาณนี้แล้ว น่าจะอายุ 100 กว่าปีขึ้นไป เมื่อถึงหน้าที่ลูกจันออก ลูกจันจะตกเป็นสีเหลืองรอบโคนต้น
สะพานเชื่อมใจ@ริมน่าน หมู่ 6 บ้านจอมทอง เริ่มเปิดช่วงแรกในเทศกาลลอยกระทงเดือนพฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา มีนายอำเภอเมืองพิษณุโลกมาเป็นประธานในพิธีเปิดเทศกาล หลังจากนี้คณะกรรมการหมู่บ้าน จะเตรียมการทำพิธีเปิด อาจจะเปิดเป็นเทศกาลให้นักท่องเที่ยวได้มาชมวิถีเกษตรเป็นระยะ ๆ ชิมขนมไทยโบราณของบ้านจอมทอง นักท่องเที่ยวที่สนใจไปชมถ้ามาจากตัวเมืองพิษณุโลกบนถนนสิงหวัฒน์ มุ่งหน้าจากสะพานนเรศวร มายังสี่ไฟแดงแยกบ้านกร่าง ต.บ้านกร่าง อ.เมืองพิษณุโลก เลี้ยวขวาตรงไปอีกประมาณ 3 กิโลเมตร ก็จะถึงตำบลจอมทอง สอบถามชาวบ้านแถวนั้นได้ จุดสะพานเชื่อมใจ จะอยู่ริมแม่น้ำน่าน ถนนที่ผ่านตัวหมู่บ้านก็จะเชื่อมกันตลอด
……………………………………………………………………………………………………………………….