จิตรกรรมบัวหลวงสัญจร ณ หอศิลป์มหาวิทยาลัยนเรศวร

ปกติ ภาพวาดเกี่ยวกับพุทธประวัติ มีให้ชมหรือศึกษาตามจิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์ วิหาร วัดวาอารามต่าง ๆ แต่ตอนนี้เราสามารถชมภาพเหล่านี้ได้ในแกลเลอรี่
เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ณ หอศิลป์มหาวิทยาลัยนเรศวร นายภูมิสิทธิ์ วังคีรี ปลัดจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานเปิดนิทรรศการ “จิตรกรรมบัวหลวงสัญจร” ขึ้น โดยกองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกับมูลนิธิบัวหลวง จัดแสดงภาพวาดของผู้ชนะการประกวดจากศิลปินทั่วประเทศ ตลอดจนภาพที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมจัดแสดง จำนวนกว่า ๕๐ ชิ้น ประเภทจิตรกรรมไทยแบบประเพณี จิตรกรรมไทยแนวประเพณี และจิตรกรรมร่วมสมัย
“มูลนิธิบัวหลวง เป็นองค์กรเดียวที่จัดการประกวดจิตรกรรมไทยแบบประเพณีหรือแบบไทยแท้ ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ ๔๐ แล้ว เพื่อต้องการที่จะฟื้นฟูภาพเขียนไทยที่รู้สึกว่าล้าสมัย ไม่ค่อยมีคนสนใจ จนได้จิตรกรที่สร้างสรรค์ผลงานได้อย่างวิจิตร อลังการ เฉกเช่นศิลปะงานช่างเขียนโบราณ ทำให้มีผู้ติดตามมากขึ้น เป็นมิติใหม่ของวงการภาพวาดไทย ซึ่งผู้ที่จะวาดภาพแนวนี้ได้ต้องมีการศึกษาพุทธประวัติมาเป็นอย่างดี” นายอภิชาติ รมยะรูป กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิบัวหลวงเล่าถึงที่มาของงาน
ในความวิจิตรของผลงานจิตรกรรมไทยแบบประเพณี ทำให้เหล่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องใช้แว่นขยายในการพิศพิจารณาผลงาน ไม่ใช่แค่นั้น ตัวศิลปินเองก็ใช้แว่นขยายในการสร้างสรรค์ด้วยเช่นกัน
นายวิรัตน์ เอกปัจจา ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดจิตรกรรมไทยแบบประเพณี กล่าวถึงผลงาน อัญเชิญพระบรมโพธิสัตว์จุติว่า “เป็นการวาดภาพแนวสมัยอยุธยาผสมผสานกับรัตนโกสินทร์ โดยใช้แว่นขยายช่วย ใช่พู่กันเบอร์เล็กที่สุด แล้วเหลาให้เล็กลงไปอีกเหลือเพียง ๓ เส้น ใช้สีฝุ่นเหมือนกับภาพรูปแบบประเพณีโบราณ บอกเล่าเรื่องราวตามพุทธประวัติ ด้วยความศรัทธาในองค์พระพุทธเจ้า ในตอนอัญเชิญพระบรมโพธิสัตว์จุติ โดยนำมาตีความและใส่เรื่องราวลงไป ภายในภาพมีพระพุทธเจ้าประทับอยู่บนบัลลังก์ รายล้อมด้วยพระโพธิสัตว์ที่รอการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป มีเหล่าเทวดา พระอินทร์ พระพรหม มาอัญเชิญพระองค์ไปจุติยังโลกมนุษย์”
อภิชาตบอกว่า อย่างน้อย ๆ ก็ให้คนที่มาชมได้รู้ว่า พุทธประวัติมีตอนอัญเชิญพระบรมโพธิสัตว์จุติอยู่ด้วย
สำหรับจิตรกรรมไทยแนวประเพณีนั้น เป็นการหยิบเอาความโบราณมาทำให้ทันสมัย โดยรางวัลชนะเลิศ คือผลงานวิถีชีวิตอีสาน ฝีมือของนายสกล มาลี ลักษณะเหมือนภาพโบราณเก่า ๆ ที่ติดอยู่ตามผนังโบสถ์
“แรงบันดาลใจมาจากวิถีชีวิต วัฒนธรรม จารีต ธรรมเนียมปฏิบัติต่าง ๆ ของคนอีสานที่ตัวเองสัมผัสและคลุกคลี มีการสืบทอดต่อ ๆ กันมา ใช้เทคนิคการวาดแบบจิตรกรรมอีสาน มีความอิสระในการทำงาน ใช้อารมณ์และความรู้สึกเป็นที่ตั้ง ใช้เส้นสีถ่ายทอดน้ำหนักที่แตกต่างกันออกไป มีสีครามเป็นหลักแทนวิถีของคนอีสาน มีการใช้ผงทองคำเปลวแบบจิตรกรรมไทยประเพณี ผ่านสิ่งของ บรรยากาศที่ทับซ้อนกัน ทำให้อบอวลหวนกลับไปนึกถึงวันวานที่บรรพบุรุษสร้างมา ล้วนมีคุณค่าความหมาย”
ไทยมุง โดยนายอนันต์ยศ จันทร์นวล คือผลงานชนะเลิศประเภทจิตรกรรมร่วมสมัย ที่สะท้อนภาพสังคมไทยได้อย่างลึกซึ้ง
“ผมวาดภาพไก่กับม้าลายให้มีขนาดใหญ่เกินจริง ส่วนคนมีขนาดเล็กมาก ต้องการสื่อถึงความเชื่อที่มีสืบต่อกันมาของคนไทย ที่ให้คุณค่ากับวัตถุมากกว่าการกระทำและจิตใจ โดยไม่มีเหตุผล ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ภาพนี้ไม่ได้ต้องการลบหลู่ เพียงเป็นการเตือนสติ สะกิดใจให้ไตร่ตรอง ฉุกคิดว่าเราให้ค่ากับวัตถุมากเกินไปหรือเปล่า”
นิทรรศการ “จิตรกรรมบัวหลวงสัญจร” ยังมีผลงานที่ได้รับรางวัลที่ ๒ รางวัลที่ ๓ และผลงานที่ได้รับคัดเลือกให้ร่วมจัดแสดง อันเปี่ยมด้วยจิตวิญญาณ ความสุข ความทรงจำของศิลปินที่ส่งผ่านถึงผู้ชื่นชมผลงาน จนถึงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๒ ในวันและเวลาราชการ ณ หอศิลป์มหาวิทยาลัยนเรศวร ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร โทร. ๐ ๕๕๙๖ ๑๑๔๓

พรปวีณ์ ทองด้วง
นักประชาสัมพันธ์ กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม
มหาวิทยาลัยนเรศวร

แสดงความคิดเห็น