ชมจุดแคบสุดของแม่น้ำน่านจ.พิษณุโลกลำน้ำคดเคี้ยววิ่งสวนทางกัน

วันที่ 15 ตุลาคม 2561 ผู้สื่อข่าวพาชม จุดที่แคบที่สุดของแม่น้ำน่าน ที่บริเวณม. 3 ต.วังน้ำคู้ อ.เมอง จ.พิษณุโลก เป็นธรรมชาติของแม่น้ำน่านช่วงนี้ที่ไหลคดเคี้ยว  แม่น้ำน่านไหลผ่านตำบลวังน้ำคู้ ลงทิศใต้เข้าสู่จ.พิจิตร เลี้ยวโค้งอ้อมพื้นที่สีเขียวลักษณะคล้ายเกาะใหญ่ รูบร่างคล้ายหัวใจ  เนื้อที่ประมาณ 180 ไร่ ซึ่งก่อให้เกิดช่วงตลิ่งที่แคบที่สุด ความกว้างบนสันตลิ่งเพียงแค่เมตรกว่า ๆ เท่านั้น เป็นพื้นที่ลักษณะคล้ายบางกระเจ้า ปอดของชาวกรุงเทพมหานคร ที่แม่น้ำเจ้าพระยาไหลคดเคี้ยว และมีพื้นที่สีเขียวคล้ายกระเพาะหมู โอบล้อมด้วยแม่น้ำเจ้าพระยา

จุดแคบสุดของแม่น้ำน่านที่ตำบลวังน้ำคู้ อยู่ห่างจากตัวเมืองพิษณุโลกบนเส้นทางถนนประมาณ 26 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาเดินทางโดยรถยนต์ประมาณ 30 นาที บนถนนสายพิษณุโลก-บางกระทุ่ม มาทางตำบลวังน้ำคู้ ถ้าเปิดแผนที่นำทางของกูเกิลแม็พ เมื่อเลยจากเทศบาลตำบลวังน้ำคู้มาไม่กี่กิโลเมตร เลี้ยวเข้ามาทางสถานีอนามัยวังน้ำคู้ ก็จะมาจุดที่จะเข้าไปชม ซึ่งต้องจอดรถยนต์ไว้ด้านนอก ริมถนนภายในหมู่บ้าน และเดินเข้าไปชมจุดที่แคบที่สุดระยะทางประมาณ 200 เมตร

เมื่อมาถึงจุดที่แคบที่สุด และไปยืนอยู่บนสันตลิ่ง ความกว้างประมาณ 1.5 เมตร ขณะที่ตลิ่งด้านล่างมีฐานกว้างประมาณ 15 เมตร และค่อนข้างชันมาก ด้านขวามือจะเป็นแม่น้ำน่านที่ไหลลงทิศใต้ ตรงด้านหน้าที่หันเข้าไปจะเป็นพื้นที่สีเขียว พื้นที่ป่า พื้นที่ทำเกษตร ที่เป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ของชาวบ้านหลายราย ด้านซ้ายมือ ก็จะเป็นแม่น้ำน่าน ที่ไหลอ้อมผ่านพื้นที่สีเขียวรูบหัวใจ ซึ่งตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา มีชาวพิษณุโลกจำนวนหนึ่ง ได้เดินทางมาพิสูจน์จุดที่แคบที่สุดของแม่น้ำน่านในจังหวัดพิษณุโลกแห่งนี้  หลังจากอาจารย์ขวัญทอง  สอนศิริ อาจารย์โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาภาคเหนือ ได้เดินทางมาชมและเก็บภาพโพสต์ลงบนเฟซบุ๊ค 

ขณะที่ภาพจากโดรนของทีมข่าว จะเห็นได้ชัดเจนมาก จุดที่แคบที่สุดนั้น มีทางเดินเชื่อมไปยังพื้นที่สีเขียวสูปหัวใจ ระยะทางยาวประมาณ 30 เมตร ความกว้างของทางเดินเมื่อมองจากมุมสูงลงมายิ่งดูแคบมาก ๆ

ชาวบ้านตำบลวังน้ำคู้ให้ข้อมูลว่า เป็นธรรมชาติของแม่น้ำน่านช่วงนี้ที่ไหลคดเคี้ยวและเกิดขึ้นมานานมากแล้ว ในอดีต 40-50 ปีก่อน เมื่อระดับน้ำในแม่น้ำน่านเพิ่มสูงเกือบล้นตลิ่ง จะมีลำคลองเล็ก ๆ ที่ชาวบ้านใช้ร่องเรือผ่านจุดแคบสุดของแม่น้ำน่านช่วงนี้ เพื่อร่นยะยะเวลาการเดินทาง  ขณะที่ช่วงน้ำหลากมาก ๆ โดยเฉพาะปีมหาอุทกภัย 2554 น้ำได้กัดเซาจุดที่แคบสุดจงพังลง ชาวบ้านก็จะนำไม้มาปัก นำดินมาถม เพื่อให้คงสภาพเป็นทางทางเดินไปยังพื้นที่สีเขียว ซึ่งเป็นพื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้านหลายราย

……………………………………………………………………………………………

แสดงความคิดเห็น