ชมกรรมวิธีทำ ข้าวเม่าพอกวัดหาดมูลกระบือ ของอร่อยคู่งานแข่งเรือพิจิตร-พิษณุโลก

จากแรงศรัทธาและพลังสามัคคีของชาวบ้านต.ย่านยาว อ.เมือง จ.พิจิตร ”ข้าวเม่าพอกวัดหาดมูลกระบือ” เป็นของอร่อยคู่งานแข่งเรือจ.พิจิตร-จ.พิษณุโลก  พิษณุโลกฮอตนิวส์พาชมขั้นการทำข้าวเม่าพอกขายในงานแข่งเรือสนามจ.พิษณุโลก เปิดขายมาตั้งแต่ วันที่ศุกรที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา งานประเพณีแข่งเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานประจำปี 2561 ที่สนามหน้าวัดใหญ่ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร อ.เมืองจ.พิษณุโลก เสาร์-อาทิตย์ที่ 15-16 กันยายน 2561

งานประเพณีแข่งเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานประจำปี 2561 ที่สนามหน้าวัดใหญ่ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร อ.เมืองจ.พิษณุโลกปีนี้ตรงกับวันเสาร์-อาทิตย์ที่ 15-16 กันยายน 2561  และมีอยู่สิ่งหนึ่งที่เคียงคู่มากับงานแข่งเรือสนามจ.พิษณุโลกมานานหลายปี นั่นคือ ร้านขายข้าวเม่าพอก ของวัดหาดมูลกระบือ ต.ย่านยาว อ.เมือง จ.พิจิตร ที่ต้องมาเปิดร้านทอดข้าวเม่าจำหน่ายให้ชาวพิษณุโลกได้รับประทานขนมโบราณสุดแสนอร่อยเป็นประจำทุกปี ในปีนี้ คณะผู้จำหน่ายข้าวเม่าพอกวัดหาดมูลกระบือ ได้มาตั้งร้านจำหน่ายที่จ.พิษณุโลกตั้งแต่วันที่ศุกรที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา และจะขายไปจนถึงวันที 16  กันยายน 2561  ในสถานที่เดิม คือถนนหน้าวัดใหญ่ ติดกับป้ายชื่อวัด และได้รับความนิยมจากชาวพิษณุโลกที่แวะมาอุดหนุนหนาแน่นตั้งแต่เช้าไปจนถึงเย็น กระทั่งวัดสุดท้ายของการแข่งเรือ

ในปี2561  นี้ ร้านข้าวเม่าพอกวัดหาดมูลกระบือ ยังคงจำหน่ายข้าวเม่าพอกแสนอร่อยเหมือนเดิม ราคาแพละ 30 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่ขายแพละ 20 บาท  ปี 2557 ขายแพละ 25 บาท เช้านี้คณะกรรมการวัดหาดมูลกระบือ ที่ประกอบด้วยผู้หญิงสูงอายุเป็นสวนใหญ่ร่วม 20 คน ได้แบ่งหน้าที่กันทำงานตั้งแต่เช้ามืด ไล่ตั้งแต่แผนกปลอกกล้วยไข่ และนำกล้วยไข่มาพอกกับข้าวเม่าที่กวนผสมด้วยมะพร้าว น้ำตาล จากนั้นส่งมายังแผนกทอดกล้วยไข่ ที่ก่อฟืน ตั้งกระทะร้อน ๆ ทอดกล้วยไข่พอกด้วยข้าวเม่าจนสีเหลืองน้ำตาลได้ที่ และส่งต่อมายังฝ่ายทอดหน้าข้าวมอก ที่ใช้แป้งผสมไข่และเกลือ ทอดในน้ำมันร้อน ๆ นำมาโป๊ะไว้เป็นหน้าข้าวเม่า และฝ่ายจำหน่ายได้ห่อกระดาษ ใส่ถุงพลาสติกจำหน่ายที่ประทับตรายี่ห้อข้าวเม่าพอกวัดหาดมูลกระบือรับประกันความอร่อยของแท้ด้วย

เดิมการทำข้าวเม่าพอกนั้นทำกันเฉพาะงานแข่งเรือที่วัดหาดมูลกระบือ ชาวบ้านต.ไผ่ขวางและต.ย่านยาว อ.เมืองพิจิตร จะช่วยกันทำข้าวเม่าพอกจำหน่าย เงินรายได้ทั้งหมดเข้าพัฒนาวัดตั้งแต่อดีตเจ้าอาวาส จำหน่ายมาตั้งแต่แพละ 3 บาท 5 บาท 10 บาท และมาถึงปี 2556 แพละ 20 บาท ก็ยืนราคามาหลายปีแล้ว แต่ปี 2557 ได้ปรับราคาขึ้นเป็นแพละ 25 บาท เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบทุกอย่างเพิ่มขึ้น และยังคงร่วมสืบสานประเพณีดั้งเดิมในการร่วมกันทำข้าวเม่าพอกจะนำเงินทั้งหมดทุกบาททุกสตางค์เข้าพัฒนาวัดหาดมูลกระบือ คณะกรรมการที่มาทำข้าวเม่าพอกก็มาด้วยใจ ไม่มีค่าจ้างใด

การออกร้านจำหน่ายข้าวเม่าพอกของวัดหาดมูลกระบือนั้น เดิมมีเฉพาะงานประเพณีแข่งเรือวัดหาดมูลกระบือจากนั้น ได้รับการร้องขอจากสนามอื่น ๆ ในพิจิตรและพิษณุโลกให้ไปเปิดร้านจำหน่าย เริ่มจาก วัดหาดมูลกระบือ วัดท่าฬ่อ วัดท่าหลวง จ.พิจิตร และวัดใหญ่ จ.พิษณุโลก ในช่วงปีหลัง ๆ ทำเงินรายได้เข้าวัดร่วมปีละ 1 ล้านบาท เฉพาะที่พิษณุโลกมียอดขายวันละ 30,000-40,000 บาท

ข้าวเม่าพอก จึงเป็นสิ่งที่เคียงคู่กันมาของงานประเพณีแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานฯ ของจ.พิจิตรและพิษณุโลก  การจำหน่ายข้าวเม่าทอด ของชาวบ้านจากชุมชน วัดหาดมูลกระบือ ต.ย่านยาว อ.เมือง จ.พิจิตร นำโดยพระครูพิเชษฐ์ธรรมคุณ หรือ หลวงพ่อวิเชียร อดีตเจ้าอาวาสวัดหาดมูลกระบือ ชาวบ้านทั้งชุมชนยังคงสืบสานประเพณีดั้งเดิมมาอย่างต่อเนื่องทุกปี จะจัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับทำข้าวเม่า วัถุดิบหลักคอข้าวเหนียวจากจ.เพชรบูรณ และได้รับบริจาคจากชาวบ้าน อาทิ มะพร้าวนับหมื่นลูก กล้วยไข่จากแพงเพชร  น้ำมันพืช น้ำตาล และอื่นๆ จัดเตรียมไว้ เมื่อถึงวันงาน จึงร่วมมือร่วมแรงกันจัดทำ ข้าวเม่าทอด เพื่อจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว และผู้สนใจทั่วไป บุญข้าวเม่าทอด ของวัดหาดมูลกระบือ จะจัดขึ้นประมาณ 1 เดือน ทุกปีจะเริ่มในเดือนประมาณกลางเดือนสิงหาคมไปสิ้นสุดประมาณกลางเดือนกันยายน ในแต่ละวัน จะมีการตั้งกระทะทอดข้าวเม่าประมาณ 5-10 ใบ ขณะเดียวกันก็จะแบ่งชาวบ้านส่วนหนึ่งไปตั้งกระทะไปทอดขายตามสนามแข่งเรือต่างๆ ของจังหวัด แต่ถ้าเป็นในวันงานแข่งขันเรือยาวประเพณีของวัด คณะกรรมการวัดจะตั้งเตาทอดข้าวเม่าไว้กว่า 50  ใบ ทั้งสองฝั่งแม่น้ำ และขอแรงคนเฒ่าคนแก่ และหนุ่มสาวทั้งหมู่บ้าน นับร้อยๆ คนมาทอดข้าวเม่าขาย จำนวนเตาทอดข้าวเม่ากว่า 50  ใบ และทอดข้าวเม่าขายตั้งแต่ไก่โห่ ก่อนตะวันขึ้น จนไปถึงตะวันตกดิน หลายคนอาจจะคิดไปก่อนว่า จะทอดขายให้ใครกิน แต่เชื่อหรือไม่ว่า ข้าวเม่าทอดออกมาสุกเกือบไม่ทันความต้องการของคนกิน ใครจะกินต้องซื้อกันทุกคน แม้กระทั่งคณะกรรมการของวัด ก็ต้องซื้อ      

ข้าวเม่าพอกวัดหาดมูลกระบือ จึงเป็น วัฒนธรรมของแรงศรัทธา พลังสามัคคีของชุมชน เคียงคู่ไปกับงานแข่งเรือไปอีกนาน

………………………………………………………………….

 

 

แสดงความคิดเห็น