เมื่อเวลา 16.00 น.ที่แปลงนาสาธิตสาขาวิชาพืชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พิษณุโลก รศ.ดร.คมสัน อำนวยศิษย์ อาจารย์อาวุโส มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาพิษณุโลกได้เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการราชมงคลร่วมใจสืบสานวิถีไทยดำนา โดยมีนักศึกษาจำนวน 600 คน เข้าร่วมดำนา ในพื้นที่ 10 ไร่ ร่วมดำนาโดยใช้ข้าวพันธุ์ เอวัน ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวที่ได้รับการปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์ของมหาบัณฑิตระดับปริญญาโท มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พิษณุโลก ที่สามารถต้านทานแมลงศัตรูพืชได้ดีกว่าพันธุ์พิษณุโลก 2 และพันธุ์ กข 47 มีการปลูกในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ระยะเวลาในการปลูก 100-105 วัน โดยสาขาวิชาพืชศาสตร์ ได้เพาะเป็นต้นกล้าไว้จำนวน 400 ถาดหรือ 320,000 ต้น จะทำการปลูกแบบไร้สารเคมีตามเอกลักษณ์ เกษตรปลอดภัยของมหาวิทยาลัย โดยก่อนทำกิจกรรมลงแขกดำนาได้พร้อมใจกันประกอบพิธีแรกดำนากล่าวคำขอขมาพระแม่ธรณี พระแม่คงคาและพระแม่โพสพ และร่วมลงแขกดำนาด้วยความสมัครสมานสามัคคี
ทั้งนี้ เพื่อให้นักศึกษาใหม่ได้เรียนรู้วิธีการปลูกข้าวแบบดำนา ตระหนักถึงความสำคัญของข้าวเป็นการสานสัมพันธ์อันดีระหว่างรุ่นพี่จับรุ่นน้องและสิ่งสำคัญเพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาร่วมกันอนุรักษ์ประเพณีการลงแขกดำนาให้ดำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของชาติไทย ทั้งนี้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาพิษณุโลกได้มีกิจกรรมมุ่งเน้นการรับน้องอย่างสร้างสรรค์ควบคุมไม่ให้เกิดความรุนแรงในการรับน้องเพื่อให้น้องใหม่ที่เข้ามาศึกษาภายในรั้วมหาวิทยาลัยเกิดความอบอุ่นใจความรักความสามัคคีระหว่างนักศึกษาในสถาบันเกิดความมุ่งมั่นตั้งใจศึกษาเล่าเรียนให้ประสบผลสำเร็จเป็นที่ภาคภูมิใจของครอบครัว
รศ.ดร.คมสัน อำนวยศิษย์ อาจารย์อาวุโส กล่าวว่า “ทางมหาวิทยาลัยได้จัดกิจกรรมเป็นประจำทุกปี ในการเปิดภาคเรียนที่ 1 โดยเราจะใช้พันธุ์ข้าวหอมมะลิในการปลูก กิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อให้นักศึกษาได้ระลึกถึงว่า ประเทศไทยและปลูกข้าวสืบทอดมาโดยสายเลือด การดำนาก็เช่นกันนักศึกษา รุ่นใหม่ Gen Y Gen Z ทั้งหลาย ก็อาจจะดำนาไม่เป็นแต่จะจริงๆแล้ว เมื่อถึงเวลาลงดำนา ก็รู้สึกว่าเขามีเชื้อไขของชาวนาเรา เป็นการรับน้องใหม่ที่ทำให้เกิดภูมิใจในวิถีวัฒนธรรมของการปลูกข้าวของไทย เราถือเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์และรับการตอบสนองที่ดีจากนักศึกษาเก่านักศึกษาใหม่ รวมทั้งศิษย์เก่า เป็นกิจกรรมที่คณะอาจารย์ร่วมในกิจกรรมด้วย หากเราปล่อยให้เด็กๆทำกิจกรรมกันเองก็อาจจะทำให้เกิดความรุนแรงกันบ้าง
ด้านนางสาวภาณุมาศ งูทิพย์ อายุ 20 ปี นักศึกษาคณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ สาขาระบบสารสนเทศปริญญาตรีเทียบโอน บอกว่า “เป็นกิจกรรมที่ดี เพราะปกติจะมีข่าวการรับน้องที่ไม่ดี แต่การดำนาเป็นกิจกรรมที่สืบสานวิถีข้าวไทย เพราะหนูก็ไม่เคยดำนามาก่อน เป็นครั้งแรกที่ได้ลงดำนา สำหรับที่มหาวิทยาลัยนี้ เราไม่จำเป็นต้องทำกิจกรรมที่รุนแรงหรือทำให้เราเหนื่อย แต่กิจกรรมนี้เราเหนื่อยก็จริงแต่เราได้ประโยชน์