ย้อนรอยภูหินร่องกล้าตอน 1 พรรคคอมมิวนิสต์แทรกซึม…โดยเสือ ภูลมโล

 

เสือ ภูลมโล ( ผู้เขียนคนขวา ) สหายมีนา ( ซ้าย ) อดีตเคยอยู่คนละขั้ว ปัจจุบันคือมิตรสหายผู้ผูกพัน

พิษณุโลกฮอตนิวส์ 23 มิ.ย.2561 ขอนำเสนอผลงานเขียนของพี่เสือ  ภูลมโล หรือ คุณมนัส  สีเสือ จนท.ประชาสัมพันธ์อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ผู้มีประสบการณ์และความทรงจำในการปฏิบัติหน้าที่ทหารพราน เมื่อครั้งยังมีการต่อสู้ทางอุดมการณ์และอาวุธระหว่างรัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยบนภูหินร่องกล้า จนล่วงเลยผ่านมาสู่การปฏิบัติหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่า ให้ข้อมูล และนำเที่ยวภูหินร่องกล้า สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติยอดนิยมของจ.พิษณุโลก พี่เสือ ภูลมโล ได้บันทึกความทรงจำไว้หลายเหตุการณ์อย่างน่าสนใจ ขออนุญาตินำเสนอเป็นเรื่องราวต่อเนื่อง จำนวน 9 ตอน บนเว็ปไซด์พิษณุโลกฮอตนิวส์

1.ย้อนรอยภูหินร่องกล้า โดย เสือ   ภูลมโล ตอน 1 แทรกซึมของพรรคคอมมิวนิสต์ (พคท.)

จุดประสงค์ของผู้เขียนต้องการให้ข้อมูลประวัติความเป็นมาได้อยู่คงเดิม จากการที่ได้รวบรวมไว้ ไม่อยากให้ผิดเพี้ยนไปจากปากต่อปาก โดยผู้เขียนมีจุดอ้างอิงดังนี้ ผู้เขียนเคยเป็นทหารพรานประจำการที่ กรมทหารพรานที่ 34 พ.ต.ท.33อำเภอหล่มสัก และมีหน้าที่รับผิดชอบพื้นที่สมรภูมิภูหินร่องกล้าในช่วงปลายได้เก็บข้อมูลความเป็นมาของภูหินร่องกล้าและได้ทราบเหตุการณ์จากผู้บังคับบัญชาที่เคยขึ้นรบพื้นที่เขาค้อและภูหินร่องกล้าในยุคแรก และได้รวบรวมข้อมูลดังกล่าวจากตัวระดับแกนนำของพรรคคอมมิวนิสต์ ชาวม้งและพี่ๆนิสิตนักศึกษารุ่น 6 ตุลา 2519 ที่มาเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ และผมยังมีเอกสารประวัติการเกิดขึ้นและที่มาทั้งหมดอยู่ในมือด้วย  จากนั้นได้กลั่นกลองออกจากประสบการณ์และข้อมูลของตัวเองที่มีโอกาสเข้าร่วมรบในพื้นที่นี้ด้วยในปี พ.ศ.2524 แล้วก็เป็นพื้นที่รับผิดชอบที่ปฎิบัติงานในช่วงนั้น ก่อนที่ท่านจะพบกับเรื่องราว ผมจะเล่านอกเรื่องซักนิดหนึ่งว่า จะมีบางท่านเข้าใจว่าผมเป็นคนที่ผ่านสมรภูมิตรงนี้ มีข้อมูลแล้วทำไมไม่ให้ข้อมูลของน้องๆพนักงานที่ภูหินร่องกล้าไว้บ้างเพื่อที่จะได้เล่าต่อไป  ครับผม…คือเหตุผลมีอยู่ดังนี้ ผมไม่ได้หวงข้อมูล แต่ผมก็เคยทำเอกสารเกี่ยวกับข้อมูลประวัติความเป็นมาของภูหินร่องกล้าให้กับน้องๆแล้ว แต่ก็ยังมีบางคนก็ไม่ยอมรับในข้อมูลและความหวังดีของผม แถมยังมีบางคนยังมองว่า ไม่จริงอย่าไปเชื่อ เป็นเพราะเหตุนี้เองครับ ที่ผมไม่อาจดำเนินการให้ข้อมูลได้ทั่วไป แต่ก็ยังมีน้องๆอีกหลายคนที่เขาสนใจในเรื่องราวและยอมรับในข้อมูลกับตัวผม ผมก็ได้ถ่ายทอดและแนะนำหลักการของการพูดและบรรยาย ว่าสถานการณ์การสู้รบบนภูหินร่องกล้าเกิดขึ้นได้อย่างไร เมื่อไหร่ และมาจบลงได้อย่างไรเมื่อไหร่ แล้วน้องบางคนเขาเคยพูดว่า คนที่อยู่ในเหตุการณ์จริงกับคนที่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์นั้น การพูดอารมณ์จะไม่เหมือนกัน ใช่ครับคนที่อ่านหนังสือมาพูด กับคนเอาประสบการณ์มาพูดไม่เหมือนกันแน่    ดังนั้นจากนี้ไป กระผม เสือ   ภูลมโล(นาย มนัส   สีเสือ) จะพาท่านผู้อ่านย้อนรอยอดีตของภูหินร่องกล้าครับ..

อดีตที่ผ่านมาภูหินร่องกล้านั้นเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้และสัตว์ป่านานาชนิด  เมื่อก่อนปีพ.ศ.2492  ชาวเขาเผ่าม้งได้อพยพมาจากภาคเหนือตอนบน มาตั้งรกรากถิ่นฐานอยู่ที่ภูหินร่องกล้าหลายหมู่บ้าน เช่นบ้านป่าหวาย บ้านป่ายาบ บ้านภูขี้เถ้า บ้านทับเบิก และเขาค้อได้แก่บ้านเล่าลือ บ้านหนองแม่นา ในห้วงปีพ.ศ.2501 ถึง ปีพ.ศ. 2505 กองกำลังตำรวจตระเวนชาย จ.อุดร ได้มาจัดตั้งโรงเรียนของตำรวจตระเวนชายแดนขึ้นที่บ้านม้งภูขี้เถ้า เพื่อสอนหนังสือให้กับชาวเขา และกองกำลังทหารสหรัฐมาจัดสร้างสนามบินขึ้นที่บ้านม้งภูขี้เถ้า  พอถึงปีพ.ศ.2511 ได้ถูกล้มเลิกไป เพราะเหตุการณ์ด้านการเมือง  ส่วนการดำรงชีพของชาวเขาเผ่าม้งก็คือการทำไร่ปลูกข้าวปลูกผักและข้าวโพด การทำไร่ของชาวเขาคือการทำเลื่อนลอย ปีนี้ถากถางตรงนี้ปีหน้าหาที่บุกเบิกใหม่ต่อไป จนทำให้ป่ากลายเป็นภูเขาหัวโล้นจากการทำไร่เลื่อนลอย ไม่ใช่เกิดจากการเข้าบุกโจมตีของทหารตามที่บางท่านเข้าใจ รับรองว่าไม่มีใครที่จะมีกะจิตกะใจหรือมีเวลาไปตัดไม้ได้นับหมื่นไร่หรอก เข้าตีหรือออกลาดตระเวนแต่ละครั้งการเตรียมการก็คือเสบียงอาหาร กระสุนปืน อุปกรณ์การแพทย์ครับ.. นอกจากการทำไร่ของชาวเขาแล้วยังมีชาวเขาบางคนปลูกฝิ่นด้วย เนื่องจากมีนายทุนมาให้การสนับสนุนในการปลูกฝิ่นการกระทำความผิด ส่วนทางฝ่ายเจ้าหน้าที่บ้านเมืองก็เข้าจับคุมในการปลูกฝิ่นและทำไร่เลื่อนลอยของชาวเขา และชาวเขา(ม้ง)ยังถูกเอารัดเอาเปรียบจากการค้าขายอีกด้วย เจ้าหน้าที่บ้านเมือง(บางคนบางกลุ่ม)เข้าไปเยี่ยมเยือนชาวเขาก็ยังมีการรีดไถและแสดงอำนาจ และชาวเขาเหล่านี้เขาถูกแบ่งชั้นแบ่งแยกเขาถูกมองเป็นคนชั้นต่ำของสังคม คนที่อยู่ในถิ่นที่เจริญมักจะดูถูกเหยียดหยามเรียกไอ้แม้ว ไอ้แม้วเหม็นสาบ พฤติกรรมตามที่ผมกล่าวมาได้ฝังลึกไปถึงจิตใจของชาวม้ง กลายเป็นเงื่อนไขและช่องว่าง  (.ผู้เขียนขอย้ำ อันนี้คือเหตุการณ์ที่ผ่านมาครับ ไม่ใช่ปัจจุบัน ปัจจุบันผู้เขียนก็แอบรักสาวม้งอยู่นะ 555.)

ดังนั้นที่ไหนมีการกฎขี่ข่มเหง ที่นั่นต้องเกิดการต่อสู้ จากนั้น พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะต่อสู้กับรัฐบาลด้วยอาวุธจึงจัดบุคลากรของเขาออกไปสู่ชนบทเพื่อปลุกระดมประชาชนตามชนบทเป็นแนวร่วม โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มชาวเขาเผ่าม้งจุดเริ่มต้นที่จ.น่านและเชียงราย  พคท.ได้หยิบยกเอาปัญหาต่างๆที่ชาวเขาถูกกฎขี่ข่มเหงขึ้นมาเป็นเงื่อนไข ชาวเขาได้ฟังคำชี้แจงที่น่าเชื่อถือได้จึงหันไปร่วมมือกับ พคท.ข่าวความเคลื่อนไหวของแกนนำพคท.(พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย)เปรียบเสมือนเทวดาตนใหม่ของชาวเขาเผ่าม้ง ดังนั้นชาวม้งที่ภูหินร่องกล้าจึงส่งตัวแทนไปดูงานที่ภาคเหนือตอนบน หนึ่งในนั้นที่ไปดูงานมีนายเหล่าตุ๊   หรือ ผู้กองสมวิทธิ์ชาวม้งที่ภูหินร่องกล้า  จากการพบปะพูดคุยกันทั้งสองฝ่ายเป็นเรื่องไม่อยากและเข้าใจกันได้ดี ปี พ.ศ.2507 พคท.ได้ส่งตัวแทนของพรรคฯมาที่ภูหินร่องกล้าและได้จัดตั้งโรงเรียนสอนภาษาไทยขึ้นในป่าสอนหนังสือให้กับชาวเขา จากนั้นพคท.ได้จัดส่งแกนนำของชาวม้งภูหินร่องกล้าไปเรียนที่โรงเรียนการเมืองการทหารประเทศเวียดนามเหนือ และประเทศจีนในระยะเวลาเร่งรัด หนึ่งในนั้นที่ไปเรียนการเมืองการทหารต่างประเทศ มีนายเหล่าตุ๊ หรือ ผู้กองสมวิทธิ์ ด้วยโดยเฉพาะนายเหล่าตุ๊หรือผู้กองสมวิทธิ์ ผู้เขียนเองเมื่อเดือน ต.ค.ปี 2559ที่ผ่านมาก็ได้มีโอกาสได้พบกับลูกสาวของเขาได้กลับมาไหว้ศพของคุณพ่อที่ภูหินร่องกล้าด้วย ปัจจุบันอยู่ที่จังหวัดตากครับ หลังจากที่สายเหล่าตุ๊หรือผู้กองสมวิทธิ์จบมาก็มาเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ให้กับชาวม้งที่ภูหินร่องกล้าในถิ่นภูมลำเนา  จากนั้นได้จัดส่งเพื่อนสนิทมิตรสหายไปเรียนที่ในหลักสูตรเดียวกันที่ตัวเองจบมา หลายคนหลายรุ่น และได้ลำเรียงอาวุธกระสุนรวมถึงเครื่องมือแพทย์ ตามหลักสูตรที่เรียนมา ส่วนความเคลื่อนไหวของ พคท.ที่ปฏิบัติการ ฝ่ายรัฐบาลก็รู้ข่าวจึงมีการจัดตั้งชุดคุ้มครองหมู่บ้านขึ้น ตามบ้านต่างๆในพื้นที่ภูหินร่องกล้าและรอบภู  จากนั้นฝ่ายรัฐบาลได้จัดตั้งสายสืบขึ้นโดยใช้คนในหมู่บ้านของชาวเขาด้วยกัน เพื่อหาข่าวความเคลื่อนไหวฝ่าย พคท. แต่แล้วสายลับหรือสายสืบในหมู่บ้าน ในเมื่อตนเองได้เป็นคนของเจ้านายฝ่ายรัฐบาลก็อวดในศักดิ์ศรี แทนที่จะแอบสืบข่าวแบบลับๆ กลับเบ่งอำนาจกับคนบ้านเดียวกันที่ด้อยกว่า  มึงรู้มั้ย ว่ากูเด็กใคร ไอ้คอมมิวนิสต์มันอยู่ไหนบอกมา  มีการข่มขู่  ดังนั้นชาวเขาในหมู่บ้านยิ่งมีความเกลียดชังฝ่ายรัฐบาลเพิ่มขึ้นอย่างมาก   ดังนั้นชาวเขาเผ่าม้งจึงหันไปร่วมมือกับ พคท.อย่างรวดเร็ว     

การจบมาของนักเรียนหลักสูตรการเมืองการทหารของชาวม้งที่ร่องกล้า ก็ได้จัดการกับพื้นที่ภูมิประเทศเพื่อจัดเป็นฐานที่มั่นหาจุดยุทธศาสตร์ที่แข็งแรง เช่นหน้าผา ถ้ำ ที่เป็นพื้นที่ ที่ได้เปรียบกว่าฝ่ายรัฐบาล จากนั้นพอถึงปี พ.ศ.2511พคท.ได้จัดส่งทหารหลักเป็นคนที่จบหลักสูตรการทหารมาจากเวียดนามเหนือ เข้ามาสมทบที่ภูหินร่องกล้า อีก 9 หน่วย ทั้ง 9 หน่วยได้แบ่งกำลังออกเป็น 3 ชุดใหญ่ๆ ชุดที่ 1 จากการนำของสหาย ดั่ง     รับผิดชอบพื้นที่ภูหินร่องกล้า ชุดที่ 2 จากการนำของนาย วิสุทธิ์   (สหายเหล่าเซิ้ง)รับผิดชอบพื้นที่เขาค้อ ชุดที่ 3 จากการนำของสหาย สุด รับผิดชอบเขตอำเภอหล่มสัก บ้านน้ำเดื่อ บ้านช้างตลูดอำเภอหล่มสัก ส่วนชุดที่ 3 ปฏิบัติงานปลุกระดมไม่สำเร็จ เพราะประชาชนดังกล่าวอยู่ในถิ่นที่เจริญแล้ว ดังนั้นชุดที่ 3 จึงยกกำลังทั้งหมดขึ้นไปร่วมกับชุดที่ 2 เขาค้อ  จากนั้นพคท.มีกำลังพร้อม อาวุธพร้อม จึงได้เปิดฉากโจมตีฝ่ายรัฐบาลก่อนในคืนวันที่ 20 พ.ย. 2511 เข้าตีฐานปฏิบัติการของ อส.ชุดคุ้มครองหมู่บ้าน บ้านห้วยทรายใต้ตำบลบ้านแยงอำเภอนครไทยอยู่ทางตอนใต้ของภูหินร่องกล้า เป็นเหตุให้ อส.เสียชีวิตและบาดเจ็บ ดังนั้นพรรคคอมมิวนิสต์ ที่ภูหินร่องกล้าได้ยึดถือเอาวันนั้นเป็นวันเสียงปืนแตกของเขตงานรอยต่อของ 3 จังหวัด จากนั้นกลุ่มพรรคคอมมิวนิสต์และชาวเขาเผ่าม้งที่เป็นแนวร่วมของ พคท.เร่งเก็บเกี่ยวข้าวไว้เป็นเสบียงเพื่อใช้ในการสู้รบ และได้จัดกำลังออกสู่แนวรบเพื่อสกัดกั้นฝ่ายรัฐบาล  ชาวม้งอีกส่วนหนึ่งที่ไม่เข้าร่วมกับ พคท.คือชาวม้งบ้านนาสะอุ้งเป็นส่วนมากได้อพยพลงจากบนภูไปสู่พื้นราบเข้าร่วมกับฝ่ายรัฐบาล ช่วงนั้นตัวผมเองยังเป็นเด็กเรียนอยู่ชั้นประถม แต่ก็ยังจำเหตุการณ์ได้ หมู่บ้านของผมเชื่อมต่อกับบ้านม้งนาสะอุ้ง

ในปีพ.ศ.2511ถึง ปี 2512 แต่ละวันจะมีชาวเขาเผ่าม้งอพยพ ลงมาที่หมู่บ้านของผมเป็นกลุ่มๆกลุ่มละ 10 คน 20 คน รวมถึงลูกเล็กเด็กแดงคนแก่คนเฒ่า ทางอำเภอหล่มเก่าได้ช่วยเหลือทำการปลูกกระท่อมกางเต็นท์อยู่กลางทุ่งนาข้างบ้านผู้ใหญ่บ้านเป็นการชั่วคราว วันหนึ่งๆชีวิตประจำวันของพวกผมตามประสาเด็กๆ ก็ไปเล่นกับชาวม้ง คุยกับเด็กด้วยกันบ้างคุยกับม้งที่เป็นผู้ใหญ่บ้าง ถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนภูหมู่บ้านเขา จะมีอยู่วันหนึ่งที่ผมเองตกใจและขวัญเสียมาก คือ ชาวม้งที่อพยพมาเขาจะมีม้าเป็นพาหนะประจำครอบครัวอยู่ 5 ถึง 7 ตัว ด้วยความคุ้นเคยพวกผมก็ไปขอขี่ม้าเล่นในกลางทุ่งยามเย็นกันทุกวัน แต่มีอยู่วันหนึ่งวันนั้นพวกผมอาจจะขี่ไปไกลจากศูนย์อพยพหน่อย ทำให้ม้าตัวของผมขี่เข้าใจผิด ม้าคงคิดว่าเจ้าของพากลับบ้านเดิมบนภูเขา ตามที่เจ้าของเคยขี่ลงมาเหมือนครั้งก่อนๆ ม้าตัวที่ผมขี่วิ่งมุ่งหน้าไปตามเส้นทางจะขึ้นเขาไป ผมเองบังคับม้าให้กลับด้วยการดึงเชือก ดึงอย่างไรม้าก็ไม่ยอมเลี้ยวไม่ยอมกลับ ผมเองเลยส่งเสียงร้องไห้ออกมาอย่างแรงบนหลังม้าตัวนั้น จะโดดก็โดดไม่ได้วิ่งไวพอสมควร แต่ก็ยังดีที่กำลังของตำรวจ นปพ.เขากลับจากการลาดตระเวน ช่วยกันสกัดม้าไว้ได้ สร้างความขบขันให้กับชุด นปพ.เป็นอย่างมาก นปพ.บอกว่า ไอ้หนูเองขี่ม้าเก่งมาก ทั้งๆที่ม้าไม่มีอาน..จากนั้นผมก็ไม่ยอมขี่ม้ากลับ แต่ก็จูงม้ากลับมาคืนเขา  ส่วนชาวม้งอีกจำนวนที่ไม่น้อยที่ไม่ยอมลงมาจากเขาได้ละทิ้งหมู่บ้านเข้าไปอยู่ป่าร่วมกับ พคท.ในป่า การปฏิบัติของพคท.ได้มีการฝึกคนของตนเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดส่วนเด็กอายุไม่เกิน 15 ปีจะต้องเข้าโรงเรียนเตรี่ยมทหารอยู่ในถ้ำ  ทหารฝ่ายรัฐบาลก็พยายามเข้าตีกองกำลังพคท.ที่ภูหินร่องกล้าอยู่ตลอดตั้งแต่ปีพศ. 2511 มาจนถึงปีพศ. 2516 ปีพศ. 2515 ทางการทหารฝ่ายรัฐบาลได้เปิดยุทธการตีครั้งใหญ่ ภายใต้รหัสยุทธการว่า(ภูขวาง) โดยใช้กำลังถึง 3 กองทัพ กองทัพภาคที่ 1 ราบ 11 รักษาพระองค์เป็นเจ้าภาพ ปีพ.ศง 2516 ทางการทหารเปิดยุทธการซ้อนขึ้นอีกภายใต้รหัสยุทธการว่า(สามชัย)ทั้งสองยุทธการไม่ประสบผลไม่สามารถยึดพื้นที่ได้ทั้งหมด จากนั้นพอถึงปีพ.ศ.2516 (14 ต.ค.16) เหตุการณ์นักศึกษาประท้วงขับไล่จอมพลถนอม  กิจติขจร นายกรัฐมนตรีลงจากต่ำแหน่ง เหตุการณ์การประท้วงของนักศึษาทำให้นักศึษาถูกปราบปรามมีผู้เสียชีวิตและถูกจับคุมขังมีนักศึกษาบางส่วนหลบหนีเข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์นักศึกษาบางส่วนมาร่วมกับ พคท.ที่ภูหินร่องกล้า ต่อมาพคท.ได้ขยายมวลชนเพิ่มเติมขึ้นตลอดมา มีการจัดตั้งหน่วยทหารหลักขึ้นหลายกองร้อย รวมทั้งทหารประจำถิ่น และในปีพ.ศ.2517 พคท.ได้เปลี่ยนชื่อบก.ทปท.เขต 23 เป็นบก.ทปท.เขต 30 และได้แบ่งพื้นที่เป็น 3 ส่วนเช่นเดิม บก.เขต 23 เหนือเป็นบก.เขต 10 และบก.เขต 23 ใต้ เป็นบก.เขต 15  จากนั้นเมื่อปลายปี 2518 ทปท.เขต 30 (ภูหินร่องกล้า)ได้ขยายเขตงานครอบคลุมถึงภูขัด ได้พิจารณาเห็นว่าภูขัดอยู่ใกล้ชายแดนไทย ลาว เพื่อความสะดวกเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายกำลังและเพิ่มเติมอาวุธยุทโธปกรณ์จากฝั่งลาว จึงได้พิจารณาย้าย บก.ทปท.เขต 30 ไปอยู่ที่ภูขัด โดยย้ายกองร้อย 573 ไปเป็นกองร้อยลูกมือ เรียกว่า สำนัก 573  พอถึงปีพ.ศ. 2519 นักศึกษาได้ทำการเดินขบวนประท้วง เมื่อ (6 ต.ค. 19)ทำให้นักศึกษาในเหตุการณ์ วันที่ 6 ต.ค. 19 หลบหนีมาเข้าร่วมกับ พคท.ที่ภูหินร่องกล้าเป็นจำนวนมาก ดังนั้นทำให้พคท.เขตงานรอยต่อสามจังหวัดหรือเขต 10 ภูหินร่องกล้า มีกำลังคึกคักขึ้นเป็นอย่างมาก ปีพ.ศ. 2520 พคท.ที่ภูหินร่องกล้าได้ทำการจัดตั้งโรงเรียนการเมืองการทหารขึ้นที่ภูหินร่องกล้า(โรงเรียนการเมืองการทหารปัจจุบัน) นับตั้งแต่ที่มีนักศึกษาเข้ามาอยู่กับพคท.แล้วทางการทหารไม่มีการเปิดยุทธการอีกเพียงแต่วางกำลังคุ้มกันรอบนอกและยิงปืนใหญ่ทิ้งระเบิดสร้างความกฎดัน มีการปะทะกันเป็นระยะ  ส่วนภายในของกลุ่มพคท.ในฐานที่มั่นก็เริ่มมีการขัดแย้งกันขึ้นภายใน ทำให้พคท.มีปัญหาในการปฎิบัติงานของระดับแกนนำพรรคคอมมิวนิสต์

จากการต่อสู้กันมาระหว่างทหารฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายพคท.ตั้งแต่ปี 2511 จนถึงปี 2523 เป็นต้นมาดังนั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้มองเห็นความสำคัญของชีวิตเลือดเนื้อของคนไทยทั้งสองฝ่ายเมื่อครั้งที่พระองค์ได้เสด็จออกมาพื้นที่ที่มีการสู้รบเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2519 ณ.ที่ค่ายสฤษดิ์เสนาอำเภอวังทองจังหวัดพิษณุโลกพระองค์ได้มีพระราชดำริให้กับนายทหารชั้นผู้ใหญ่เช่น พลเอกเปรม  ติณสูลานนท์พร้อมด้วยพลเอกพิจิตร  กุลละวณิชย์ ว่า การปราบปราม พคท.ให้เปลี่ยนยุทธวิธีการสู้รบใหม่พระองค์ได้มองเห็นว่าคอมมิวนิสต์ก็คือคนไทยด้วยกันเพียงแต่มีความคิดที่ไม่ตรงกัน พระองค์ทรงตรัสว่า อย่าเรียกพวกเขาว่าผู้ก่อการร้ายอย่าเรียกพวกเขาว่าผู้ทรยศ จากนั้นเพื่อเป็นการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์อย่างรวดเร็วพลเอกเปรม  ติณสูลานนท์นายกรัฐมนตรีได้นำพระราชดำริของพระองค์มาใช้จึงได้ออกคำสั่งที่ 66/2523 เป็นคำสั่งของสำนักนายกรัฐมนตรี(พลเอกเปรม   ติณสูลานนท์เป็นนายกรัฐมนตรี) ว่าด้วยการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์โดยใช้การเมืองนำการทหารเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์เข้ามอบตัวได้โดยไม่มีความผิด ดังนั้นมวลชนชาวเขาเผ่าม้งจึงได้ลงจากเขาเข้ามอบตัวต่อทางการและรับที่ทำกิน เช่นที่บ้านห้วยน้ำไซ,บ้านร่องกล้า,บ้านตูบค้อ,บ้านทับเบิก  ซึ่งหมู่บ้านต่างๆอยู่ในละแวกใกล้เคียงกับภูหินร่องกล้าจากนั้นปีพ.ศ.2525 ทางการได้ออกคำสั่งเพิ่มจากคำสั่งที่ 66/2523 และคำสั่งที่ 65/2525 เพื่อให้พรรคคอมมิวนิสต์สลายตัวไม่เอาผิดกับผู้เข้าร่วมขบวนการได้วางอาวุธแล้วก็     หลบหนีไป ทำให้ตัวระดับแกนนำหลบหนีไปอยู่ที่ สปปล. (ประเทศลาว)พร้อมกันนั้นทางการทหารพตท. 33 อำเภอหล่มสักได้ทำการตัดถนนผ่านใจกลางภูหินร่องกล้าและได้มีหนังสือด่วน มาก

ที่ สร.4001 (310)/324 ลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2526  ให้กองทัพภาคที่ 3 พิจารณาร่วมและประสานกับกรมป่าไม้ เพื่อพิจารณาจัดตั้งบริเวณป่าภูหินร่องกล้าเป็นอุทยานแห่งชาติ  ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2526  กองอุทยานแห่งชาติจึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ ไปดำเนินการสำรวจหาข้อมูล  สรุปได้ว่าพื้นที่ดังกล่าว  มีสภาพภูมิประเทศและทิวทัศน์สวยงาม  เป็นป่าต้นน้ำลำธาร  และเอกลักษณ์ทางธรรมชาติที่เป็นจุดเด่นหลายแห่ง เช่น ลานหินแตก ลานหินปุ่ม ประกอบกับเป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ของการสู้รบระหว่างกองทัพแห่งชาติกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ เหมาะสมจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติได้  กรมป่าไม้ได้เสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งได้มีมติในคราวประชุมครั้งที่ 1/2526 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2526 เห็นสมควรให้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณภูหินร่องกล้า  ในท้องที่ตำบลบ่อโพธิ ตำบลเนินเพิ่ม ตำบลบ้านแยง อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก  และ ตำบลกกสะทอน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2527 ประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 101 ตอนที่ 96 ลงวันที่( 26 กรกฎาคม 2527) นับเป็นอุทยานแห่งชาติ ลำดับที่ 48 ของประเทศ แต่โดยก่อนหน้านั้น ระหว่างการประสานงานจัดตั้งอุทยานฯในปีพ.ศ. 2526 ทหารได้ดำเนินการเปิด อุทยานฯหินร่องกล้า เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2526 พลเอก อาทิตย์  กำลังเอกเป็นประธาน ปี พ.ศ. 2527 ทหารส่งมอบอุทยานฯภูหินร่องกล้ากลับคืนอยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้ตั้งแต่นั้นมา

มนัส สีเสือ (เสือ ภูร่องกล้า หรือ เสือ ภูลมโล) ตำแหน่งปัจจุบัน เป็นประชาสัมพันธ์ที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า

……………………………………………………………………….

แสดงความคิดเห็น