สพป.พิษณุโลกเขต1 ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโครงการอาหารกลางวันเด็ก

วันที่ 21 มิถุนายน 2561 ที่ห้องประชุมคอนเวนชั่น โรงแรมอมรินทร์ลากูน   นายไพบูลย์ ณะบุตรจอม  รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานเปิดเปิดการประชุมโครงการอาหารกลางวันแบบยั่งยืนของโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิษณุโลก เขต 1 ขึ้น พร้อมทั้งมอบนโยบายในการจัดการอาหารกลางวันแก่นักเรียนในโรงเรียน รวมถึงมีการเสวนาการดำเนินงานด้านอาหารกลางวันอย่างยั่งยืน การนำเสนอการดำเนินงานจากโรงเรียนต้นแบบอาหารกลางวัน ซึ่งมีผู้บริหารโรงเรียน ครูผู้ดูแลอาหารกลางวัน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ตัวแทนหน่วยงานราชการในจังหวัดพิษณุโลก จำนวน 500 คนเข้าร่วมในกิจกรรม

นายพงษ์ชัย  ไทยวรรณศรี ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิษณุโลก เขต 1 เปิดเผยว่าโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษาเกิดขึ้นภายหลังจากที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีพระราชดำรัส ถึงปัญหาถึงปัญหาเด็กขาดสารอาหาร  ในพิธีเปิดการประชุมโภชนาการแห่งเอเชีย เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2526 ซึ่งต่อมาได้ตราเป็น พ.ร.บ.กองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวัน พ.ศ.2535 เพื่อช่วยเหลือนักเรียนที่ขาดแคลนให้รอดพ้นจากภาวะทุพโภชนาการ โดยกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้ดำเนินการ รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณเป็นค่าอาหารกลางวัน สำหรับนักเรียน ระดับอนุบาล และประถมศึกษาทุกคน ในอัตรา 20 บาท ต่อคนต่อวัน จำนวน 200 วัน ต่อปี ผ่านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเพื่อให้ อปท. โอนให้โรงเรียนดำเนินการ

สำหรับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิษณุโลก เขต 1 มีโรงเรียนในสังกัด จำนวน 120 โรงเรียน  นักเรียนทั้งหมด 22,011 คน  (ข้อมูล 10 มิถุนายน 2560)  เป็นนักเรียนที่ได้รับการสนับสนุนให้รับประทานอาหารกลางตามโครงการอาหารกลางวันเป็นนักเรียนระดับอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6  จำนวน 19,255  คน  ซึ่งจากการติดตามดำเนินงาน พบว่า โรงเรียนประสบปัญหาการดำเนินการโครงการอาหารกลางวัน เช่น โรงเรียนต้องใช้ครูมาจัดทำ ดูแล อาหารกลางวัน รวมทั้งการจัดทำเอกสาร การเบิกจ่ายยุ่งยากซับซ้อน ทำให้ต้องทิ้งภาระการสอน ซึ่งเป็นงานหลัก  โรงเรียนขนาดเล็กมีข้อจำกัด เนื่องจากงบประมาณค่าอาหารกลางวันไม่เพียงพอ และขาดบุคลากรดูแลโครงการอาหารกลางวัน  ปัญหาการจัดการซื้อจัดจ้างที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบ ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของโครงการอาหารกลางวัน  โรงเรียนประถมศึกษาที่เปิดขยายโอกาส (ม.1-3) ไม่มีงบประมาณอาหารกลางวันให้เด็กมัธยม บางครั้งต้องแบ่งเฉลี่ยจากอาหารกลางวันของเด็กประถมศึกษา รวมถึง โรงเรียนบางแห่งมีปัญหาด้านการเบิกจ่ายและบริหารจัดการ เนื่องจากได้รับการโอนเงินหลังการเปิดภาคเรียน ติดขัดกับระเบียบการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนของ อปท. ซึ่งไม่ให้ก่อหนี้ผูกพันก่อนได้รับการโอนเงินประมาณ

ซึ่งสำนักงานเขตพื้นที่ได้ดำเนินการด้านอาหารกลางวันโดยมีเป้าหมายสำคัญคือให้นักเรียนได้รับอาหารกลางวันที่มีคุณภาพด้วยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน  จึงได้ส่งเสริม สนับสนุนให้โรงเรียน มีความเข้มแข็งในการบริหารจัดการโครงการอาหารกลางวันด้วยการนำเอาหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เพื่อผลิตผักและอาหารโปรตีนคุณภาพสูงปลอดสารพิษมาสนับสนุนกิจกรรมโครงการอาหารกลางวัน  นอกจากนี้ยังได้ใช้เครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานภาคเอกชนให้การสนับสนุนงบประมาณและอุปกรณ์ในดำเนินงาน รวมถึงเครือข่ายชุมชนผู้ปกครองนักเรียนที่เข้ามามีส่วนร่วมเข้ามาช่วยครูในการทำอาหารกลางวันและควบคุมคุณภาพอาหาร มีการประสานกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยมีโรงเรียนได้รับงบประมาณจาก อปท. ก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 คิดเป็นร้อยละ 77.50 นอกจากนี้คณะผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ ได้ออกนิเทศ ติดตามการดำเนินงานของโรงเรียนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ  ยังไม่พบการดำเนินการของโรงเรียนที่ส่อไปทางทุจริต และมีโรงเรียนสามารถดำเนินการเป็นแบบอย่างที่ดี จำนวน 19 โรงเรียน

//////////

แสดงความคิดเห็น