ผศ.พญ.พันธิตรา สิงห์เขียว ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริหารการศึกษา คณะแพทยศาสตร์ ม.นเรศวร เปิดเผยว่า มาตรฐานหลักสูตร WFME (World Federation for Medical Education) เป็นเกณฑ์การประเมินหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตเพื่อรับรองว่ามีคุณภาพระดับสากลหรือระดับโลก สำหรับการเข้ามาของมาตรฐาน WFME สู่โรงเรียนแพทย์ในประเทศไทย ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดการพัฒนาในการสร้างหลักสูตรฯ ที่จะผลิตบัณฑิตแพทย์ให้ได้มาตรฐานระดับโลก ยิ่งเป็นเครื่องการันตีได้ว่าแพทย์ท่านนั้นๆ ที่จบจากสถาบันที่ผ่านการประเมิน WFME เป็นแพทย์ที่ได้มาตรฐานที่ทั่วโลกยอมรับ ซึ่งจะมีความสำคัญต่อแพทย์ท่านนั้นๆ เป็นอย่างมาก เนื่องจากปัจจุบันมีข้อกำหนดจากประเทศอเมริกา และบางประเทศในแถบยุโรปว่า หากแพทย์ท่านไหนต้องการจะศึกษาต่อเพิ่มเติมในประเทศดังกล่าวข้างต้น จะต้องจบหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตจากสถาบันหรือโรงเรียนแพทย์ที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน WFME เท่านั้น
ผศ.พญ.พันธิตรา กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากความโดดเด่นในเรื่องของหลักสูตรฯ ที่ผ่านมาตรฐานหลักสูตร WFME (World Federation for Medical Education) แล้ว ทางคณะฯ และมหาวิทยาลัยนเรศวร ยังมีปณิธานที่ชัดเจนว่า จะผลิตแพทย์เพื่อรับใช้ประชาชนอย่างแท้จริง ดังนั้น การคัดเลือกเข้ารับการศึกษาในหลักสูตรฯ นี้ จึงคัดเลือกมาจาก 4 ช่องทางด้วยกัน ได้แก่
1.Community tract : รับนักเรียนที่มีภูมิลำเนาในกลุ่มจังหวัดในพื้นที่บริการ ได้แก่ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ แพร่ ตาก พิจิตร เพชรบูรณ์ เมื่อจบเป็นแพทย์จะทำงานอยู่ในเขตพื้นที่บริการดังกล่าวหรือจังหวัดใกล้เคียง เพื่อลดความขาดแคลนแพทย์ของประชาชนในพื้นที่บริการ
2.Inclusive tract : การขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับนักเรียนที่ตั้งใจอยากกลับไปพัฒนา
ดูแลประชาชนในเขตพื้นที่ภูมิลำเนาของตนเอง โดยเฉพาะนอกเขตอำเภอเมือง ซึ่งจัดเป็นพื้นที่คลาดแคลนแพทย์ จึงมีโครงการรับนักเรียนที่มีภูมิลำเนานอกเขตอำเภอเมืองในกลุ่มจังหวัดพื้นที่บริการเพิ่มขึ้นมากอีกหนึ่งโครงการ
3.Strengthening tract : การขยายโอกาสทางการศึกษาสำหรับผู้ที่จบปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ และมีความรู้ ความเข้าใจในการดูแลสุขภาพประชาชนที่มีความต้องการจะศึกษาต่อในหลักสูตรฯ
เพื่อเป็นแพทย์ที่เข้าใจบริบทของชุมชน และประชาชนในพื้นที่ต่างจังหวัดได้เป็นอย่างดี
4.Direct admission : รับตรงจากนักเรียนทั่วประเทศ ผ่านระบบของกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์
แห่งประเทศไทย