ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ ต.สมอแข อ.เมือง จ.พิษณุโลก ทางกลุ่มผู้สูงอายุของชาวบ้าน ต.สมอแข ได้รวมตัวกัน นำโดยนายสนั่น เอี่ยมสาย อายุ 57 ปี ปราชญ์ชาวบ้าน ต.สมอแข ที่มีความสามารถฝีมือมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการแทงหยวกกล้วย ตัดกระดาษ งานจักสาน การทำม้าไม้สำหรับงานบวช โดยเฉพาะการทำม้าไม้สำหรับงานบวช ที่ยังคงเป็นเอกลักษณ์ ที่งดงาม ผู้สูงอายุเหล่านี้ได้สืบทอดไปสู่รุ่นลูกหลาน
นายสนั่น เอี่ยมสาย ปราชญ์ชาวบ้าน ต.สมอแข กล่าวว่า ในการทำงานม้าไม้งานบวชไม่ยาก เพียงไปตัดไม้ไผ่ในหมู่บ้านมาทำเป็นโครงไม้ ซึ่งผู้สูงอายุแต่ละคนก็จะแบ่งงานกันทำ ไม่ว่าจะเป็นการดัดไม้เผ่าด้วยการลนไฟ การทำโครงม้า การตกแต่ง ซึ่งแต่ละครั้งจะทำม้าไม้ประมาณ 3 วัน ซึ่งม้าไม้สำหรับงานบวช นั้น จะดัดแปลง เป็นรูปหงส์ หรือ รูปม้า ทั่วไปได้ เพื่อความสวยงาม
สำหรับชาวไท-ยวน ในจังหวัดพิษณุโลก มีประมาณ 10 หมู่บ้าน แต่ละหมู่บ้านจะมีผู้สูงอายุที่ยังรักษาทางวัฒนธรรมของชาวไท-ยวน ที่มีอัตลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย ภาษา ประเพณีต่างๆ ซึ่งคงความมีเสน่ห์ จากชาติพันธุ์เดิมของชาวสมอแขที่ย้ายมาจาก จ.ราชบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม โดยแต่เดิมอพยพมาจาก โยนกเชียงแสนนคร ซึ่งปัจจุบัน คือ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย
ด้วยวัฒนธรรมที่ยาวนาน ทางสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลก ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลสมอแข และกลุ่มไท-ยวน ต.สมอแข จึงได้ส่งเสริมจัดตั้งศูนย์อนุรักษ์วัฒนธรรมไท-ยวน ขึ้น ที่บ้านดงประโดก หมู่ที่ 3 ต.สมอแข อ.เมืองพิษณุโลกแห่งนี้ขึ้น เพื่อให้เยาวชนรุ่นหลานได้มาศึกษาหาความรู้และเที่ยวชมกันได้ถึงที่ โดยภายในศูนย์จะรวบรวมทั้งทางด้านวัฒนธรรมพื้นถิ่น ทั้งการทอผ้าลวดลายดั้งเดิมของชาวไท-ยวน ที่สวยงามอีกด้วย
///////