เปิดตัวผลิตภัณฑ์ว่านมหาเมฆสมุนไพรไทยกระตุ้นการเจริญของเส้นผม

วันที่ 9 พ.ย.2560  ที่ศูนย์วิจัยเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ อาคารมหาธรรมราช มหาวิทยาลัยนเรศวร ต.ท่าโพธิ์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก ผศ.ดร.พีรธร  บุณยรัตพันธุ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วย นายกนกพงษ์  ม่วงศรี ประธานกรรมการ บริษัท สยามนวัตต จำกัด ดร.กมล  ไชยสิทธิ์ ที่ปรึกษา บริษัท สยามนวัตต จำกัด รศ.ดร.เนติ  วระนุช นักวิจัย รศ.ดร.กรกนก  อิงคนินันท์ นักวิจัย ร่วมกับเปิดงานและแถลงข่าวผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย “ว่านมหาเมฆ” สู่นวัตกรรมกระตุ้นการเจริญของผมสำหรับผู้มีปัญหาผมหลุดร่วงและศีรษะล้าน ส่งผลทำให้มีปัญหากระทบต่อบุคลิกภาพและความมั่นใจในตนเอง โดยหนึ่งในภาวะผมร่วงที่พบบ่อยคือภาวะผมร่วงจากฮอร์โมนเพศชาย (androgen) หรือ androgenic alopecia ซึ่งมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเพศชาย Dihydrotestosterone (DHT) สารต้านเอนไซน์ไฟว์แอลฟารีดักเทส ซึ่งเป็นเอมไซม์ที่เปลี่ยน testosterone เป็น DHT จึงมีศักยภาพที่จะใช้รักษาภาวะผมร่วงจากฮอร์โมนเพศชาย

ทั้งนี้คณะผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยนเรศวร พบว่าสารสกัดจาว่านมหาเมฆ (Curcuma aeruginosa Roxb.) ซึ่งเป็นพืชวงศ์เดียวกับขมิ้นมีฤทธิ์ต้านฮอร์โมนเพศชายทั้งในระดับหลอดทดลอง และสัตว์ทดลองด้วยกลไกลยับยั้งเอนไซม์ไฟว์แอลฟารีดักเทส สารที่ออกฤทธิ์นี้เป็นสารกลุ่ม sesquiterpenes โดยมีสารหลักที่ออกฤทธิ์สูง นอกจากนี้ยังทำการศึกษาความเป็นพิษแล้วพบว่าสารสกัดไม่เกิดพิษทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง ทีมวิจัยได้ศึกษาคุณสมบัติทางเคมีและกายภาพของสารสกัด และพัฒนาผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผมของผู้มีปัญหาศีรษะล้านจากแอนโดรเจนจากสารสกัดมาตรานี้ ทดสอบความปลอดภัยโดยผลิตภัณฑ์ไม่มีปัญหาด้านการระคายเคืองต่อผิว จากนั้นศึกษาประสิทธิภาพในเชิงคลินิกในอาสาสมัครชาย 87 คน ที่มีภาวะศีรษะล้านในโรงพยาบาลรัฐ 3 แห่ง โดยศึกษาแบบสุ่มเทียบกับยาหลอก และยากระตุ้นการเจริญของผมพบว่าสารสกัดนี้ช่วยเพิ่มการเจริญของผมอย่างมีนัยสำคัญ แสดงถึงศักยภาพในการนำสารสกัดว่านมหาเมฆมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ในผลิตภัณฑ์กระตุ้นการเจริญของผม

คณะวิจัยจึงได้จดสิทธิบัตรและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ บริษัท สยามนวัตต จำกัด เพื่อต่อยอดทำการส่งต่อผลิตภัณฑ์แก่ผู้บริโภค มีทั้งแชมพูสมุนไพรว่านมหาเมฆ ครีมนวดผมสมุนไพรหว่านมหาเมฆ แฮร์โทนิกสมุนไพรว่านมหาเมฆ เป็นต้น เพื่อต้านศีรษะล้าน ผมร่วง ผมบาง ควบคุมการเจริญของเส้นผม ซึ่งจะเห็นผลอย่างน้อยต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 6 เดือน นำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมภายใต้แบรนด์ชื่อ “นวัตรา” (Nawattra) เพื่อกระจายสินค้าสู่ผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งได้รับรางวัล Silver Medal จาก Geneva Innovation 2014 ที่จัดขึ้น ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และ รางวัล JIPA Award : The Best Innovation in Biotechnology ในงานวันนักประดิษฐ์ 2557 โดยคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติอีกด้วย.

…………………………………………………………………………..

แสดงความคิดเห็น