วันที่ 7 ตุลาคม 2560 ที่ห้องประชุมคริสตัล1 โรงแรมเดอะปาร์ค จังหวัดพิษณุโลก ดร.เมธี จันทร์จารุภรณ์ ประธานสถาบันประชาชนเพื่อการสาธารณสุขมูลฐาน เป็นประธานเป็นการสัมมนาทางเลือกทางรอด “ชาวนาบอกชาวนาปรับตัวอย่างไรในยุค 4.0” โดยมีวิทยากร นายระวี รุ่งเรือง ผู้นำเครือข่ายสมาคมองค์กรชาวนา นายเกียรติศักดิ์ กายสุต ประธานศูนย์ข้าวชุมชนจังหวัดนครสวรรค์ ,นายอัษฎางค์ สีหาราช ประธานศูนย์ข้าวชุมชนระดับประเทศ ,ดร.วันชาติ นภาศรี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ พร้อมประกาศเจตนารมณ์ สู่มิติใหม่ของการพัฒนาเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน โดยมีตัวแทนชาวนาจาก 17 จังหวัดภาคเหนือเข้าร่วมสัมมนา ทั้งนี้ เพื่อแก้วิกฤตปัญหาชาวนาไทยที่ยังวนเวียนอยู่ในวงจรหนี้สินยากที่จะหลุดพ้น รัฐบาลได้มีนโยบายสนับสนุนให้เกษตรกรชาวนาไทย เปลี่ยนแปลงการทำเกษตรแบบดั้งเดิมสู่การเกษตรสมัยใหม่เพื่อก้าวสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการสร้างนวัตกรรมใหม่เกี่ยวกับการเกษตร และใช้แนวทางประชารัฐเพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคงทางอาหารและมีศักยภาพเป็นผู้นำข้าวในตลาดโลก
ดร.วันชาติ นภาศรี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า สัมมนาทางเลือกทางรอด “ ชาวนา บอกชาวนาปรับตัวอย่างไรในยุค4.0” อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชาวนา ซึ่งปัญหาชาวนาไทยเป็นเรื่องใหญ่ในเวทีระดับโลก การสร้างความเข้มแข็งของภาคเกษตรให้กินดีอยู่ดีมีความสุข ต้องปลดหนี้เป็นสูญ ซึ่งแนวทางการปลดนี้แบ่งเป็น 3 ขั้นตอนคือ 1 ลดหนี้ 2 ปลดหนี้ 3 ทำให้ปลดหนี้ ซึ่งสาเหตุแห่งหนี้สินของชาวนาส่วนใหญ่มาจากต้นทุนการปลูกข้าว ทั้งค่าพันธุ์ข้าว ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง แรงงาน ค่าใช้จ่ายรายวันและส่งลูกเรียนคงต้องถึงเวลาที่ชาวนาต้องปรับเปลี่ยนการทำนา เพื่อลดต้นทุนให้ได้ผลกำไรและปลดหนี้ได้
นายอัษฎางค์ สีหาราช ประธานศูนย์ข้าวชุมชนระดับประเทศ กล่าวว่า ตนเองเป็นชาวนาคนหนึ่งที่ประสบปัญหาจนมีหนี้สินถึง 4 แสนบาท เนื่องจากชาวนาในปัจจุบันมีเทคโนโลยีมาช่วยในการทำนา ส่งผลให้ต้นทุนการทำนาต่อไร่สูงถึง 5,200-5,500 บาท ทั้งจากค่าจ้างไถ ค่าเมล็ดพันธุ์ข้าว ค่ายาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ค่าปุ๋ย ค่าน้ำมันสูบน้ำ ต่อให้ทำนาได้ผลผลิตไร่ละ 1 ตัน ขายข้าวอย่างไงก็ไม่คุ้มกับการลงทุน เพราะราคาข้าวปัจจุบันขายได้ตันละ 5,500-6,000 บาท ชาวนาต้องลดต้นทุนการผลิตด้วยการพึ่งพาตัวเอง ทำเกษตรอินทรีย์ ต้นทุนการทำนาจะลดลงเหลือเพียงไร่ละ ไม่เกิน 3,000 บาท ขายข้าวได้ตันละ 6 พันยังทำให้พอเหลือรายได้มาจุนเจือครอบครัว นอกจากนี้ต้องรวมกลุ่มกันแปรรูปข้าว แล้วส่งเสริมให้คนในจังหวัดกินข้าวจากชาวนาในพื้นที่ผลิต อย่างข้าวเพชรพิชัย จ.อุตรดิตถ์ ที่เป็นแบรนด์ที่ประชาชนในพื้นที่หาซื้อรับประทาน ทำให้ชาวนาที่แปรรูปขายข้าวกิโลกรัมละ 50 บาท หรือตันละ 50,000 บาท
นายระวี รุ่งเรือง ผู้นำเครือข่ายสมาคมองค์กรชาวนา กล่าวว่า ประเทศไทยเราโชคดีอยู่ในพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ ศาสตร์พระราชา เป็นหลักในการให้ชาวนาสู่การปฏิบัติ เป็นทฤษฎีใหม่ที่ทำให้ครอบครัวอบอุ่น ทำให้ชาวนามีรายได้ตลอดปี และไม่มีหนี้สิน การปลูกพืชแบบผสมผสาน การเกษตร 9 ชั้น ในพื้นที่ที่มีจำกัด 5 ไร่ ได้เปลี่ยนชาวนาจากที่มีรายได้จากวันละ 200-300 บาท ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 10 เท่า รายได้เป็นวันละ 2,000-3,000 บาท นับเป็นแนวทางการทำเกษตรผสมผสานของพ่อหลวงที่ทำไว้ดีแล้ว ช่วยทำให้เกษตรกรมีรายได้ดีขึ้น ชาวนาต้องเปลี่ยนวิธีการคิด เปลี่ยนการเกษตรเป็นแบบพึ่งพาตัวเองมากขึ้น เป็นแนวทางลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ ปลดหนี้สินและทำให้ชาวนามีความยั่งยืนในอนาคต
////