บ่อเก็บน้ำบาดาล ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เก็บน้ำที่ฝนตกไว้ใต้ดินได้ผลจริง

วันนี้( 19 ก.ย.) เจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาล นำโดยนายประจวบ ลอยสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 7 พร้อมด้วยนายมงคล สมวันดี ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำบาดาล เขต 7 ,นายบรรจง พรหมจันทร์ นักธรณีวิทยา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรน้ำบาดาล ได้เดินทางไปตรวจสอบบ่อเติบน้ำบาดาลที่ใช้กักเก็บน้ำบนดินไปไว้ใต้ดิน ควบคู่กับบ่อบาดาลภูมิปัญญาของชาวบ้านของนายนายสุวรรณ ขจรไชยกุล และ ทองปาน เผ่าโสภา ชาวบ้าน หมู่ 14 ต.หนองกุลา อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ที่ใช้ภูมิปัญญาในการขุดบ่อเก็บน้ำไว้ใต้ดินไว้ใช้ในฤดูแล้ง และในฤดูฝนน้ำฝนก็ไหลลงสู่บ่อบาดาลกักเก็บไว้ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา ได้เกิดฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ ต.หนองกุลา อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ปรากฎว่ามวลน้ำที่ขังกลับไหลลงสู่บ่อเติมน้ำบาดาล ไปเก็บไว้ในใต้ดิน เป็นธนาคารน้ำใต้ดินได้ผล

นายสุวรรณ ขจรไชยกุล อายุ 67 ปี อยู่บ้านเลขที่ 163/3 หมู่ 14 ต.หนองกุลา อ.บางระกำ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่าในหมู่บ้าน มีตนและลุงทองปาน ที่เจาะบ่อบาดาลกักเก็บน้ำในฤดูฝนผ่านบ่อบาดาลไว้ใต้ดิน ซึ่งถือว่าเป็นภูมิปัญญาที่ใช้ได้ แต่ตนเองเป็นบ่อเล็ก เนื่องจากไม่มีทุนทรัพย์ แต่หลังจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เข้ามาเจาะบ่อให้และส่งเสริมให้ความรู้ ก็ถือว่าเป็นประโยชน์แก่ชาวบ้านเป็นอย่างมาก ทำให้ฝนที่ตกเมื่อ 2-3 วันนี้สามารถกักเก็บน้ำลงไปในใต้ดินหมดเกลี้ยง ซึ่งหากฝนมาเท่าไรก็ไรลงดินหมด บางส่วนอาจไหลลงสู่ตามคูคลอง ซึ่งถือว่าได้ผลเป็นการกักน้ำไว้ใต้ดิน ไม่ต้องไหลลงสู่แม่น้ำยม จนเพิ่มระดับ

ด้านนายมงคล สมวันดี ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำบาดาล เขต 7  กล่าวว่า พื้นที่ใน ต.หนองกุลา เหมือนเป็นพื้นที่รับน้ำฝน ซึ่งเมื่อตกลงมาน้ำก็ซึมตามธรรมชาติ แต่ช้ามาก หากตกซ้ำก็จะทำให้ท่วมขัง ซึ่งหลังจากทำขุดบ่อเติมน้ำบาดาลใต้ดินนั้น เมื่อตกหนักๆ ก็จะไหลลงดินไวขึ้น ไม่เกิน 2 วันก็แห้งแล้ว ทำให้ประชาชนประโยชน์เก็บน้ำฝนไว้ใช้ในฤดูแล้งทางการเกษตร ซึ่งถือว่าเป็นแก้มลิงใต้ดิน

ด้านนายนายบรรจง พรหมจันทร์ นักธรณีวิทยา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวว่า ทางกรมทรัพยากรน้ำบาดาล หลังจากนำเสนอโครงการนี้ต่อนายกรัฐมนตรี และได้รับคำชมถึงภูมิปัญญาของชาวบ้านเป็นอย่างมากที่กักเก็บน้ำไว้ใช้ใต้ดิน โดยทางกรมทรัพยากรน้ำบาดาลในอนาคตก็จะทำการสำรวจในพื้นที่ของ 6 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก สุโขทัย กำแพงเพชร ตาก อุตรดิตถ์ พิจิตร ที่มีการขุดบ่อบาดาล โดยเฉพาะจังหวัดพิษณุโลก นั้นมีการขุดเป็นหมื่นบ่อ แล้วนำความรู้ในการทำบ่อเติมน้ำบาดาลไปใช้ ก็จะสามารถกักเก็บน้ำไว้ใต้ดินเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะบ่อบาดาลเก่า ที่เกษตรกรขุดไว้แล้วไม่ใช้ ก็ควรปรับปรุงให้เป็นบ่อเติมน้ำจะดีมาก และสามารถดึงกลับมาใช้ได้เหมือนเดิม อย่างไรก็ตามเบื้องต้นในขณะนี้ทางสำนักงานทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 7 ได้ทำลองขุดให้แก่เกษตรกรแล้ว 3 บ่อใน อ.บางระกำ และมีบ่อทรายเก่าของชาวบ้าน ที่สามารถดึงน้ำไปกักเก็บไว้ใช้ได้เช่นกัน

/////////////

แสดงความคิดเห็น