เวลา 09.00 น. วันที่ 11 กันยายน 2560 ที่ห้องประชุมมณฑลทหารบกที่ 39 ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อ.เมือง จ.พิษณุโลก โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน ได้จัดประชุมถอดบทเรียนโครงการบางระกำโมเดล 60 หรือ โครงการบริหารจัดการน้ำแบบชุมชนมีส่วนร่วมพื้นที่ทุ่งหน่วงน้ำบางระกำ โดยเชิญกลุ่มเป้าหมายผู้แทนผู้แทนท้องถิ่น ผู้แทนเกษตรกร จากอ.เมืองพิษณุโลก อ.พรหมพิราม อ.บางระกำ และอ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย มาประชุมเพื่อถอดบทเรียนการบริหารจัดการน้ำ แนวทางปัญหา และการเตรียมการในการจัดทำแผนสำหรับบริหารจัดการน้ำบางระกำโมเดล 61 ต่อไป โดยมีนายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผวจ.พิษณุโลก เป็นประธานในการกล่าวเปิดประชุม
นายชำนาญ ชูเที่ยง ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน เปิดเผยว่า ในปี 2560 ทุกภาคส่วนได้ริเริ่มโครงการบางระกำโมเดล 60 หรือ โครงการบริการจัดการน้ำแบบชุมชนมีส่วนร่วมพื้นที่หน่วงน้ำบางระกำ โดยเริ่มปรับปฏิทินการเพาะปลูกข้าวให้เร็วขึ้น เริ่มเพาะปลูกในวันที่ 1 เมษายน 2560 และเก็บเกี่ยวให้ทันในช่วงเดือนสิงหาคม 2560 เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากน้ำท่วมที่เกิดประจำ หลังจากนั้น พื้นที่ต่ำจะเป็นพื้นที่เก็บเก็บน้ำ หรือพื้นที่หน่วงน้ำ ชะลอน้ำไว้ในทุ่งนา ไม่ให้มีผลกระทบกับพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง สามารถหน่วงน้ำได้สูงสุด 400 ล้านลบ.ม. และจะเริ่มทำการเพาะปลูกอีกรอบในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน
นายชำนาญ เปิดเผยต่อว่า ภาพรวมพื้นที่เป้าหมายที่เริ่มปรับปฏิทินเพาะปลูก เกษตรกรให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยทำการเพาะปลูกทิ้งสิ้น 258,400 ไร่ คิดเป็น 97.50 % ของพื้นที่เป้าหมายจำนวน 265,000 ไร่ และเก็บเกี่ยวผลผลิตหมดแล้ว 100 % มีพื้นที่เสียหายจากผลกระทบจากร่องมรสุม พายุเซินการ และตาลัส จำนวน 10,400 ไร่ คิดเป็น 4 % ของพื้นที่เป้าหมาย โดยเกษตรกรส่วนใหญ่ใช้ข้าวพันธ์พิษณุโลก 2 และกข.41,กข.61 เป็นไปตามแผนและกำหนดการ
สำหรับพื้นที่นาข้าวที่เก็บเกี่ยวแล้ว ในช่วงที่ได้รับอิทธิพลจากพายุเซินกา กรมชลประทานได้เริ่มระบายน้ำจากแม่น้ำยมสายเก่า และแม่น้ำยมสายหลัก เข้าไปกักเก็บแล้วประมาณ 70,000 ไร่ ในพื้นที่ทุ่งแม่ระหัน ต.บ้านกร่าง อ.เมืองพิษณุโลก และบางส่วนในทุ่งยางระกำ ในต.ท่านางงาม ต.ชุมแสงสงคราม อ.บางระกำ มีปริมาณน้ำที่อยู่ทั้งในคลองในทุ่งบางระกำประมาณ 150 ล้านลบ.ม. ยังสามารถรองรับน้ำได้อีกประมาณ 250 ล้านลบ.บ.ม.