มน. วิจัยว่านมหาเมฆ สมุนไพรไทยแก้ปัญหาศีรษะล้านและหยุดการเจริญของขน

รศ. ดร.กรกนก อิงคนินันท์ เมธีวิจัย หัวหน้าศูนย์เทคโนโลยีสมุนไพร (Bioscreening Unit) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วย ดร.จักรริทนทร์ ศรีวิไล นักวิจัย ได้ร่วมกันเสนอผลงานการแพทย์แผนไทย สำหรับสุขภาพคนไทยในอนาคต โดยเฉพาะผลงานวิจัย “ผลิตภัณฑ์บำรุงผมที่กระตุ้นการขึ้นใหม่ของผม และผลิตภัณฑ์ชะลอการเจริญของขนรักแร้และขนตามร่างกาย”

รศ. ดร.กรกนก อิงคนินันท์ เมธีวิจัย หัวหน้าศูนย์เทคโนโลยีสมุนไพร (Bioscreening Unit) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร  กล่าวว่า หลังจากพบว่าภาวะผมร่วงเป็นปัญหาที่มีผลต่อบุคลิกภาพและความมั่นใจในตนเอง หนึ่งในภาวะผมร่วงที่พบบ่อย คือภาวะผมร่วงจากฮอร์โมนเพศชาย ซึ่งมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเพศชาย ไดไฮโดรเทสโทสเตอโรน (DHT) ที่ส่งผลกระตุ้นทำให้เกิดอาการผมร่วง การใช้สารต้านเอนไซม์ไฟว์แอลฟารีดักเทสที่เปลี่ยนเทสโทสเตอโรน เป็น DHT จึงมีศักยภาพที่จะใช้รักษาภาวะผมร่วงจากฮอร์โมนเพศชายได้

การวิจัยพบว่าสารสกัดจากว่านมหาเมฆซึ่งเป็นพืชวงศ์เดียวกับขมิ้น มีฤทธิ์ต้านฮอร์โมนเพศชายทั้งในระดับหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง ด้วยกลไกยับยั้งเอนไซม์ไฟว์แอลฟารีดักเทส โดยสารหลักที่ออกฤทธิ์สูงสุดคือ “เจอมาโครน” ซึ่งจากการศึกษาความเป็นพิษพบว่าสารสกัดไม่เกิดพิษทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง จากนั้น คณะวิจัยได้ศึกษาคุณสมบัติทางเคมีและกายภาพของสารสกัด และพัฒนาผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผมสำหรับผู้มีปัญหาศีรษะล้านจากสารสกัดมาตรฐานนี้  โดยได้นำว่านมหาเมฆ ที่ชาวเขาในหมู่บ้านเข็กน้อย อ.เขาค้อ  จ.เพชรบูรณ์ นำมาทำการวิจัย ซึ่งปกติชาวเขาจะปลูกว่านมหาเมฆสำหรับกินต้ม เพื่อบำรุงกำลังของผู้ชายเท่านั้น จึงนำมาวิจัยต่อยอดทางความคิด

 

ผลการทดสอบความปลอดภัยพบว่าผลิตภัณฑ์ไม่มีปัญหาด้านการระคายเคืองต่อผิว ขณะที่ประสิทธิภาพในเชิงคลินิกในอาสาสมัครชายจำนวน 87 คนที่มีภาวะศีรษะล้าน โดยศึกษาแบบสุ่มเทียบกับยาหลอก และยาไมน็อกซิดิล ซึ่งเป็นยากระตุ้นการเจริญของผม พบว่าสารสกัดนี้ช่วยเพิ่มการเจริญของผมอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มยาหลอก และแสดงผลเทียบเท่ากับไมน็อกซิดิล แต่ผลจะดียิ่งขึ้นถ้าใช้สารสกัดร่วมกับยาดังกล่าว งานวิจัยนี้จึงแสดงถึงศักยภาพในการนำสารสกัดว่านมหาเมฆมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ในผลิตภัณฑ์กระตุ้นการเจริญของผม โดยคณะนักวิจัยได้จดสิทธิบัตร ในปี 2559 ที่ผ่านมา

ดร.จักรริทนทร์ ศรีวิไล นักวิจัย  กล่าวว่า คณะผู้วิจัยจึงได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ผ่านทุนโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) เพื่อศึกษาฤทธิ์ของว่านมหาเมฆ นอกจากสามารถยับยั้งศีรษะล้านในผู้ชายแล้วไม่มีผลต่อสุขภาพของผู้ใช้อีกด้วย  นอกจากนี้ยังพบว่าว่านมหาเมฆ ยังยับยั้งการเจริญของขนรักแร้อีกด้วย ซึ่งผลการประเมินประสิทธิภาพในเชิงคลินิกในอาสาสมัครหญิง 30 คน ทั้งศึกษาแบบสุ่มและควบคุมด้วยยาหลอก พบว่าอัตราการเจริญของขนรักแร้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ  โดยทีมวิจัย จึงได้พัฒนาโรลออนสำหรับชะลอการเจริญของขนรักแร้ หลังจากใช้ผลิตภัณฑ์ไป 4 สัปดาห์เมื่อเทียบกับยาหลอก ซึ่งถือว่าได้ผลดีเกินคาดสามารถลดการเกิดขนที่รักแร้ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

/////////////

แสดงความคิดเห็น