ใช้ปูนปั้นสูตรเพชรบุรีทำประติมากรรมในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จเมืองพิษณุโลก

วันที่ 31 สิงหาคม 2560 ที่สวนกลางเมืองพิษณุโลก สี่แยกธนาคารกรุงไทย อ.เมืองพิษณุโลก ศิลปินในจังหวัดพิษณุโลกแขนงต่าง ๆ ยังคงทำงานศิลปะแขนงต่าง ๆ เพื่อจัดนิทรรศการภาพพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ตามโครงการ “ศิลป์สองแคว ๙   ตามพ่อ”  ระหว่างเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม 2560 และจะมีพิธีเปิดงานในวันที่ 19 กันยายน 2560 นี้ โดยขณะนี้ จะได้พบเห็นศิลปินมาวาดภาพในหลวง การจำลองยานหาพนะในที่หลวงร.9 เสด็จเยี่ยมพสกนิกร การแสดงภาพเก่า ๆ ของในหลวง และ งานประติมากรรมปูนปั้น ปั้นเป็นภาพในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินมาจ.พิษณุโลกในสถานที่ต่าง ๆ 13 ครั้ง โดยใช้ปูนปั้นสูตรเพชรบุรี สูตรการปั้นปูนแบบโบราณที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงปัจจุบัน

นายบุญนาศ หมีเทศ นักประติมากรรม กล่าวว่า ในส่วนงานปั้นสำหรับโครงการนี้ส่วนใหญ่จะเป็นศิลปินงานปั้นในจังหวัดพิษณุโลก ได้ร่วมกันสร้างสรรค์ภาพปูนปั้นเกี่ยวกับภาพกรณียกิจที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาที่เมืองพิษณุโลก จำนวน 13 ครั้ง นำมารวมเป็นภาพปูนปั้นนูนสูงในแผ่นเดียวกัน ขณะนี้ได้ขึ้นรูป ตั้งโครง และร่างภาพที่จะปั้นเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนในช่วงนี้ ช่างปั้นจากพิษณุโลก จะมาช่วยกันปั้นภาพประติมากรรมชิ้นนี้ โดยใช้ปูนปั้นแบบโบราณ หรือ ปูนปั้นสูตรเพชรบุรี ที่เมื่อชิ้นงานสำเร็จแล้ว จะเป็นภาพปูนปั้นนูนสูง สีขาวนวน และในอนาคต หากมีกำลังพอ ก็จะทำการหล่อจากแบบปูนปั้นชิ้นนี้ ฝากไว้ให้เป็นชิ้นงานของจ.พิษณุโลกต่อไป

นายสมพิศ  แพทย์ประสิทธิ์ ช่างปูนปั้นจากจ.พิจิตร ที่มาช่วยทำงานประติมากรรมชิ้นนี้ เปิดเผยว่า เทคนิคการทำประติมากรรมงานชิ้นนี้ จะใช้ปูนสูตรเพชรบุรี ที่ตนได้เรียนมาจากจังหวัดเพชรบุรี เป็นการปั้นปูนที่สืบทอดกันมานานตั้งแต่สมัยอยุธยา และหาชมการปั้นได้ยาก เพราะปกติแล้ว ช่างปั้นจะปั้นตามหน้าต่าง หลังหา ตามโบสถ์ และ วิหารในวัด ต่าง ๆ ที่อยู่สูง แต่สำหรับการทำงานชิ้นนี้ ประชาชนที่สนใจ วิธีการปั้น สามารถมาชมได้อย่างใกล้ชิด

นายสมพิศ เผยต่อว่า ขั้นตอนขณะนี้ จะขึ้นรูปปูนปั้น ด้วยปูนซีเมนต์ก่อน จากนั้น จะใช้ปูนปั้นสูตรเพชรบุรี มาปั้นปิดทับปูนซีเมนต์อีกชั้นหนึ่ง จะมีความคงทน อยู่ได้นาน และหากจะทำงานหล่อโลหะ ก็สามารถถอดแบบจากงานปั้นชิ้นนี้ได้เลย สำหรับสูตรการปั้นปูนแบบเพชรบุรีนั้นก็ใช้กรรมวิธีแบบดั้งเดิม นำส่วนผสมได้แก่ ทราย ปูนขาว กาวหนัง น้ำอ้อย กระดาษฟาง มาตำในครกผสมกันครั้งละ 10 กิโลกรัม และนำไปปั้นทับปูนซีเมนต์ที่ปั้นขึ้นรูปแล้ว เมื่อสำเร็จแล้ว จะออกเป็นสีขาวนวล

การเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9  ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎร รวม ๑๓  ครั้งที่  ๑. ตรงกับวันที่ ๒๗ – ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๐๑  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯเยี่ยมราษฎรภาคเหนือ ครั้งแรก ในวันที่ วันพฤหัสบดีที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๐๑  เสด็จทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ที่จังหวัดพิษณุโลก เป็นจังหวัดแรกของภาคเหนือ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถไฟพระที่นั่ง ถึง สถานีรถไฟจังหวัดพิษณุโลก ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก กราบบังคมทูลถวายรายงาน  และถวายพระแสงพระแสงราชศัสตราวุธฯ ตามราชประเพณี  จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากสถานีรถไฟ จังหวัดพิษณุโลก ถึง วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ  วรมหาวิหาร และเสด็จฯ ถึงศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก เสวยพระสุธารสแล้วเสด็จออก ณ พลับพลาฯ  พสกนิกรจังหวัดพิษณุโลก เฝ้ารับเสด็จ ที่สนามหน้าศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก เป็นจังหวัดแรก  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ออกประทับ ณ พลับพลาหน้าศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก   ทรงมีพระราชดำรัสแก่ราษฎรและข้าราชการ ที่มารอเฝ้าทูลละอองพระบาท  แล้วเสด็จฯลงเยี่ยมราษฎรอย่างใกล้ชิด ทรงประทับพักแรมที่ศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก

………………………………………………………………………………………………………………………………………………

 

 

 

แสดงความคิดเห็น