ที่ดักปลากด อีกหนึ่งเครื่องมือหาปลาของชาวอ.บางระกำ

วันอาทิตย์ 27 สิงหาคม 2560 นำชมวิถีชีวิตของชาวบ้านย่านใหญ่ ม. 8 ต.ท่านางงาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก หลังจากหมดฤดูเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังรอบนี้ ได้พักพื้นที่นาปล่อยเป็นพื้นที่หน่วงน้ำ หรือ ให้น้ำท่วมขังนาข้าวเป็นระยะเวลา 3 เดือน ชาวนาจำนวนมาก ได้ออกหาปลาเป็นอาชีพเสริมในช่วงนี้ โดยมีอุปกรณ์หลักในการหาปลาที่พบเห็นมากที่สุดคือลอบแดง นำไปตั้งดักปลาตามทางน้ำไหล จะได้ปลาขนาดเล็กหลากชนิด อาทิ ปลาสร้อย ปลากระดี่ ปลาแขยง แต่ยังมีอุปกรณ์หาปลาอีกชนิดหนึ่ง ที่พบเห็นไม่บ่อยหนัก นั่นคือ ที่ดักปลากด เป็นอุปกรณ์หาปลาแบบง่าย ๆ วัสดุหลักประกอบด้วย กระป๋องสี หรือ กระป๋อง รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า คานไม้สำหรับปิดปากกระป๋อง และยางหนังสะติ๊ก

นายขวัญมนัส  วันสาย อายุ 46 ปี อยู่บ้านเลขที่ 105 ม.8 บ้านย่านใหญ่ ต.ท่านางงาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก กล่าวว่า พื้นที่ตำบลท่านางงามจะถูกน้ำจากแม่น้ำยมสายหลักและแม่น้ำยมสายเก่าหรือคลองบางแก้วเอ่อล้นตลิ่งและท่วมขังเป็นระยะเวลา 2-3 เดือนเป็นประจำในช่วงหน้าฝน ชาวนาในพื้นที่จะทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง ช่วงน้ำท่วมก็จะออกหาปลาเป็นอาชีพเสริม ส่วนใหญ่จะใช้ลอบแดงในการออกหาปลา และมีเครื่องมือหาปลาอีกหลากหลายชนิด ทั้ง ไทร ข่าย แห เบ็ดราว สำหรับที่ดักปลากดนั้น เป็นอุปกรณ์หาปลาอีกชนิดหนึ่ง เตรียมไว้สำหรับช่วงที่น้ำท่วมเริ่มลดลง ระดับน้ำในทุ่งจะค่อย ๆ ลด และจะนำไปดักในคลอง ในช่วงนี้ ได้เตรียมประกอบอุปกรณ์หลัก ๆ ที่ประกอบด้วย กระป๋องทรงสี่เหลี่ยม คานไม้สำหรับปิดหน้ากระป๋อง ยางหนังสะติ๊ก และเชือก

วิธีการทำงานคือ จะนำเหยื่อล่อ ได้แก่ หอยเชอรี่ ไปเกี่ยวไว้ในกระป๋อง และง้างค้านไม้ไว้ จากนั้น นำกระป๋อง ที่ผูกเชือกยาว ๆ ไว้ไปหย่อนลงไปในคลอง เมื่อปลากด เข้ามาในกระป๋องและงับเหยื่อ สลักที่ผูกไว้กับยางหนังสะติ๊กก็จะหยุด คานไม้ก็จะปิดปากกระป๋อง ปลากดก็จะออกไม่ได้ ส่วนใหญ่แล้ว จะได้ปลากดเข้ามาติดกับดัก โดยที่ดักปลากดนี้ จะเริ่มดักช่วงน้ำท่วมเริ่มลดลง ในช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป

……………………………………………………………………………………………………………………..

แสดงความคิดเห็น