พบซากฟอสซิลและฟันไดโนเสาร์ที่บ้านเขาชี ต.บ้านกลาง อ.วังทอง จ.พิษณุโลก

วันที่ 17 สิงหาคม 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณเนินเขาเตี้ย ๆ ริมศาลตาปะขาวหาย ศาลาสหกรรมของชาวบ้านเขาชี ม.15 ต.บ้านกลาง อ.วังทอง จ.พิษณุโลก  พระวิรัตน์ จันทสโร ประธานสงฆ์วัดเขาชี ม.15 ต.บ้านกลาง อ.วังทอง จ.พิษณุโลก พร้อมด้วยนายลำพูล  สีหวงษ์ นายกอบต.บ้านกลาง และ ชาวบ้านเข้าชีประมาณ 30 คน ได้เข้าสำรวจพืันที่ ที่ คณะนิสิต ป.โท สาขาธรณีวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้มาทำการวิจัยชั้นดิน ที่บริเวณดังกล่าว

และได้เกิดพบซากฟอสซิลสัตว์ดึกดำบรรพ์โดยบังเอิญ ซึ่งคาดว่าเป็นจะซากฟอสซิลสัตว์ทะเล และมีฟัน ลักษณะคล้ายฟันของ ไดโนเสาร์พันธุ์กินเนื้อที่หายาก  หลายชิ้น อาทิ ฟัน และชิ้นส่วนกระดูก  ซึ่งขณะนี้ได้คณะนิสิต ได้นำซากฟอสซิลดังกล่าวนำกลับไปตรวจสอบที่ มหาลัยนเรศวร เพื่อตรวจสอบและยืนยันความชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง

พระวิรัตน์ จันทสโร ประธานสงฆ์วัดเขาชี  เปิดเผยว่า บริเวณดังกล่าว เป็นที่ตั้งของศาลาสหธรรม และศาลชีปะขาว อยู่ห่างจากวัดเขาชีประมาณ 1 กิโลเมตร ทางวัด ได้มาสร้างศาลาสหกรรม เพื่อให้เป็นที่ประชุม ทำกิจกรรมร่วมกันของชาวบ้านเขาชี และสร้างศาลชีปะขาว เมื่อ 1 ปีก่อน ด้านข้างเป็นเนินเขาเตี้ย ๆ ลักษณะเป็นดินดาน เศษดินได้หลุดล่วงลงมายังพื้นด้านล่าง ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีนิสิตม.นเรศวร เข้ามาสำรวจชั้นดินในพื้นที่บ้านเขาชี และ ได้มาพบกับซากฟอสซิลและชิ้นส่วนฟันของไดโนเสาร์ ยังไม่แน่ชัดว่าเป็นพันธุ์อะไรแน่ โดยพบบริเวณพื้นดิน ที่เศษดินร่วงลงมาจากเนินเขา สร้างความตื่นเต้นให้กับชาวบ้านอย่างมาก ซึ่งต้องรอผลการพิสูจน์อีกครั้งจากทีมงานที่มาพบ ซึ่งก่อนหน้านี้ ก็เคยพบลักษณะเหมือนซากสัตว์ทะเลโบราณเหมือนกันบริเวณวัดเขาชี ช่วงก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ได้ขุดลงไปเพื่อวางเสา ลักษณะคล้ายหอย สาหร่าย แต่เมื่อนำมาจะเก็บรักษาไว้ ก็จะเปื่อยยุ่ยไป เพราะโดนอากาศ

นายปรัญชัย  เชิงหอม เจ้าพนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอบต.บ้านกลาง อ.วังทอง เปิดเผยว่า มีนักศึกษาปริญญาโทม.นเรศวร มาสำรวจชั้นดินบริเวณบ้านเขาชี และขากลับ ได้แวะกลับมาไหว้ศาลชีปะขาวบริเวณนี้ ได้ไปเดินสำรวจบริเวณเชิงเขาที่มาดินไสลด์ลงมา ได้พบเศษซากฟอสซิลและฟันไดโดเสาร์ เมื่อวานนี้ 16 สค. 60 มีอาจารย์จากม.นเรศวรเข้ามาในพื้นที่ ชื่อดร.กิจการ ได้บอกกับตนว่า สัปดาห์หน้าจะมีทีมงานจากจ.ลำปาง เข้ามาสำรวจและตรวจสอบดูอีกครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นประมาณเดือนตุลาคม จะมีชุดที่เกี่ยวข้องเข้ามาสำรวจอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง การค้นพบครั้งนี้ คณะนิสิตได้ลงพื้นที่บ้านกลางได้ประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อมาทำการวิจัยชั้นดิน ชั้นหินบริเวณนี้ และระหว่างขากลับกำลังจบภารกิจได้มากราบลาพ่อชีปะขาว และได้มาเห็นตรงนี้ จึงเก็บชิ้นส่วนไปให้อาจารย์ที่ม.นเรศวรดู

โดยชาวบ้านได้เก็บภาพถ่ายฟอสซิลและฟันไดโนเสาร์ ที่อาจารย์จากม.นเรศวรมอบไว้ให้ชม มีจำนวนหลายชิ้น ประมาณ 2-10 เซนติเมตร นายปรัญชัย เปิดเผยต่อว่า อาจารย์จากม.นเรศวร ได้อธิบายให้ตนฟังว่า มีชิ้นส่วนที่เป็นฟัน ความยาวประมาณ 2-4  เซนติเมตร 2 ชิ้น และมีลักษณะชิ้นส่วนที่น่าจะเป็นโครงกระดูก ความยาวประมาณ 9-10 เซนติเมตร 2 ชิ้น และมีฟอสซิลสัตว์โบราณประเภทหอย

นายลำพูล  สีหวงษ์ นายกอบต.บ้านกลางเปิดเผยว่า จะกันพื้นที่ไว้ เพื่อไม่ให้ผู้คนเข้าไป ให้ผู้นำท้องที่ อปพร. เข้ามาดูแล เพื่อรอผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบในภายหลัง ซึ่งบริเวณดังกล่าวด้านหลัง เป็นเขตของป่าสงวนฯอยู่แล้ว ที่ผ่านมา ก็ยังไม่เคยมีการค้นพบซากฟอสซิลมาก่อน ก็ต้องรอการสำรวจต่อไปว่าจะมีมากน้อยแค่ไหน

อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อมูลจากนิสิตปริญญาโท และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยนเรศวรนั้น ผู้สื่อข่าวได้ประสานไปยังประชาสัมพันธ์ม.นเรศวร เพื่อขอติดต่อสัมภาษณ์ถึงการค้นพบซากฟอสซิลโบราณ และ ซากฟันลักษณะคล้ายฟันไดโนเสาร์ ได้รับคำตอบว่ายังคงต้องรอการพิสูจน์จากผู้เชี่ยวชาญก่อน ยังไม่พร้อมให้ข้อมูลในเวลานี้ โดยวันเสาร์นี้ อาจารย์จากมน.จะเข้าไปสำรวจพร้อมกับนักธรณีวิทยาในบริเวณจุดที่พบอีกครั้ง

อนึ่ง มีข้อมูลรายงานการค้นพบชิ้น่สวนฟอสซิลไดโนเสาร์ว่า  ในวันที่ 12 สิงหาคม 2560 นายเตชธร ชนะเพีย นักศึกษาระดับปริญญาโท ชั้นปีที่ 1 สาขาวิชาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก ได้เดินสำรวจพื้นที่ศึกษาเพื่อกำหนดขอบเขตขนาดพื้นที่ที่จะทำการวิจัยเรื่อง “การท่องเที่ยวเชิงธรณี : ซากไดโนเสาร์ในหมวดหินเสาขัว จังหวัดพิษณุโลก” ได้บังเอิญพบเศษกระดูกซี่โครงของไดโนเสาร์ จำนวน 2 ชิ้น แต่ไม่แน่ใจว่าใช่หรือไม่ จึงนำชิ้นตัวอย่างนั้นมาสอบถามอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ศาสตราจารย์ ดร.กิจการ พรหมมา

 

เมื่อศาสตราจารย์ ดร.กิจการ พรหมมา ตรวจสอบแล้วจึงเชื่อว่าใช่กระดูกจริง และมีบางชิ้นส่วนเป็นฟันรูปร่างทรงกรวย ขนาดประมาณ 3 ซม. ดูคล้ายฟันของไดโนเสาร์กินเนื้อ สายพันธุ์ Spinosaurus ที่มีลักษณะคล้ายจระเข้ผสมกับ T. rex มีกระโดงที่หลัง ตาม พรบ.คุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ. 2551 มาตรา 25 ให้ผู้ค้นพบซากดึกดำบรรพ์ มีหน้าที่แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ภายในเวลา 7 วัน นับแต่ค้นพบ ศาสตราจารย์ ดร.กิจการ พรหมมา และนายเตชธร ชนะเพีย จึงเดินทางไปแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น อบต.บ้านกลาง อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ในวันพุธที่ 16 สิงหาคม 2560 ในเบื้องต้นทาง อบต. บ้านกลาง ได้ทำการประสานงานกับกรมทรัพยากรธรณี (สำนักทรัพยากรธรณี เขต 1 จังหวัดลำปาง) เพื่อเข้ามาตรวจสอบพื้นที่และซากไดโนเสาร์ที่พบ อีกทั้งยังได้ประสานงานกับผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 15 ให้ล้อมรั้วบริเวณหินดินดานที่พบเศษกระดูกไดโนเสาร์ไว้ก่อน เพื่อมิให้ประชาชนบุกรุกเข้าไปในระหว่างที่รอการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญของกรมทรัพยากรธรณีต่อไป

สำหรับบริเวณที่พบ เป็นเนินดินที่ผุพังสลายตัวมาจากหินดินดาน ตรงศาลชีปะขาว วัดเขาชี หมู่ที่ 15 ตำบลบ้านกลาง อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก พบเศษกระดูกกระจัดกระจายปะปนกับเศษหิน กระดูกมีลักษณะสีขาวอมเทา ผิวแตกลายงา แกนในกระดูกมีการแทนที่ของแร่ควอตซ์สีขาวขุ่น ซึ่งมีสีแตกต่างจากหินสีแดงในบริเวณดังกล่าว เชื่อกันว่าบริเวณนี้เคยเป็นหนองน้ำที่มีดินเหนียวดินเลนน้ำจืดมาก่อน หมวดหินเสาขัวดังกล่าวนี้จัดอยู่ในยุคครีเทเชียสตอนต้น อายุประมาณ 100-145 ล้านปี ชื่อหมวดหินเสาขัวมาจากชั้นหินแบบฉบับที่ห้วยเสาขัว ถนนอุดรธานี-หนองบัวลำภู มักพบเป็นหินทรายและหินดินดานสีน้ำตาลแกมแดง มีความหนา 200-760 เมตร เป็นหมวดหินในกลุ่มหินโคราชที่พบกระดูกสันหลังดึกดำบรรพ์ชนิดต่าง ๆ มากที่สุด สำหรับกระดูกไดโนเสาร์ที่พบนี้ถือว่าเป็นการค้นพบครั้งแรกของจังหวัดพิษณุโลกและภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งก่อนหน้าที่พบรอยตีนไดโนเสาร์ที่อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์

 

แสดงความคิดเห็น